ถ้า ‘ทรัมป์’ กลับมา Game Over โลกละลาย สิ่งแวดล้อมโลกพัง?

by Chetbakers

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศโลก หาก “ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย คงต้องใช้คำว่าโลกเข้าสู่ “หายนะ” หนักขึ้น

มีการคาดการณ์ว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง จะมีการยกกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศฉบับแรกที่สำคัญของสหรัฐฯ จะมีการปราบปรามนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล การเร่งเดินหน้าขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส เรียกได้ว่า นโยบายด้านความยั่งยืนจะกลับหลังหันจากยุคโจ ไบเดน

ไมรอน เอเบลล์ หัวหน้าคณะทำงานเปลี่ยนผ่านของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ในวาระแรกของทรัมป์ กล่าวว่า “ทรัมป์จะลบล้างทุกสิ่งที่โจ ไบเดน ทำ เขาจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและก้าวไปไกลกว่าที่เคยทำมาก่อน”

โดยเฉพาะการยกเลิกเพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยที่ทรัมป์จะหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาพอากาศโลกแย่ลง เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและดำเนินนโยบายเหล่านี้ต่อไป จึงอาจต้องใช้คำว่า “Game over หรือมันเกมจบแล้ว” สำหรับความพยายามในการป้องกันสภาพภูมิอากาศและการรักษาสิ่งแวดล้อมโลก

อย่างไรก็ดี เอาเข้าจริงทรัมป์จะมาหรือไม่มา สภาพอากาศโลกก็ใกล้จะหลุดจากการควบคุมของมนุษย์อยู่แล้ว เพียงแต่หาก “ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกาอีกครั้ง นอกจากสหรัฐฯ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นแล้ว การเป็นประธานาธิบดีของเขาอาจส่งผลให้การแก้ปัญหาโลกเดือดล่าช้าออกไปอีก 4 ปี และอาจเข้าสู่ “โลกเรือนกระจก” ที่ร้อนจัดจนยาโอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดเร็วขึ้น แย่มากขึ้น กจะอาศัยอยู่ได้

สิ่งที่จะตามมาในยุคทรัมป์ 2 เขาจะมุ่งเป้าไปที่การขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซ และปฏิเสธข้อตกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุสัญญาสภาพภูมิอากาศโลกทั้งหมด (United Nations Framework Convention on Climate Change, หรือ UNFCCC) ซึ่งเป็นเรื่องเลวร้าย เนื่องจากสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (ถูกแซงโดยจีนในปี 2006)

ขณะที่หลายประเทศก็กอดตัวเลขอัตราการเจิญเติบโตทางเศรษฐกิจแทนการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งหากสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้ จะทำให้สหรัฐฯ กลายเป็น “ผู้โดยสารฟรี” ที่ไม่ต้องรับภาระการลดก๊าซเรือนกระจกใดๆ

ทรัมป์จึงเป็นความเสี่ยงของโลกใบนี้ โดยพิจารณาจากรายงาน “Global Stocktake” หรือความคืบหน้าของอนุสัญญาสภาพภูมิอากาศซึ่งเผยแพร่ใน COP28 เดือน ธ.ค. 2023 ที่ระบุไว้ว่าในปัจจุบันสังคมมนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าประมาณ 55,000 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่าหากเราไม่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิลแม้แต่กิโลกรัมเดียวหรือไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว เราก็ยังคงหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 15,000 ล้านเมตริกตันต่อปี

ถึงจะไม่ปล่อยก๊าซเพิ่มโดยตรง แต่ก็เกิดการปล่อยก๊าซ “ทางอ้อม” เพิ่มขึ้น อย่างเช่น ภัยพิบัติมีความถี่ ไฟป่ามีความรุนแรง การละลายของเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) หรือชั้นดินเยือกแข็งที่เต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นและจะทำให้โลกร้อนขึ้น น้ำทะเลก็อุ่นขึ้น ดูดซับ CO2 ได้น้อยลง เหล่านี้คือผลกระทบทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์

ที่ท่องคาถากันมาต่อเนื่องว่า เราจะหยุดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 1.5°C ก่อนยุคอุตสาหกรรม ข้อเท็จจริงก็คือเลือนลางอย่างมาก เนื่องจากอุณหภูมิโลกกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2023 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ย ปี 1850-1900 ถึง 1.36°C ในช่วงเดือน ก.ค. 2023 ถึง มิ.ย. 2024 และเป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5°C โดยมีค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 1.64°C

จากตัวเลขนี้มีการคาดการณ์ด้วยว่าป่าแอมะซอนอาจจะถึงจุดเปลี่ยนโดยร้อยละ 47 ของพื้นที่ป่าอาจเสี่ยงต่อการล่มสลายภายในปี 2050 เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยเหนือแอมะซอนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3°C สภาพภูมิอากาศจะแล้งลงติดต่อกันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะฆ่าต้นไม้ในแอมะซอนอย่างที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” รวมถึงเปอร์เซ็นต์การตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้น โปัจจัย “ซุปเปอร์เอลนีโญ” จะเป็นตัวผสมโรง

แม้การคาดการณ์ทั้งหมดนี้อาจดูเกินจริง แต่ความจริงที่แน่นอนก็คือ จุดวิกฤตใกล้เข้ามาแล้ว ทวีปต่างๆ ร้อนขึ้นมากกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ภายใต้อนุสัญญาสภาพภูมิอากาศที่ประเทศต่างๆ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซสุทธิทั่วโลกต่อปีให้ได้ 43% ภายในปี 2030 (เหลือเพียงอีก 6 ปีจากนี้) และการลดลงจะต้องถึง 84% ภายในปี 2050 ยังห่างไกลความเป็นจริงมาก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่สามารถเจรจาต่อรองหรือประนีประนอมได้ นั่นเท่ากับแนวโน้มมันฟ้องว่า เราจะไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ตามเป้าหมาย

ฉะนั้นการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์อาจเป็นปัจจัยชี้ขาดภัยพิบัติโลกที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ซึ่ง แอนดรูว์ โรเซนเบิร์ก อดีตเจ้าหน้าที่องค์การบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติ (NOAA) ปัจจุบันเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ ขมวดไว้น่าสนใจว่า “การกลับมาของทรัมป์จะเป็นเรื่องเลวร้ายอย่างยิ่ง…

“มันจะโง่เง่ามากด้วย มันจะย้อนเวลากลับไปถึงความก้าวหน้าที่ใช้เวลาหลายทศวรรษในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากการทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่สนับสนุนเขาอาจไม่ตระหนักว่าชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน”

อ้างอิง:
• Jul 11, 2024 . “Game over” for the Amazon forest and global climate if Trump wins? (commentary) . Philip M. Fearnside . Mongabay
• Feb 6, 2024 . ‘In a word, horrific’: Trump’s extreme anti-environment blueprint .Oliver Milman and Dharna Noor . The Guardian

Copyright @2021 – All Right Reserved.