กล่องหมักขยะอาหารฉบับคนเมือง

ปี2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 26.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 1.25 ล้านตัน พบเป็นสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 คิดเป็นปริมาณ 9.68 ล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่าประชากร 1 คน ผลิตขยะอาหาร 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (1),(2)

สาเหตุการเกิดขยะอาหารมาจากหลากหลายแหล่ง ตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ร้านอาหาร อุตสาหกรรมบริการด้านอาหาร โดยส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย การจัดการและการวางแผนจัดเตรียมอาหารที่ขาดประสิทธิภาพ (3)

ขยะอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมักถูกทิ้งรวมไปขยะประเภทอื่นซึ่งปลายทางส่วนใหญ่คือหลุมมฝังกลบ เมื่อขยะอาหารถูกทับถมกันจนแน่นจะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

จัดการขยะอาหารแบบคนเมือง

จากตัวเลขสัดส่วนขยะมูลฝอยในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่ายังมีคนไทยจำนวนมากยังจัดการขยะอาหารไม่เหมาะสม ถึงแม้จะมีการแนะนำให้ลดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิดโดยการนำขยะอาหารไปหมักทำปุ๋ย ผลิตน้ำสกัดชีวภาพ หรือนำไปเลี้ยงสัตว์ แต่คำแนะนำดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินการที่แพร่หลายมากนัก โดยเฉพาะในเขตเมือง เนื่องจากการจัดการขยะหลายวิธีมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลา หรือพื้นที่มาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

ชูเกียรติ โกเมน คณะทำงานโครงการสวนผักคนเมืองจึงคิดค้นกล่องหมักขยะอาหารขึ้น ด้วยการนำกล่องพลาสติกเก็บของที่หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดมาดัดแปลงให้เป็นถังหมักขยะอาหารเพื่อทำปุ๋ยสำหรับปลูกพืชเพื่อให้สะดวกกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง หรือในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด

ขั้นแรกคือเริ่มจากจัดเตรียมอุปกรณ์ โดยอุปกรณ์หลักที่ใช้จะมี 1. กล่องพลาสติกสี่เหลี่ยมพร้อมฝาปิด 2. ท่อพีวีซี ขนาดเล็กเพื่อเติมอากาศเข้าไปในกล่อง 3. กะละมังสำหรับคลุกผสมขยะอาหาร 4. วัสดุอินทรีย์ที่ดูดซับน้ำได้ดี เช่นดินถุง ขี้วัวแห้ง กากกาแฟ ฯลฯ

เริ่มจากทำกล่องหมักขยะอาหาร โดยทำการติดตั้งท่อพีวีซีวางราบไปกับก้นกล่องทั้ง 4 ด้าน เจาะรูด้านบนท่อพีวีซีโดยเฉพาะมุมทั้ง 4 ด้านซึ่งเป็นจุดอับ จากนั้นเจาะรูบริเวณด้านข้างกล่องเพื่อต่อพีวีซีเสมือนเป็นท่อออกซิเจนเพิ่มอากาศเข้าไปในกล่อง แต่หากไม่สะดวกที่จะเจาะรูก็สามารถนำกล่องมาใช้เป็นกล่องหมักขยะอาหารได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ระยะเวลาในการหมักจะนานกว่า (4),(5)

วิธีการหมักขยะอาหารนั้นเริ่มจากนำเศษอาหารที่เหลือจากการปรุงและรับประทานมาใส่กะละมังแล้วคลุกเข้ากับวัสดุอินทรีย์ที่เตรียมไว้เพื่อดูดซับความชื้นจากขยะอาหารและคลุกจนเศษอาหารแห้ง สำหรับอัตราส่วนในการผสมนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของเศษอาหาร ถ้าเศษอาหารมีลักษณะเปียกแฉะอาจต้องใส่วัสดุอินทรีย์เพิ่ม ขั้นตอนนี้จะช่วยให้ขยะอาหารไม่เกิดการเน่าเหม็นระหว่างกระบวนการหมัก ถ้าเศษอาหารมีขนาดใหญ่แนะนำให้ตัดหรือหั่นให้มีขนาดเล็กลงเพื่อช่วยให้กระบวนการย่อยสลายเร็วขึ้น จากนั้นนำไปใส่กล่องหมักขยะอาหารและปิดฝาให้สนิท

เมื่อมีขยะอาหารเพิ่มในวันต่อมาก็ทำเหมือนขั้นตอนข้างต้นและเติมลงถังหมักขยะอาหารได้เรื่อย ๆ จนเกือบเต็มกล่อง จากนั้นให้พลิกขยะอาหารในกล่องเหมือนการพรวนดินทุก 7 วัน เพื่อช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยขยะอาหารได้เร็วขึ้น หากต้องการเร่งการย่อยให้เติมน้ำตาลลงไปผสม จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 14 -21 วัน ขยะอาหารก็จะกลายเป็นปุ๋ย ส่วนกล่องหมักที่ไม่มีท่อพีวีซีกระจายออกซิเจนให้พลิกขยะอาหารในกล่องทุก 3 วัน และอาจต้องปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน

ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์เมื่อสัมผัสดูแล้วจะไม่ร้อน ถ้ายังร้อนแสดงว่ากระบวนการย่อยยังไม่เสร็จ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีขยะอาหารสดหลงเหลือ ยกเว้นเศษอาหารชิ้นใหญ่ เช่น กระดูก หากนำปุ๋ยที่หมักไม่สมบูรณ์ไปใช้จะเป็นพิษกับต้นไม้ได้ ส่วนปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์แล้วนั้นสามารถนำไปผสมดินปลูกในอัตราส่วนเท่ากัน หรือถ้าต้องการใช้เป็นปุ๋ยเพิ่มสารอาหารก็สามารถนำไปใส่ให้พืชได้เลย ยิ่งใส่สม่ำเสมอทุก 15 วัน พืชยิ่งเจริญเติบโตดี

ข้อควรระวังของการหมักขยะอาหารคือความชื้น จึงไม่แนะนำให้คลุกขยะอาหารกับใบไม้แห้ง เพราะใบไม้แห้งดูดซับความชื้นได้ต่ำทำให้ขยะอาหารแฉะและอาจเกิดหนอนได้ ในขณะเดียวกันต้องปิดกล่องให้สนิทมิดชิดเพื่อป้องกันแมลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลงวัน แมลงสาบ หรือหนู

การจัดการขยะอาหารในครัวเรือนไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือยุ่งยากเกินกว่าที่จะลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ‘การลดการผลิตขยะอาหาร’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ เพียงบริโภคแต่พอดี ไม่ซื้อหรือรับประทานอาหารมากเกินจำเป็น และแบ่งปันให้กับคนขาดแคลน เท่านี้ก็สามารถช่วยลดขยะอาหาร และลดปัจจัยกระตุ้นภาวะโลกร้อนในระดับบุคคลและครัวเรือนได้อีกทางหนึ่งแล้ว

อ้างอิง

  • กรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศ (2024). Retrieved Mar 30, 2024, from https://thaimsw.pcd.go.th/report_country.php?year=2565
  • กรมควบคุมมลพิษ, ทส. ตั้งเป้า ลดสัดส่วนขยะอาหาร เหลือไม่เกินร้อยละ 28 ภายในปี 2570 ประเทศ (2024). Retrieved Mar 30, 2024, from https://www.pcd.go.th/pcd_news/31139
  • รัตนาวรรณ มั่งคั่ง, รศ.ดร. และคณะ, การบริหารจัดการขยะอาหารเชิงบูรณาการสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Integrated Food Waste Management towards Sustainable Development Goal) (2024). Retrieved Mar 30, 2024, from https://e-library.moc.go.th/book-detail/22266
  • วันทนา อรรถสถาวร, “ชูเกียรติ โกแมน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเศษขยะอาหาร สู่สวนผักกินได้- วิถีความยั่งยืนฉบับ “คนเมือง” (2022). Retrieved Mar 30, 2024, from https://www.thaiquote.org/content/247705
  • ปุ๋ยหมัก จากเศษอาหาร Zero Waste ในบ้านที่ทุกคนทำได้ (2020). Retrieved Mar 30, 2024, from https://www.baanlaesuan.com/158485/garden-farm/fertilizer-2

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด