ผู้บริโภคที่เข้าๆ ออกๆ ใช้บริการซื้อสินค้าร้านสะดวกซื้อบ่อยๆ จะสังเกตพบว่าพนักงานมักนำสินค้าที่เราซื้อใส่ถุงให้แทบทุกครั้ง (ยกเว้นของชิ้นเล็กเพียง 1 ชิ้น)
ยิ่งถ้าซื้อสินค้าประเภทบรรจุขวด ไม่ว่าขวดน้ำดื่มขนาดเล็กขนาดใหญ่ (พลาสติก) ขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) หรือประเภทของร้อน แน่นอนลูกค้าจะได้ถุงหูหิ้วติดกลับบ้านมาด้วยทุกครั้ง
หากสังเกตมากกว่านั้นหลายครั้งพนักงานมักจะซ้อนถุงให้ 2 ชั้นอีกด้วย เพราะความเคยชินหรือเกรงว่าหูหิ้วจะขาดกลางทางก้ไม่ทราบ ขณะเดียวกันลูกค้าบางรายก็มักขอรับถุงเพิ่มอีก 1 ใบ ด้วย (อาจเพราะถุงหูหิ้วในร้านสะดวกซื้อมักเป็นชนิดบาง, เอาไปใส่ขยะที่บ้าน), (หน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งก็มีนักร้องดังยืนเป็นพรีเซนเตอร์รณรงค์ไม่รับถุง)
ออกจากร้านสะดวกซื้อ ไปจ่ายตลาดสดหรือเข้าซุปเปอร์มาเก็ตกันบ้าง พ่อบ้านแม่บ้านขาช็อปก็จะได้รับถุงหูหิ้วพลาสติกประเภทซ้อน 2 ชั้นจนเป็นเรื่องปรกติด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเราซื้อสินค้าประเภทอาหารสด หรือสินคต้าประเภทขวดที่ต้องระวังแตก
ทั้ง 2 กรณีนี้ ยกเว้นผู้ซื้อแจ้งความประสงค์ “ไม่ขอรับถุง” เพราะพกถุงผ้ามาด้วยจนเป็นนิสัย
ประเด็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ก็เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพปริมาณขยะ โดยเฉพาะจากถุงพลาสติกหรือแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics)
ในช่วงประมาณ 65 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ คำนวณพบว่าปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลกมีน้ำหนักรวมกันถึง 8,300 ล้านตัน หรือมีขนาดเทียบได้เท่ากับน้ำหนักของตึกเอ็มไพร์ สเตทในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐ รวมกันถึง 25,000 อาคาร หรือหากเทียบกับน้ำหนักช้างจะมีน้ำหนักรวมกัน 1,000 ล้านตัว (ที่มา: BBC ไทย)
มาย้อนดูข้อมูลในบ้านเราบ้าง ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องขึ้นทุกปี จากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 พบว่ามีขยะรวมกันทั้งประเทศประมาณ 27 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าตึกใบหยกสอง จำนวน 140 ตึก คิดเป็นประมาณ 74,130 ตันต่อวัน เฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ยังไม่รวมขยะตกค้างสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน
จากปริมาณขยะทั้งหมดแยกเป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตัน ซึ่งคนไทยสร้างขยะพลาสติก 8-10 ใบต่อวัน เมื่อแยกลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้น หากในจำนวนขยะพลาสติก 2 ล้านตัน ที่ถูกทิ้งลงทะเลไปเป็นถุงพลาสติกทั้งหมดและเป็นปริมาณที่มาจากการซ้อนถุงรวมกัน
นั้นก็หมายความว่า หากเลิกซ้อนถุง (รับแค่ใบเดียว) ปริมาณขยะพลาสติกก็จะลดลงครึ่งหนึ่งหรือเหลือเพียง 1 ล้านตัน
แต่ถ้างดรับถุงพลาสติกในทุกกรณีไม่ว่าจากพนักงานขาย หรือแม่ค้าในตลาดสด นั่นก็เท่ากับว่าเราจะสามารถลดประมาณขยะพลาสติกลงได้ถึง 2 ล้านตัน หรือไม่มีขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
ขอย้ำว่านี่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น…แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะพลาสติกแยกย่อยออกอีกหลายประเภท ทั้งวัสดุที่เป็นพลาสติก อาทิ บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดน้ำทั้งหลาย รวมทั้งหลอดพลาสติกอีกด้วย ซึ่งทั้งเต่า ปลา และสัตว์ทะเลนานาชนิด ต่างแยกไม่ออกว่าคือพลาสติกใสๆ เหล่านั้นอาวุธสังหารพวกมันจนต้องตายวันแล้ววันเล่า
จากข้อมูลองค์กรทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ขยะพลาสติกคร่าชีวิตสัตว์ทะเลกว่าแสนตัวต่อปี เพราะพลาสติกที่ถูกทิ้งกว่า 90% ไม่ได้ถูกนำมารีไซเคิล ฉะนั้นก่อนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกจะเลิกผลิตพลาสติกและหันไปผลิตสร้างมลพิษโดยการหยุดผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ในฐานะผู้บริโภค จึงลองคิดใคร่ครวญดูว่าแค่เรางดซ้อนถุง หรือไม่รับถุงพลาสติก…อย่างน้อยเราก็มีส่วนช่วยสัตว์ช่วยดูแลโลกได้ทางหนึ่งแล้ว