มข. เจ๋ง แจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว ผ่าน Google Chat ใน 30 นาที

by Pom Pom

 

มหาวิทยาลัยขอนแก่น สุดเจ๋ง พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว KKU Emergency Alert ผ่าน Google Chat พิกัดไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร ใน 30 นาที

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนบางส่วนรับรู้ได้ถึงประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะภายในอาคารสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก

 

เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ริเริ่มพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ KKU IntelSphere ในการออกแบบระบบที่ชื่อว่า “KKU Emergency Alert” ซึ่งสามารถแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวที่มีพิกัดห่างจากมหาวิทยาลัยไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร ผ่านแพลตฟอร์ม Google Chat โดยใช้เวลาในการพัฒนาระบบเพียง 30 นาทีเท่านั้น เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับนักศึกษาและบุคลากรกว่า 50,000 คนของมหาวิทยาลัย

 

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ อธิบายว่า ระบบ KKU Emergency Alert ถูกพัฒนาขึ้นโดยการนำเทคโนโลยี KKU IntelSphere มาประยุกต์ใช้ ร่วมกับการดึงข้อมูลจาก U.S. Geological Survey (USGS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา และข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและเปรียบเทียบข้อมูลอย่างแม่นยำ ระบบนี้ถูกตั้งโปรแกรมให้ประมวลผลและตรวจสอบข้อมูลทุกๆ 1 นาที หากพบเหตุแผ่นดินไหวที่เข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ระบบจะส่งการแจ้งเตือนผ่าน Google Chat ทันที

มข.เจ๋งพัฒนาระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหว KKU Emergency Alert ผ่าน Google Chat

 

KKU Alert: รู้ทันแผ่นดินไหว 5 ระดับ

 

โดยแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 ไม่มีผลกระทบใดๆ, ระดับ 2 รู้สึกได้เพียงเล็กน้อย, ระดับ 3 เริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนและควรหลบภัย, ระดับ 4 และระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับรุนแรง โดยในข้อความแจ้งเตือนจะมีการแนบคำแนะนำเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้รับทราบวิธีรับมืออย่างเหมาะสม และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป เช่น หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 แมกนิจูดที่ประเทศเมียนมา เมื่อคำนวณถึงขอนแก่นแล้วอาจอยู่ในระดับที่ไม่ต้องกังวลมาก แต่สามารถแจ้งเตือนเพื่อให้ทราบและส่งต่อข้อมูลให้ญาติพี่น้องในพื้นที่อื่นได้

 

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมทีมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแผนบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้, การกราดยิง, อินเทอร์เน็ตล่ม หรือพายุ แต่ยังไม่มีแผนรับมือแผ่นดินไหว เนื่องจากไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในภาคอีสานมาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ แม้จะไม่รุนแรงในพื้นที่ แต่กลับสร้างความตื่นตระหนกให้กับบุคลากรและนักศึกษาอย่างมาก การพัฒนาระบบแจ้งเตือนนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันท่วงที และรู้สึกสบายใจมากขึ้น

มข.พัฒนาระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหว KKU Emergency Alert ผ่าน Google Chat

แจ้งเตือนภัยผ่าน Google Chat

 

เหตุผลที่เลือกใช้ Google Chat เป็นช่องทางการแจ้งเตือน เนื่องจากมหาวิทยาลัยใช้ระบบ Google Workspace อยู่แล้วทั่วทั้งองค์กร โดยมีผู้ใช้งานทั้งบุคลากรประมาณ 10,000 คน และนักศึกษาประมาณ 40,000 คน ซึ่งทุกคนมีบัญชีผู้ใช้ส่วนตัว ทำให้สามารถเข้าถึงระบบได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่วนการใช้แพลตฟอร์มอื่น เช่น LINE ถูกมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจาก LINE เป็นช่องทางการสื่อสารทั่วไป ซึ่งอาจทำให้การแจ้งเตือนปะปนกับข้อความอื่น ๆ และเกิดความสับสนได้ จึงเลือกใช้ Google Chat หรือ Telegram เพื่อแยกการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินออกจากชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน

 

สำหรับการตั้งค่าระบบ KKU Emergency Alert นั้น ได้กำหนดรัศมีการแจ้งเตือนไว้ที่ 2,000 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเบื้องต้นตั้งระดับความรุนแรงขั้นต่ำที่ 4.5 แมกนิจูด ซึ่งอาจปรับเพิ่มเป็น 6.5 แมกนิจูดในอนาคต ระบบจะทำการตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่องทุก 1 นาที เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนได้ทันท่วงที และช่วยให้บุคลากรและนักศึกษารับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายหลักของระบบนี้คือการสร้างความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมให้กับทุกคนในมหาวิทยาลัยสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

นางรัชฎาวรรณ วัฒนสุข บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าถึงประสบการณ์ว่า ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว เธอรู้สึกตกใจและแปลกใจกับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น เมื่อทราบว่าเป็นแผ่นดินไหวก็ยิ่งตื่นตระหนก แต่หลังจากที่มีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนผ่าน Google Chat เธอรู้สึกดีใจมาก ที่สามารถรับทราบข้อมูลได้ทันที และเข้าใจถึงระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ ซึ่งช่วยให้รับมือได้อย่างเหมาะสม ระบบนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเป็นครั้งแรกในพื้นที่ เธอยังเสนอแนะว่า อยากให้มีการขยายระบบนี้ไปถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างปลอดภัย

 

สำหรับบุคลากรและนักศึกษาที่ต้องการเข้าร่วมระบบ KKU Emergency Alert สามารถทำได้โดยเข้าไปที่อีเมล KKU เลือกเมนู “Chat” แล้วคลิก “Browse Spaces” จากนั้นพิมพ์ค้นหาคำว่า “Emergency” เพื่อเข้าร่วมกลุ่ม หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Chat ผ่านลิงก์สำหรับบุคลากร (KKU Staff: https://kku.world/emergency) และนักศึกษา (KKU Student: https://kku.world/stdemergency) เพื่อติดตั้งลงในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้รับการแจ้งเตือนได้สะดวกยิ่งขึ้น ระบบนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับชุมชนภายในมหาวิทยาลัยอย่างครอบคลุม

 

 

 

Copyright @2021 – All Right Reserved.