มูลนิธิสืบฯ ทักท้วงยกป่าอนุรักษ์ ‘อุทยานดอยภูนาง’สร้างเขื่อนแม่เมาะพื้นที่ 397 ไร่

ภาพ เพจอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเรียกร้องให้คณะกรรมการอุทยานฯ พิจารณาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนางบางส่วน บนเนื้อที่ 397 ไร่ เพื่อให้กรมชลประทานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ โดยเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้ เพราะเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่สมบูรณ์ ที่สำคัญเป็นแหล่งอาศัยของนกยูงที่มีสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์

มูลนิธิสืบฯ ระบุว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในวันที่ 10 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. โดยมีวาระการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนางบางส่วน เนื้อที่ 397 ไร่ เพื่อให้กรมชลประทานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ (เขื่อน) แม่เมาะอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ปง อ.ปง จ.พะเยา

น้ำตกธารสวรรค์ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง

พื้นที่ที่จะนำมาสร้างอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังที่มีความสมบูรณ์ และตามริมลำน้ำเป็นป่าเบญจพรรณ พบไม้มีค่าที่สำคัญ บริเวณน้ำท่วมถึงอยู่ในลำน้ำแม่เมาะ สองฝั่งลำน้ำมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้ใหญ่และลูกไม้ขึ้นอยู่จำนวนมาก พบร่องรอยสัตว์ป่าที่สำคัญหากินตลอดลำน้ำ

โดยเฉพาะนกยูงที่มีสถานะความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (Globally Endangered species) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและที่สำคัญของนกยูง เนื่องจากนกยูงเลือกใช้พื้นที่ป่าบริเวณลำห้วยแม่เมาะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย หาอาหาร เกี้ยวพาราสี ผสมพันธุ์ พื้นที่ทำรังวางไข่ พื้นที่เลี้ยงลูก และพื้นที่พักนอนในเวลากลางคืน

ภาพ เพจอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง

นอกจากนี้ยังเป็นหย่อมป่าปฐมภูมิที่มีขนาดใหญ่และมีความต่อเนื่องซึ่งไม่ถูกบุกรุกแผ้วถางจึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ในสภาวะโลกปัจจุบัน

จากการศึกษาวิจัยและภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าโดย Conservation Ecology Program, King Mongkut’s University of technology Thonburi ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ สามารถพบนกยูงได้ทุกวัย ตั้งแต่เพศผู้และเพศเมียโตเต็มวัย วัยรุ่น และที่สำคัญคือแม่และลูก ๆ นกยูง

จากการเก็บข้อมูลของนักวิจัยตลอดระยะเวลาสองปีในทุกช่วงฤดูกาลพบนกยูงตั้งแต่ขนาดที่ฟักออกจากไข่ได้ไม่นานนัก หากมีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะเกิดขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะสูญหายไป

นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการทำรัง วางไข่และเลี้ยงลูกในหลายวัยของนกยูงก่อนที่จะโตเต็มที่และแยกจากแม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสม เป็นพื้นที่แหล่งประชากรสำคัญ (Stronghold) ของนกยูงในระดับภูมิภาค

ที่มา: เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่