EV เริ่มแผ่ว ยอดรถไฮบริดแซงหน้า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่ม 1.5%

ไทยมียอดขายรถ EV โตเป็นอันดับ 3 ของโลก ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ในปี 2023 อยู่ที่ 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9%

กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แรงต่อเนื่องมาหลายปี โดยประเทศไทยมียอดขายรถ EV โตเป็นอันดับ 3 ของโลก ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ในปี 2023 อยู่ที่ 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับ 9,617 คัน ในปี 2022 ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์สันดาปอยู่ที่ 481,609 คัน ลดลง 11.3% จาก 543,072 คัน ในปี 2022

ตัวเลขนี้ทำให้ไทยเป็นเจ้าตลาด EV อันดับ 1 ของอาเซียน สำหรับประเทศที่มีสัดส่วนรถ EV สูงที่สุดในโลก คือ นอร์เวย์ (BEV72% +PHEV 7% ) ตามด้วยฮ่องกงและประเทศกลุ่มสแกน ในขณะที่จีนมีสัดส่วน EV 33.9%, ยุโรป 21.4%, และอเมริกาเพียง 9.4%

จากปี 2014 ที่ยอดขายรถ EV อยู่ที่ 3.2 แสนคัน หรือ 0.4% ของยอดขายรถทั่วโลก ผ่านไปเพียง 9 ปี ปรากฎว่าในปี 2023 ยอดขายกลับโตเป็น 14.182 ล้านคัน หรือ 15.8% ของยอดขายทั้งโลก จากสถิติดังกล่าวนี้ทำให้แนวโน้มรถ EV น่าจะยิ่งมียอดขายทะยานสูงขึ้นต่อไปอีก

ทว่าล่าสุดยอดขายรถยนต์ไฮบริด (PHEV) กลับมาแรงแบบคู่ขนานกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) โดยในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฮบริดเพิ่มเป็น 4.2 ล้านคัน คิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด (ปี 2022 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 27%) ขณะที่ยอด BEV กลับลดลงโดยสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป หรือ ACEA เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค. 2024 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ของรถ BEV ในสหภาพยุโรป (อียู) มี 12.5% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด ลดลงจากสัดส่วน 13.8% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ต่างกับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่เพิ่มจาก 25% เป็น 30%

สาเหตุที่ยอดขายรถ BEV ไม่แรงเหมือนกระแสในช่วงแรก เนื่องจากราคารถไฟฟ้ายังแพงกว่ารถสันดาปภายใน สถานีชาร์จหายาก
โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว การหาปั๊มเติมน้ำมันทำได้ง่ายกว่า ราคารถมือสอง EV ตกเร็วมากกว่ารถน้ำมัน ราคาแบตเตอรี่ยังเป็นความกังวล ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่ตอบโจทย์การขับขี่ (ของคนทั่วโลก)

ตอกย้ำถึงความต้องการรถ EV ที่ลดลง ณ สิ้นปี 2023 ในอียูมีสถานีชาร์จทั้งหมด 6.32 แสนจุด รองรับรถ BEV ราว 3 ล้านคัน ซึ่งอียูมีเป้าหมายขยายสถานีชาร์จเป็น 3.5 ล้านจุด ภายในปี 2030 หรือจะเพิ่มอีก 4.1 แสนแห่ง/ปี จากปัจจุบันยอดจดทะเบียนรถ BEV ในอียูเดือน พ.ค. 2024 อยู่ที่ 1.14 แสนคัน ในจำนวนนี้เยอรมนีเป็นประเทศที่มียอดลดลงถึง 30.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ซื้อรถ EV น้อยที่สุด)

ทั้งนี้ เมื่อเดือน เม.ย. 2023 สหภาพยุโรปได้ผ่านกฎหมายขั้นสุดท้ายเพื่อยุติการจำหน่ายยานพาหนะที่ก่อมลพิษหรือรถยนต์ใหม่ที่จะวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2035 จะต้องปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยในปี 2030 ระดับการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์ต้องต่ำกว่า 55% เมื่อเทียบกับปี 2021

ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ โลกยิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะการลดการใช้พลังงานฟอสซิลไม่เป็นไปตามเป้าหรือที่ตกลงกันในที่ประชุม ข้อมูลล่าสุด ความต้องการพลังงานทั่วโลกในปี 2023 เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2022 โดยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น 1.5% การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.5%

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้น 67% ในปี 2023 ปริมาณการใช้น้ำมันทะลุ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นครั้งแรก การใช้ถ่านหินทั่วโลกแตะระดับสูงสุด หรือเพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2022

ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับสูงกว่า 40 กิกะตัน ซึ่งมาจากสาเหตุการใช้น้ำมันและถ่านหินที่มากขึ้น
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2000 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานเพิ่มขึ้น 50%

คำถามคือ รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร จะต้องเพิ่มยอดขายอีกเท่าใด จากที่ปี 2023 จำนวนรถ EV ทุกประเภททั่วโลกจะทะลุ 40 ล้านคันไปแล้ว แต่ตัวเลขนี้คิดเป็นเพียง 2.7% ของจำนวนรถทั้งโลกที่มีราว 1,500 ล้านคัน และหากนับเฉพาะประเภท BEV สัดส่วนก็จะเหลือเพียง 1.9% เท่านั้น

ฉะนั้นหากจะบรรลุเป้าหมาย และก้าวสู่ Carbon Neutrality ในปี 2045 โลกจะต้องเพิ่มยอดสะสมรถ EV จากปัจจุบัน 40 ล้านคัน เป็น 1,100 ล้านคัน ในอีก 22 ปีข้างหน้า หรือเฉลี่ย 48 ล้านคันต่อปี

อ้างอิง:
• https://thestandard.co/thai-ev-market-asean-hub-level/
• https://www.acea.auto/pc-registrations/new-car-registrations-3-in-may-2024-battery-electric-12-5-market-share/
• บทความ War of Vehicle part II – Who will be EV gorilla? โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ จำกัด (มหาชน), Business Tomorrow
• https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/102983

Related posts

เมืองทั่วโลกเร่งปรับตัว รับมือคลื่นความร้อนดันอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

สรุป 10 ปัจจัยน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

โลกป่วนภูมิอากาศเปลี่ยน คุมอุณหภูมิไม่อยู่ Flexitarian ช่วยกอบกู้โลก