คำอธิบายหลักการ “ชิงเผา” ที่ถูกต้องหรือเป็นไปตามหลักวิชาการ โดย ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยสร้างความกระจ่างสำหรับวิธีการบริหารจัดการไฟที่เป็นไปตามหลักสากล เพียงแต่บ้านเราไม่ยอมรับความจริงและเฉไฉกระทั่งมองการชิงเผาในแง่ร้าย อาจจะด้วยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ หรือมีความเชื่อแบบผิด ๆ ตลอดจนมีปัจจัยแทรกซ้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการปัญหาไฟป่าที่เรื้อรังมายาวนาน
“ถ้าเราจุดไฟโดยขาดความรับผิดชอบ แต่ใช้คำว่าชิงเผา มาถึงก็จุดแล้วบอกว่าชิงเผา ผลกระทบมันไม่ต่างอะไรกับไฟไหม้ป่า เพราะไม่สามารถควบคุมอะไรได้สักอย่าง เราไม่สามารถควบคุมการลุกลามของไฟให้อยู่ในวงจำกัดได้ เราไม่สามารถป้องกันไม่ให้ไฟลามไปยังพื้นที่อื่นที่เราไม่อยากให้ไปได้ เพราะเราไม่ได้เตรียมการไว้ก่อน เผา ๆ อยู่เกิดลมพัดแล้วไฟกระเด็นไปก็ไม่ต่างจากจุดไฟเผาป่า” อาจารย์กอบศักดิ์ ระบุ
ดังนั้นจะใช้คำว่า ชิงเผา (Early Burning) ได้ก็ต่อเมื่อมีความพร้อมในการควบคุม ตั้งแต่การเตรียมคนคือถึงเจ้าหน้าที่และชุมชนที่มีความพร้อมในการรับมือ ดูสภาพเชื้อเพลิง อากาศ เครื่องไม้เครื่องมือ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่สามารถกระทำการโดยคนใดคนหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าการเผาตามหลักวิชาการ
ความเชื่อที่ว่าป่าควรอยู่ของป่าไม่ต้องไปยุ่ง อันนี้ก็เป็นความเชื่อที่ผิดและขาดความเข้าใจ นำมาซึ่งการจัดการไฟป่าที่ผิดพลาดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการชิงเผา เพราะไม่ได้หมายความว่าป่าทุกพื้นที่ป่าในประเทศไทยหรือในโลกจะชิงเผาได้ทั้งหมด อาจารย์กอบศักดิ์อธิบายว่า ป่าแบ่งออก 2 กลุ่ม ๆ หนึ่ง คือ ป่าที่เมื่อถูกไฟไหม้จะเกิดความเสียหายอย่างหนัก เช่น ป่าดงดิบทั้งหลาย ป่าพวกนี้ต้องป้องกันไฟให้ดีที่สุด
แต่ในทางตรงข้ามยังมีป่าส่วนใหญ่ของประเทศไทยและของโลกเป็นป่าที่ “ต้องการไฟ” ในการรักษาโครงสร้างและองค์ประกอบของป่านั้นไว้ นั่นก็คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสน ซึ่งระบบนิเวศมีออกแบบหรือปรับตัวให้เป็นป่าที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีไฟมานานแล้ว
“ป่าเต็งรังจำเป็นจะต้องมีไฟอย่างน้อย 2-3 ปีต่อครั้ง แต่ถ้ามีมากเกินไปมันจะเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ กลายเป็นป่าเต็งรังแคระและค่อย ๆ กลายเป็นสภาพทุ่งหญ้าในที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราฟ้องกันไฟไปเรื่อย ๆ มันก็จะทำให้สังคมพืชเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน สภาพมันจะชื้นขึ้น
“เมื่อเราป้องกันไฟไประยะหนึ่ง เห็ดราจะเริ่มเข้าทำลายไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ทนแล้ง แล้วไม้เหล่านั้นก็จะหายไปจะถูกแทนที่ด้วยไม้ที่มีความชุ่มชื้นมากกว่า แต่ถามว่าระบบแบบนั้นเป็นสิ่งเราต้องการหรือไม่ นักนิเวศวิทยาคงไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการให้เกิดความหลากหลายของพื้นที่”
ปัญหาที่เกิดจากคำว่า ‘ชิงเผา’ ของคนทั่วไปกับคำว่า ‘ชิงเผา’ ในความหมายทางวิชาการของอาจารย์กอบศักดิ์และนักนิเวศวิทยาทั่วไปจึงไม่ตรงกัน
“ชิงเผาของคนทั่วไปคือรีบเผาเสียก่อนที่เขาสั่งห้ามเผา จะเผาเมื่อไหร่ก็รีบเผาเลย ซึ่งไม่ใช่การชิงเผาตามหลักวิชาการ เพราะนั่นคือการเผาโดยขาดความรับผิดชอบ เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นเราจะควบคุมไม่ได้เลยมันจะลามไปตามอำเภอใจ
“ในขณะที่การจัดการเชื้อเพลิงโดยการเผาตามกำหนด หรือการชิงเผาไม่ใช่เราเผาสุ่มสี่สุ่มห้า เราเป็นคนบังคับว่าให้ไฟเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราเป็นคนบังคับว่าให้มันเผาอะไร เราเป็นคนบังคับว่าให้มันถูกเผาโดยวิธีไหน ต้องมีการทำแนวกันไฟ ทำเส้นทางหนีไฟ มีการคมนาคมสื่อสาร ต้องเข้าใจเครื่องมือเหล่านี้”
คำอธิบายดังที่กล่าวมานี้อาจยังไม่เพียงพอ อาจารย์กอบศักดิ์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าพรุควรเคร็งครั้งใหญ่ เมื่อปี 2555 โดยทีมอาจารย์ได้ไปเก็บรวบรวมข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นจากไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของไฟมีความรุนแรงแค่ไหนและได้ตัวเลขมาชุดหนึ่ง ต่อมาในปี 2556 – 2557 จึงได้วิจัยในเรื่องนี้เพื่อเซ็ตแปลงทดลองเพื่อทำการเผา โดยมีการเตรียมการทำแนวกันไฟ วางแผนการเผา และได้พบว่าผลที่เกิดขึ้นในแง่ความรุนแรงของไฟแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างไฟป่าในปี 2555 และไฟปี 2556 เพราะพฤติกรรมไฟต่างกัน อัตราและความเร็วในการลุกลามของไฟก็ต่างกันมาก
นั่นคือไฟป่ามีความเร็ว 12.50 เมตรต่อวินาที เผาแบบควบคุม (วิจัย) 1.17 เมตรต่อวินาที ส่วนความรุนแรงของไฟ ไฟป่า 6,258 KW/m เผาแบบควบคุม 317 KW/m นอกจากนั้นยังพบว่าไฟป่าที่ไหม้ไม้หนุ่มหรือกล้าไม้ที่โตขึ้นมาหน่อยตายไป 74% แต่ในแปลงที่ทำการชิงเผาตายน้อยมาก 13.03% หรือการเกิดคาร์บอนมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมวิจัยมั่นใจว่าการชิงเผา หรือการเผาตามหลักวิชาการ ถ้ามีกระบวนการวางแผน มีการจัดการ มีรูปแบบการเผาที่ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะลดลงไปมาก
หลายคนคงเข้าใจดีว่าการใช้ไฟนั้นมีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ แต่สาเหตุที่ประเด็นมลพิษทางอากาศได้รับความสนใจมากขึ้นก็เพราะ “ควัน” ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิง ถ้าลดเชื้อเพลิงลงได้ไฟที่เกิดขึ้นพฤติกรรมจะลดความรุนแรงลง “ควัน” ซึ่งแป็นสิ่งที่เรากลัวมาก ๆ ถ้าเราจุดไฟภายใต้การควบคุมของเรา “ควัน” มันก็ย่อมถูกเราควบคุมด้วย แน่นอนเกิดไฟเมื่อไหร่ย่อมมีผลกระทบ แต่มันจะไม่รุนแรงและสามารถควบคุมให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัดได้
Global Fire Mornitoring Center (GFMC) เป็นองค์กรระดับโลกที่ทำเรื่องไฟป่าภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งก็ใช้วิธีการชิงเผา นั่นหมายความว่าไม่ใช่เฉพาะสหรัฐอเมริกาหรือเฉพาะไทยแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ แต่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งมีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ และบทความต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ก็มีให้เห็น
“เพียงแต่มันแอบซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ ถ้าใครพูดเรื่องการชิงเผา เหมือนเป็นแง่ร้าย ซึ่งยอมรับไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษป่าไม้ด้วยแหละ เราสื่อสารไม่ดีเอง ผมว่าเพียงแค่การสื่อสารอาจจะทำให้ความเข้าใจที่เคลื่อนมันอาจจะดีขึ้นก็ได้
“ถ้าเราใช้มาตรการที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ชุมชนต้องวางแผนการบริหารจัดกำการพื้นที่ ทรัพยากร รวมทั้งการบริหารจัดการไฟป่าด้วยให้เกิดประโยชน์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน รัฐต้องสนับสนุนกระบวนการอย่างเต็มที่เพื่อจะได้เกิดเรียนรู้ หวังว่าในอนาคตนโยบายการจัดการเชื่อเพลิงด้วยการชิงเผาจะเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น” อาจารย์กอบศักดิ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนมาดูนโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในบ้านเรา ณ เวลานี้ปี 2564 จะเห็นว่าค่อนข้างมีความสับสนในหลายประเด็น ดร.วีรชัย ตันพิพัฒน์ ที่ปรึกษากรมป่าไม้ และอาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีการชิงเก็บและชิงเผาของรัฐกำลังจะสร้างปัญหาในการแก้ไขไฟป่าในปีนี้ เนื่องจากนโยบายไม่มีความชัดเจนในหลายๆ ด้าน เช่น นโยบายชิงเผาที่เป็นการเตรียมการป้องกันไฟปรากฏว่าเมื่อเผาแล้วเกิดไฟลามออกนอกพื้นที่ชิงเผา ซึ่งตามหลักการจะต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะชิงเผาพื้นที่ใด จำนวนเท่าใดและเผาเวลาใดที่ไม่เกิดปัญหาตามมา
เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ไม่มีความชัดเจนทำให้ผู้ปฏิบัติไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติหรือดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงไม่เป็นไปตามกระบวนการเผาที่ถูกต้อง เช่น เผาแล้วกลับบ้าน และปล่อยให้ไฟลุกลามไปเรื่อยๆ
“ปกติการชิงเผาจะทำแค่ 200-300 ไร่ จะไม่มากเป็นหมื่นๆ ไร่ เพราะจะต้องเผาให้จบภายในวันเดียว ถ้าพื้นที่มากจะต้องใช้เวลามาก ซึ่งไม่ควรเผาข้ามวันเพราะยากต่อการควบคุม อีกปัญหาในตอนนี้เราไม่รู้ว่าแต่ละพื้นที่กำหนดให้ใช้นโยบายชิงเผาจำนวนเท่าไหร่กี่ไร่ตรงไหนบ้าง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ในอเมริกาเขาจะแจ้งก่อน โดยต่อวันจะทำได้แค่ 1,000-2,000 ไร่ และจะต้องใช้คนจำนวนมากไปช่วยกัน
“ที่ผ่านมาเราเคยชิงเผาที่ดอยอินทนนท์ซึ่งมีการเกณฑ์ชาวบ้านมาหลายหมู่บ้านมาช่วยกัน ฉะนั้นมันเกี่ยวข้องกับกำลังคน และเมื่อเผาแล้วจะต้องดับให้สนิท ไม่ใช่เผาแล้วกลับบ้าน ถ้าปล่อยให้ลามเขาไม่เรียกว่าชิงเผา แต่เป็นการลักลอบเผา
“ฉะนั้นตามนโยบายที่กำหนดจะใช้วิธีการชิงเผา 2.8 ล้านไร่จะต้องกำหนดพื้นที่ ระยะเวลาการดำเนินการ โดยมีเจ้าของพื้นที่คือ กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งกรมป่าไม้จะเน้นทำแนวกันไฟมากกว่า เพราะการชิงเผาจะทำในพื้นที่ป่าที่เข้าไปยากๆ คือพื้นที่ป่าอนุรักษ์”
อาจารย์วีรชัย กล่าวถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เดิมทีตั้งเป้าจะชิงเผาเพื่อลดเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟ แต่จู่ ๆ คำว่าชิงเผาก็หายไป และหันมาเน้นแต่การชิงเก็บ ซึ่งเข้าใจได้ว่าต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เก็บใบไม้มาแปรรูป เช่น ทำปุ๋ยเพื่อสร้างรายได้ แต่อาจารย์มองว่าในความเป็นจริงนโยบายนี้ก็มีปัญหาและความสุ่มเสี่ยงตามมาเช่นกัน เพราะคงไม่มีใครจะเข้าไปเก็บใบไม้ในป่าลึกและมีพื้นที่กว้างขวางมากได้หมดหรือมากพอ ยกเว้นพื้นที่ทำการเกษตร
“เท่าที่ทราบขณะนี้มีการเก็บใบไม้มากองไว้จำนวนมาก ถ้ามีคนแอบเผาจะไหม้ง่ายมาก ยิ่งเก็บยิ่งมีปัญหา ถ้าไม่มีการรับซื้อที่ชัดเจน ถ้าฝนตกจะทำอย่างไรเพราะอาจจะไหลไปขวางทางน้ำ”
การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการนั้นอาจารย์วีรชัย ระบุว่าจะต้องทำล่วงหน้า ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ด้วยซ้ำ และให้ดีควรชิงเผาตั้งแต่เดือนธันวาคมและให้จบภายในเดือนมกราคมจะยิ่งดี แต่ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายห้ามเผา ทำให้มีการลักลอบเผาและควบคุมไม่ได้
“การชิงเผาเรานำความรู้มาจากแคนนาดาและสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้ในบ้านเราให้สอดคล้องกับบริบท แต่ที่ยังเป็นปัญหาเพราะเราไม่เปิดใจคุยกันจริงๆ จังๆ และอย่างจริงใจ แก้กันมานานเพราะไม่จริงจังและจริงใจ เมื่อก่อนเคยคุยกันว่าจะส่งเสริมการเปลี่ยนอาชีพที่ไม่ต้องจุดไฟหรือใช้ไฟให้น้อยลง
“แต่เห็ดถอบเขาได้รอบละ 30,000 บาท ซึ่งชาวบ้านเขาเชื่อว่ายิ่งเผาเห็ดจะยิ่งออกเยอะ ข้างขึ้นจะออกมากกว่าข้างแรม ยิ่งเผาเห็ดยิ่งขึ้น จริง ๆ ถ้าไปช่วยให้เขาเพาะเห็ด เขาก็จะไม่เผา แต่ไม่ไปส่งเสริมเขา เขาก็กลับมาเผาเหมือนเดิม อีกอย่างหน่วยงานทับซ้อนกัน หน่วยงานหนึ่งจะไปส่งเสริมข้ามพื้นที่ไม่ได้ หน่วยงานอื่นจะเข้าไปส่งเสริมในพื้นที่อุทยานก็ไม่ได้ เข้าพื้นที่ป่าไม่ได้”
ดร.วีรชัย ย้ำว่า ตราบใดที่นโยบายการแก้ปัญหาไม่มีความชัดเจนหรือไม่มีเจ้าภาพสั่งการตัวจริงจะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขยากขึ้น เช่น กรณีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีเชื้อเพลิงอยู่ในป่าเยอะมาก ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีจะไหม้เยอะ หรือกรณีรัฐมีนโยบายชิงเก็บถ้าไม่นำไปจัดการต่อที่ดีก็อาจจะกลายเป็นการนำเชื้อเพลิงขนาดใหญ่มากองรวมกันและมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ได้ง่ายขึ้น
นอกจากเรื่องนโยบายชิงเก็บตามที่อาจารย์วีรชัยมีความกังวลแล้ว นโยบายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผาก็ดูจะยังมีความสับสนจากระดับนโยบายอยู่มาก โดยเฉพาะต่อเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติและชาวบ้านในพื้นที่ เพราะเดิมทีต่างก็เข้าใจตรงกันว่าการชิงเผาเป็นหนึ่งในวิธีการลดปริมาณเชื้อเพลิงให้เหลือน้อยที่สุด และได้ดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่องซึ่งในทางวิชาการถือเป็นแนวทางที่ดีในการบริหารเชื้อเพลิงไม่ให้เกิดไฟป่าซ้ำในจุดเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อฝ่ายกำกับนโยบายชี้นำไปยังวิธีการชิงเก็บมากกว่าชิงเผา เนื่องจากอาจมองว่าการเผาถึงอย่างไรก็สร้างฝุ่นควัน จึงให้เน้นการเก็บมากกว่า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความสับสนและลังเล ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มที่อาจรอไม่ได้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่กลัวคำสั่งห้ามเผามา จึงลุยเผาโดยไม่สนใจนโยบาย บางจังหวัดผู้ว่าฯ ก็ออกประกาศห้ามเผาเพราะไม่ต้องการรับผิดชอบกรณีไฟป่าลุกลามจนไม่อาจควบคุมได้
ในเวลานี้ถ้าจะจับผิดกันจริง ๆ คงไม่ยาก นอกจากดูจำนวนจุดความร้อนในแต่ละพื้นที่ด้วยดาวเทียมแล้ว ยังสามารถเข้าไปสุ่มตรวจสอบอัตราความเร็วและความรุนแรงของควันตามวิธีการของอาจารย์กอบศักดิ์อธิบายก็ยังได้
แค่เริ่มต้นฤดูกาลยังสับสนอลหม่านขนาดนี้ย่างเข้าหน้าไฟเต็มตัวคงจะระเบิดเถิดเทิงมากกว่านี้ และต้องมาลุ้นกันว่าไฟป่าปี 2564 กับปีที่ผ่านมาปีไหนจะรุนแรงมากกว่ากัน
ขอบคุณที่มา:
https://youtu.be/JQXdQzajX90 [กรมป่าไม้ ]
https://youtu.be/ZwgJVdZs2rA [forestbook]