‘เอลนีโญ’เคลื่อนจ่ออ่าวไทย คาดอยู่ยาวถึงพ.ค.ปีหน้า

by IGreen Editor

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลล่าสุดของ NOAA แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ และมวลน้ำเคลื่อนเข้าจ่อปากอ่าวไทยแล้ว

กราฟอุณหภูมิน้ำทะเลของ NOAA ชี้ให้เห็นว่าเอลนีโญเริ่มก่อนตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น โดยจะจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น แต่เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ

ผศ.ดร.ธรณ์ ได้สรุปผลกระทบที่เกิดจาก เอลนีโญ ไว้ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้

  1. ผลกระทบต่อปะการัง แม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็น แต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆ ไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น
  2. เกิดแพลงตอนบลูม หรือแพลงตอนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำในบริเวณนั้นต้องอพยพ หรือต้องตายเพราะออกซิเจนลดลง
  3. เสี่ยงจ่อการเกิดพายุ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องพิจารณาคู่ไปกับดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย

การรับมือที่ทำได้คือการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที และ ‘การปรับตัว’ ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่กำลังเผชิญศึกหนักอย่างเอลนีโญ

ผศ.ดร.ธรณ์ ยังแนะนำให้หาหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า เราจะต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

“ปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เราต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าครับ อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ+โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว

เอลนีโญก็อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ปกติและรุนแรงมากกว่าแค่การอุ่นขึ้นของผิวน้ำบริเวณชายฝั่ง

ในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เกิดขึ้นทุกๆ 3-7 ส่งผลต่อ ความเร็วและแรงของกระแสน้ำ ระบบนิเวศในมหาสมุทร การประมง และสภาพอากาศในท้องถิ่น

ที่มา

Copyright @2021 – All Right Reserved.