นับถอยหลัง 72 ชั่วโมง แห่งความหวัง กับภารกิจปฏิบัติการค้นหาร่างผู้สูญหายอาคาร สตง.ถล่ม จากแผ่นดินไหวเขย่ากรุง ล่าสุด ยังไม่พบผู้สูญหายเพิ่ม ขณะที่เมียนมา ยอดตายพุ่งเกือบ 2,000 ราย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.7 ริกเตอร์ได้เขย่าประเทศเมียนมา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเมียนมาเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความตื่นตระหนกในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 1,000 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนที่รับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของไทย รวมถึงการพังทลายของตึกสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในย่านจตุจักร ได้สร้างความเสียหายและความสูญเสียอย่างไม่คาดคิด เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นถึงพลังของธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ และนำมาซึ่งคำถามถึงความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติของทั้งสองประเทศ
72 ชั่วโมงระทึก เกาะติดภารกิจกู้ชีวิตผู้สูญหายตึก สตง.ถล่ม
ตลอดทั้ง 2 วัน หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครนกระเช้าขึ้นไปสำรวจบนซากอาคาร ที่เต็มไปด้วยเศษปูนและเศษเหล็ก เพื่อที่จะค้นหาผู้ที่ยังสูญหาย รวมถึงกู้ร่างผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ โดยมีรถแบ๊กโฮจำนวน 3 คัน พยายามเกลี่ยหน้าดินลงมา ซึ่งขณะเจาะและเคลื่อนย้ายแผ่นปูนอยู่นั้น เจ้าหน้าที่พบศพคนงานจำนวน 4 ราย เจ้าหน้าที่ได้นำผ้าขาวมาปิดกั้นช่องรั้วด้านข้างไม่ให้มีการบันทึกภาพ โดยทยอยเคลื่อนออกจากพื้นที่ เพื่อนำส่งไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ
และในช่วงเวลา 21.40 น. ของวันที่ 30 มี.ค. 2568 การค้นหายังเดินหน้าต่อไป และความหวังเริ่มมาอีกครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่พบผู้ประสบภัยเพิ่ม 6 คน มีคนขยับตัว 1 คน อีก 5 คน ไม่มีการขยับตัว แต่สุดท้าย ก็ไม่มีหวัง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต และผู้เสียชีวิต และยังคงพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรทั้งหมดเข้าไปดำเนินการเต็มที่ได้ แต่ก็มีความหวังว่าจะยังคงมีผู้รอดชีวิตอยู่ ซึ่งขณะนี้ได้นำเครื่องมือเข้ามาเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก เช่น เครนขนาด 500 ตัน และ 600 ตัน เพื่อนำมาทยอยยกคานขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำหนักมากลงมาด้านล่าง เพื่อลดแรงกดทับจากด้านบน ลดความเสี่ยงในการถล่มเพิ่มเติม
ส่วนการตรวจสอบหาสัญญาณชีพขณะนี้ อยู่ระหว่างใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ แต่ต้องยอมรับว่าสัญญาณค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เป็นไปได้ว่า อาจมาจากการที่ผู้ติดค้างอยู่ในซากอาคาร เป็นเวลานานหลายวัน จึงอาจทำให้ไม่มีแรงในการขยับตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีการหาวิธีที่จะค้นหาผู้ติดค้างในทุกวิถีทาง
“ภารกิจในครั้งนี้ยอมรับว่า มีความยากลำบาก และสำคัญเทียบเท่าใกล้เคียงกับภารกิจถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน”
ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ยังได้ตอบคำถามถึงเรื่องการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ว่า มีการตั้งวิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานกรรมการ เพื่อตรวจสอบว่าการก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ได้มาตรฐานจะกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง พร้อมกับตั้งคำถามว่าอาคาร สตง. แค่ 30 ชั้น และไทยมีมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูง ในพื้นที่ กทม. ก็มีอาคารสูงมากมาย แต่มีเพียงอาคาร สตง. ที่พังถล่ม อย่าเพิ่งเอาตัวอย่างอาคารที่ถล่มนี้แล้วบอกว่าระบบการควบคุมงานก่อสร้างของเราไม่มีมาตรฐาน เพราะอาคารอื่นๆ ความเสียหายก็น้อยมาก
“ถ้าถามผมในฐานะวิศวกรคนหนึ่งคิดว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาด ไม่แบบก็การก่อสร้าง การออกแบบต้องถูกรับรองโดยวิศวกร ต้องมี License แต่เชื่อว่าการประมูลงานต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสแน่นอน เพราะเป็นอาคารของ สตง. เขาต้องมาอยู่ในอาคารนี้ จะได้คอร์รัปชันได้อย่างไร” อนุทิน กล่าว
รายงานสถานการณ์จากศูนย์เอราวัณ กรณี เหตุแผ่นดินไหว (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มี.ค. 68 เวลา 23.00 น.)
- บาดเจ็บ 33 ราย
- เสียชีวิต 18 ราย
- สูญหาย 78 ราย
หมายเหตุ : ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือ
ส่วนที่ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหว ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาสหรัฐฯ ชี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น พลังงานการสั่นสะเทือนมีความรุนแรงเทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ 334 ลูก และคาดว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อกไปอีกยาวนาน 2 – 3 เดือนต่อจากนี้ เนื่องจากพบว่าแผ่นเปลือกโลกอินเดียยังคงเคลื่อนตัวเสียดสีกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย และบริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งรองรับประเทศเมียนมา
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตในเมียนมาตอนนี้ทะลุ 1,700 ราย บาดเจ็บมากกว่า 3,500 คน สูญหายอีกนับร้อยชีวิต ซึ่งหลายพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในจังหวัดมัณฑะเลย์ ชาวบ้าน และกู้ภัยต้องใช้มือเปล่าในการขุดซากปรักหักพัง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่คาดว่ารอดชีวิต
ขณะที่การช่วยเหลือจากทั้ง UN และนานาชาติ ก็เผชิญอุปสรรค เพราะถนนหลายสายพังเสียหาย ส่วนถนนสายที่ใช้งานได้ก็มีซากปรักหักพังของอาคารต่าง ๆ หล่นลงมาปิดกั้นเส้นทาง ทำให้ตอนนี้นอกจากอาหาร และน้ำดื่มแล้ว ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก็ขาดแคลนแล้วด้วย