ภัยแล้งจากโลกร้อนกำลังฆ่าช้างมากกว่าการลักลอบล่าถึง 20 เท่ามนุษย์ต้องแย่งแหล่งน้ำกับช้าง

กระทรวงสัตว์ป่าและการท่องเที่ยวของเคนยากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อการอนุรักษ์ช้างรุนแรงมากกว่าการล่าและการรุกล้ำของมนุษย์

ในปีที่ผ่านมาเคนยามีรายงานการเสียชีวิตของช้าง 179 ตัว เนื่องจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคจะงอยแอฟริกา
(Horn of Africa) หลังจากฤดูฝนที่ไม่เอื้ออำนวยติดต่อกัน ทำให้แม่น้ำและแอ่งน้ำก็แห้งแล้ง และทุ่งหญ้าได้หดตัวลง

นาจิบ บาลาลา รัฐมนตรีกระทรวงสัตว์ป่าและการท่องเที่ยวของเคนยา ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ช้างเสียชีวิตมากกว่าการลักลอบล่าสัตว์ถึง 20 เท่า

จากการศึกษาพบว่า ช้างต้องดื่มน้ำหลายสิบแกลลอนต่อวัน โดยคาดว่าช้างจะต้องดื่มน้ำทุกๆ สองหรือสามวันเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ความแห้งแล้งของเคนยาได้ทำลายล้างประชากรสัตว์ป่าตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังพบว่ามีวัว ควาย ยีราฟ และหมูป่าจำนวนมากนอนตายบริเวณแอ่งน้ำที่แห้งแล้ง

ยังไม่จบลงแค่นั้น ความแห้งแล้งยังทำให้มนุษย์และช้างปะทะกันตรงๆ มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่การล่า แต่เป็นการแย่งชิงแหล่งน้ำและอาหาร เช่น ที่ซิมบาบเว ชาวบ้านและนักอนุรักษ์กลัวว่าการแย่งชิงทรัพยากรน้ำอาจทำให้ชาวบ้านและช้างเสียชีวิตได้ ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 คนในการเผชิญหน้ากับช้าง อ้างจากหน่วยงานจัดการอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (ZimParks) ของซิมบับเว

ZimParks ได้ร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์ผู้บริจาคทั้งในและต่างประเทศเพื่อเจาะบ่อน้ำมากกว่า 65 บ่อ สำหรับช้างป่ามากกว่า 45,000 ตัวที่เดินทางผ่านอุทยานแห่งชาติฮวานเก (Hwange National Park) แต่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิชาการและนักอนุรักษ์เกี่ยวกับความยั่งยืนในอนาคตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์

อ้างอิง
• https://www.bbc.com/news/av/world-africa-62323058
• https://www.independent.co.uk/climate-change/news/climate-change-elephants-kenya-poaching-b2133588.html
• https://www.discovery.com/nature/elephants-climate-change
• https://www.npr.org/2022/08/15/1117076598/drought-is-driving-elephants-closer-to-people-the-consequences-can-be-deadly
ภาพ: JackyR

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน