10 เหตุผลน้ำมันรั่วเรื่องไม่เล็ก ผลกระทบใหญ่หลวงมหาศาล

เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ระยองควรมีคุณค่า (ข่าว) มากกว่าดราม่า “ทิดไพรวัลย์กับน้าเน็ก” แม้มันจะเป็น Talk of the Town ในวงการบันเทิงก็ตาม ด้วยเหตุผล 10 ประการ คือ

1) เหตุการณ์น้ำมันรั่วรอบนี้มีปริมาณมากกว่าเมื่อ 27 ก.ค. 2556 ที่น้ำมันของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย ปริมาณ 50,000 ลิตร ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตร.กม. ส่งผลกระทบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม-หมู่เกาะเสม็ด โดยเฉพาะอ่าวพร้าวจนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง แต่คราวนี้ปริมาณมากกว่า 3-5 เท่า (รอผลสรุปตัวเลขจริง)

2) เป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำมันที่รั่วกลางทะเลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต่อสัตว์ทะเลไม่ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา เต่าทะเล โลมา ฯลฯ ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ตลอดจนหญ้าทะเล ปะการัง และระบบนิเวศทางทะเลโดยรวมในระยะยาว เนื่องจากมีสารปนเปื้อนไม่ว่าสารปรอท แคดเมียม และสารพิษอื่น ๆ อีกมาก รวมถึงสารเคมีตกค้างจากการนำมากำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งล้วนมีผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในของสัตว์น้ำจากการกินคราบน้ำมันเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ หรือจากอาหารที่ปนเปื้อน

เจ้าหน้าที่กำลังเก็บกู้คราบน้ำมันชายหาดระยอง เมื่อปี 2556

3) จากข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเมินสถานการณ์น้ำมันรั่วที่มาบตาพุด เมื่อ 29 ม.ค. 2565 มีมวลน้ำมันในทะเลขนาด 1,713,388 ตรม. และในกรณีน้ำมันเคลื่อนตัวตรงเข้าบริเวณเกาะเสม็ด และหัวเขาแหลมหญ้าจะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณหมู่เกาะเสม็ด และปะการัง จำนวน 1,708.77 ไร่ หญ้าทะเลรวม 1,885.38 ไร่

4) สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เคยให้ข้อมูลว่า คราบน้ำมันที่ลอยบนผิวน้ำจะทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง และปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำต่าง ๆ รวมถึงเปลี่ยนแปลงสภาวะการย่อยสลายของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้น (ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง ฯลฯ) รวมถึงนกน้ำอาจติดคราบน้ำมันจนเป็นอุสรรคต่อการเคลื่อนที่ และเสี่ยงกินสารพิษในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งในที่สุดก็มาถึงมนุษย์ (ตัวอย่างแท่นขุดเจาะน้ำมันดีพวอเทอร์ ฮอไรซอนของบริษัท บีพี ระเบิดกลางอ่าวเม็กซิโก เมื่อปี 2553 หนึ่งในเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งประวัติศาสตร์โลก มีสัตว์ทะเล อาทิ เต่าและนกหายากตายอย่างน้อย 8,000 ตัว)

5) คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว การทำประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เพราะชายหาดที่มีคราบน้ำมันปนเปื้อนทำลายทัศนียภาพ ส่งกลิ่นเหม็น กระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศ แม้ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิศาสตร์ในช่วงเวลาการเกิดเหตุที่อาจแตกต่างกัน เช่น กระแสน้ำ กระแสลม และการขึ้นลงของน้ำทะเลก็ตาม 

สภาพป่าชายเลนหลังน้ำมันรั่วทะเลระยองในปี 2556

6) ข้อบ่งชี้จากข้อมูลดาวเทียม GISTDA เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 ระบุชัดว่าคราบน้ำมันรั่วรอบนี้ลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าวันแรกที่เกิดเหตุ คิดเป็นพื้นที่ 47 ตร.กม. (29,506 ไร่) หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด ลองจินตนาการกันดูเองว่ามันกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนและผลกระทบจะตามมามโหฬารเพียงใด

7) การฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยหลังจากนี้ ต้องทำใจเพราะใช้เวลายาวนาน กรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง เมื่อ 27 ก.ค. 2556 ซึ่งมีผู้ยื่นฟ้องรวม 454 คน ศาลแพ่งพิพากษาคดีอุทธรณ์หลังผ่านไป 7 ปี คือ 1 ก.ย. 2563 โดยให้เพิ่มค่าเสียหายจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่ชาวประมง 150,000 บาท จากเดิม 90,000 บาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 120,000 บาท จากเดิม 60,000 บาท ส่วนการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น ศาลตัดสินว่าไม่มีกฎหมายรองรับ

8) ที่ควรทราบและไม่ควรมองข้ามอีกประเด็นก็คือในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เกิดอุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลมากกว่า 235 ครั้ง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กิจการของบริษัท สตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เป็นเหตุให้น้ำมันรั่วในทะเล โดยปี 2540 ก็รั่วระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือสู่สถานีน้ำมันดิบของบริษัทกว่า 160,000 ลิตร 

เจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันเก็บกู้คราบน้ำมันที่บริเวณชายหาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อ 25 ม.ค. 2565 เครดิตภาพ Chanklang kanthong_Greenpeace

9) คำถามคาใจและต้องการคำตอบก็คือ เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วเมื่อคืน 25 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัท SPRC ได้แจ้งทางกรมควบคุมมลพิษว่ามีปริมาณ 400,000 ลิตร ต่อมาทาง คพ.ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าทางบริษัทได้ขอแก้ไขตัวเลขเป็น 160,000 ลิตร และเหลือคราบน้ำมันบนผิวน้ำทะเลแค่ 20,000 ลิตร รวมทั้งบริษัทได้แถลงว่าเหลือน้ำมันในทะเลแค่ 20-50 ตัน ตัวเลขเหล่านี้มีความคลาดเคลื่อนสูงซึ่งจะต้องมีคำตอบ

10) ในขั้นตอนสุดท้ายคือการฟื้นฟูสภาพทะเลหลังจากนี้ เราจะมั่นใจในขั้นตอน วิธีการ ความต่อเนื่องและประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงานเกี่ยวข้องได้มากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่องค์กรต้นเหตุ หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงภาคประชาชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะดำเนินการในแต่ละขั้นตอนอย่างเหมาะสมและเต็มความสามารถอย่างไร แต่ในความเป็นจริงก็จะยังคงมีอนุภาคน้ำมันที่สะสมหรือแขวนลอยอยู่ในสภาพแวดล้อมไปอีกนาน 

เรื่องน้ำมันรั่วที่ระยองในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ด้วยประการทั้งปวง ไม่ใช่มีผลกระทบแค่ระดับจังหวัด หรือกับแค่คนไม่กี่กลุ่ม แต่เป็นระปัญหาระดับชาติ และหากจะกล่าวเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area – MPA) ด้วยแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับโลกเลยก็ว่าได้

หมายเหตุ – ภาพประกอบปกเป็นเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่กำลังเก็บกู้คราบน้ำมันรั่ว เมื่อปี 2556 

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย