รู้หรือไม่ว่าโลกของเราผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หรือ Mass extinction มาถึง 5 ครั้งแล้ว ซึ่ง “การสูญพันธ์ครั้งใหญ่” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกหลากชนิดหลายสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไปในเวลาพร้อม ๆ กันหรือไล่เลี่ยกัน และ ณ เวลานี้ก็มาถึง “การสูญพันธ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6” หรือ Earth’s sixth mass extinction แล้ว
สาเหตุมีตั้งแต่อุกกาบาตขนาดใหญ่ หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลก (การสูญพันธ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 และ 5) ไปจนถึงภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่ (การสูญพันธ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 4)
“การสูญพันธ์ครั้งใหญ่” ครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 5 คือ “เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน” เกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาดความกว้างหลายไมล์พุ่งเข้าชนโลก ทำให้เกิดหุบอุกกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub Crater) ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatan Peninsula) และใต้อ่าวเม็กซิโก ทำให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำสูญพันธุ์ไป 16% สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนบกสูญพันธุ์ไป 18% รวมไปถึงไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ทั้งหมด
ตอนนี้มีการพูดถึง “การสูญพันธ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6” (Earth’s sixth mass extinction) กันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอัตราความเร็วที่มนุษยชาติกำลังทำลายตัวเองจากภาวะโลกร้อน และการบริโภคอย่างไม่มีจำกัด จากผลการศึกษาใหม่ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ชี้ว่าสิ่งมีชีวิตหลายชนิดของโลกได้สูญพันธุ์ไปในช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมาและเร็วยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและน้ำมือของมนุษย์
รายงานเตือนว่า อาจจะมีสัตว์บกมากกว่า 500 ชนิดจะสูญพันธุ์ในอีก 20 ปีข้างหน้าจากจำนวนศึกษาสัตว์บกที่ทำการศึกษา 29,000 ชนิดในการศึกษานี้ การสูญพันธุ์เหล่านี้ควรใช้เวลาหลายพันปีแต่เนื่องจากการน้ำมือของมนุษย์มันจะใช้เวลาเพียงสองทศวรรษเท่านั้น น้ำมือของมุนษย์มีทั้งการล่าและการรุกล้ำถิ่นที่อยู่หรือการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนถิ่นที่อยู่ของสัตว์หมดสภาพ
การศึกษานี้ระบุว่า “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ อาจเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดต่อการคงอยู่ของอารยธรรมเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ประชากรหลายพันสายพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งได้สูญเสียไปในศตวรรษนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 นั้นเกิดจากมนุษย์และกำลังเร่งความเร็วขึ้น”
มันเร็วมากจนน่าตกใจ รายงานระบุว่า ทุกวันนี้อัตราการสูญพันธุ์ของสปีชีส์นั้นเร็วกว่าอัตรา “ปกติ” หรือ “อัตราอ้างอิง” หลายร้อยหรือหลายพันเท่าในช่วงสิบล้านปีที่ผ่านมา จากรายงานล่าสุดของสหประชาชาติเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการของระบบนิเวศประมาณการว่า หนึ่งในสี่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์จำนวนมากภายในไม่กี่ทศวรรษ
การศึกษากล่าวเสริมว่า “วิกฤตการสูญพันธุ์จะเร่งขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากจำนวนมนุษย์และอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สปีชีส์ยังเชื่อมโยงอยู่ในระบบนิเวศ และเมื่อระบบนิเวศล่มสลาย สปีชีส์ที่เกี่ยวข้องด้วยก็มีแนวโน้มที่จะล่มไปด้วยเช่นกัน ในภูมิภาคที่มีชนิดพันธุ์ที่หายไปกระจุกตัวอยู่ อาจเกิดการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาค”
พวกเขาสรุปสั้น ๆ ว่า “ทุกครั้งที่ชนิดพันธุ์หรือจำนวนประชากร (สิ่งมีชีวิต) หายไป ความสามารถของโลกในการรักษาบริการของระบบนิเวศจะลดลงในอัตราส่วนหนึ่ง” หมายความว่า ทุก ๆ ครั้งที่สปีชีส์หนึ่งสูญสิ้นไป ศักยภาพของโลกที่จะดำรงอยู่ก็จะหายไปอัตราส่วนหนึ่ง ยิ่งสูญพันธุ์มากโลกก็จะยิ่งหมดศัยภาพในการดำรงอยู่ไปเรื่อย ๆ
ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องจะมานิ่งนอนใจได้ เมื่อเรารู้ข่าวว่ามีสัตว์หนิดหนึ่งหมดสิ้นไป มันหมายความว่าโอกาสของมนุษย์ก็ลดลงตามไปด้วย
พวกเขาเตือนว่า “ผลลัพธ์ของเราเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนสุดขีดของการดำเนินการทั่วโลกครั้งใหญ่เพื่อช่วยกอบกู้ระบบพยุงชีวิตที่สำคัญของมนุษยชาติ” คำเตือนนี้บอกสั้นๆ ง่าย ๆ ว่า ระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ช่วยพยุงมนุษยชาติเอาไว้ แต่มนุษยชาติกลับทำลายพวกมัน โดยไม่รู้ตัวว่าการทำลายพวกมันก็คือการทำลายตัวเองของมนุษยชาติด้วย และนี่คือการ “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6”
“การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6” เป็นการสูญพันธุ์ใหญ่เป็นครั้งแรกที่มนุษย์เข้ามาเกี่ยว ก่อนหน้านั้นยังไม่มีมุนษย์สายพันธุ์ใด ๆ และการการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 อาจเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง ไม่ใช่จากอุกกาบาตหรือภูเขาไฟหรือการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของสภาพอากาศ
ข้อมูลจาก
• Deron Dalton. (Jan. 20, 2022). “Earth’s sixth mass extinction is already underway, scientists suggest”. Penn Live.
• “Vertebrates on the brink as indicators of biological annihilation and the sixth mass extinction” Gerardo Ceballos, Paul R. Ehrlich, Peter H. Raven Proceedings of the National Academy of Sciences Jun 2020, 117 (24) 13596-13602; DOI: 10.1073/pnas.1922686117
ภาพปก – Chief Yeoman Alphonso Braggs, US-Navy / wikipedia