‘pancake collapse’ ข้อสันนิษฐาน ทำตึกถล่มจากแผ่นดินไหว

 

 

นักวิชาการตั้งขอสันนิษฐาน “แผ่นดินไหว” เขย่ากรุง “Pancake collapse” อาจเป็นสาเหตุทำตึกถล่ม ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิต ยืนยันอย่างเป็นทางการ 6 ราย สูญหายอีก 47 ราย ส่วนเมียนมาดับแล้วกว่า 600 ราย

 

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ซึ่งมีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะ 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ชัยนาท ลำพูน เลย และกำแพงเพชร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายในจังหวัดอื่น ๆ

 

สำหรับกรุงเทพมหานครมีรายงานอาคารร้าว ถนนทรุดตัว และ อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม โดยอัปเดตล่าสุดจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหาคร ที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ เมื่อเวลา 09.30 น. 29 มี.ค. 2568 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 26 ราย และสูญหายอีก  47 ราย โดยอาคารที่ถล่มคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ใต้ซากอาคาร พร้อมทั้งสำรวจความเสียหายของอาคารและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

ทั้งนี้ ปภ. ได้ระดม ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue – USAR) สนับสนุนปฏิบัติการของ กทม. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างภายในอาคารที่ถล่ม โดยกำหนดให้ สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปทุมธานี เป็นศูนย์ระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลสาธารณภัย สำหรับปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยครั้งนี้

เร่งค้นหาผู้สูญหายเหตุแผ่นดินไหวทำอาคารถล่ม

 

‘Pancake collapse’ อาจเป็นสาเหตุอาคารก่อสร้างถล่ม

 

ศ.ดร. อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและนักวิจัย สกสว. ตั้งข้อสังเกตถึงจุดเริ่มต้นของการถล่ม ว่า จากภาพวีดีโอ มีจุดที่พังทลายที่สำคัญ 3 จุด ได้แก่

 

  1. เสาชลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา
  2. รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง
  3. การพังที่เกิดจากปล่องลิฟต์ โดยในขณะนี้ยังไม่สรุปว่า จุดเริ่มต้นการถล่มเกิดที่จุดใด แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากจุดใดก่อน ก็สามารถทำให้อาคารถล่มราบคาบลงมาเป็นทอดๆ ได้ ซึ่งในทางวิศวกรรมเรียกว่า Pancake collapse

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุการถล่มได้ คือการสั่นพ้อง (resonance) ระหว่างชั้นดินอ่อนกับอาคารสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวระยะไกลจากเมียนมา เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงชั้นดินอ่อนกรุงเทพฯ จะเป็นแผ่นดินไหวแบบคาบยาว (long period) ซึ่งจะกระตุ้นอาคารสูงได้ เนื่องจากมีคาบยาวที่ตรงกันระหว่างอาคารกับชั้นดินอ่อน

 

ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น ตัวปั้นจั่นที่ติดตั้งในปล่องลิฟต์ มีการสะบัดตัวและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอย่างไรนั้น ยังต้องพิสูจน์ต่อไป

 

อย่างไรก็ดี ตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2550 และ 2564 อาคารหลังนี้ควรต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหวในระดับที่ไม่ควรถล่มแบบนี้ จึงต้องไปตรวจสอบแบบ และ การก่อสร้าง ด้วย

 

อีกประเด็นสำคัญที่ตัดทิ้งไม่ได้คือคุณภาพวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต และเหล็กเสริมว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นที่นำมาใช้ ได้มาตรฐานและมีความเหนียวเพียงพอหรือไม่ จึงจำเป็นตรวจสอบทุกปัจจัย ก่อนจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้

แผ่นดินไหวในเมียนมา

 

อัปเดตแผ่นดินไหวเมียนมา

 

ทีมสารสนเทศ สังกัดสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 694 ราย บาดเจ็บ 1,670 ราย และสูญหาย 68 ราย ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในภูมิภาคมัณฑะเลย์ของเมียนมา เมื่อนับถึงช่วงเช้าวันเสาร์ (29 มี.ค.) และยังคงมีการค้นหาผู้สูญหายตามอาคารต่างๆ  เช่นที่ เมืองสะกาย มัณฑะเลย์ อ่องปาน และเนปิดอว์ ยังมีประชาชนหลายร้อยคนติดอยู่ในอาคารที่พังถล่มหลายแห่ง โดยที่ คอนโดสกายวิลล่าซึ่งมี  11 ชั้น  ในเมืองมัณฑะเลย์ พังถล่มจากแผ่นดินไหวและถล่มลงมาเหลือเพียง 7 ชั้นเท่านั้น มีรายงานว่ามีคนจำนวนมากติดอยู่ภายใน

 

นอกจากนี้ แผ่นดินไหวที่เมืองปินมานา กรุงเนปิดอว์  ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 86 ราย และร่างผู้เสียชีวิต ทั้งหมดยังไม่ถูกนำออกมาได้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 500 รายที่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

 

ขณะที่ชาวเมืองมัณฑะเลย์ ต้องมานอนบนถนน โดยไม่มีเต้นท์ บางรายต้องน้ำมุ้งเด็กมากางนอน เป็นผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดของเมียนมา มากกว่าแผ่นดินไหวที่เมืองพุกาม เมื่อปี 2559 ที่มีขนาด 6.8 ริกเตอร์

Related posts

ทำไม? ‘โลกร้อน’ ถึงทำภูมิแพ้ ยาวนาน และรุนแรงขึ้น

‘โรงน้ำแข็งพิษณุโลก’ ติดโซลาร์เซลล์ ลดค่าไฟ-โลกร้อน

Climate Risk Index ดัชนีชี้วัดประเทศเสี่ยงสูงจากสภาพอากาศสุดขั้ว