อีกไม่นานทะเลกำลังจะตายปลาที่มนุษย์บริโภคหดหาย

ผลการศึกษาพบว่าอีก 58 ปี มหาสมุทรประมาณ 70% บนโลกจะประสบกับภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการหากินของปลาจำนวนมากที่มนุษย์บริโภค เท่ากับจะเป็นลางร้ายการเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารทะเล

การศึกษาที่นำโดย Hongjing Gong แห่งคณะสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยซ่างไห่เจี้ยวถง เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจะทำให้ทะเลและมหาสมุทรของโลกปั่นป่วนอย่างหนัก เนื่องจากระดับออกซิเจนในน้ำลดลง

ในทศวรรษที่ผ่านมามีการสังเกตเห็นการลดความเข้มข้นของออกซิเจนละลายในมหาสมุทร หรือ deoxygenation ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลและชีววิทยาเสื่อมโทรมลง ทีมงานวิจัยจึงสร้างแบบจำลองขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อคำนวณว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเลหากสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป

พวกเขาพบว่าภายในปี 2080 (พ.ศ.2623) มหาสมุทรประมาณ 70% บนโลกจะประสบกับภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจากอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ผลการศึกษายังพบว่า การลดออกซิเจนอย่างมากที่ระดับความลึกระดับกลางมหาสมุทรเริ่มเกิดขึ้นในปี 2021 ซึ่งระดับความลึกนี้เป็นที่อยู่และแหล่งหากินของปลาจำนวนมากที่มนุษย์บริโภค

การศึกษาพบว่าความลึกระดับกลางของมหาสมุทรจากความลึกประมาณ 200 ถึง 1,000 เมตร เรียกว่าโซน mesopelagic จะเป็นโซนแรกที่สูญเสียออกซิเจนจำนวนมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขต mesopelagic ทั่วโลกเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์หลายชนิด ทำให้การค้นพบครั้งใหม่นี้อาจเป็นลางร้ายที่แสดงถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขาดแคลนอาหารทะเล และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นและความสามารถเก็บออกซิเจนที่ละลายน้ำได้น้อยลง แล้วทำให้สร้างการไหลเวียนระหว่างชั้นความลึกของมหาสมุทรน้อยลง ชั้นกลางของมหาสมุทรมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการขาดออกซิเจน เนื่องจากไม่ได้อุดมไปด้วยออกซิเจนจากบรรยากาศและการสังเคราะห์ด้วยแสงเหมือนชั้นบนสุด นอกจากนี้ การสลายตัวของสาหร่ายที่เกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ออกซิเจนยังเกิดขึ้นในชั้นนี้ด้วย

แบบจำลองของการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการขาดออกซิเจนจะเริ่มส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรในระดับลึกทั้งหมดภายในปี 2080 และการลดลงของออกซิเจนนั้นอาจไม่สามารถย้อนกลับได้ นั่นคือ “เกิดแล้วเกิดเลย” แม้ว่ามนุษย์จะหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือแม้แต่จะดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศก็ตาม

นักวิจัยยังพบว่ามหาสมุทรที่อยู่ใกล้ขั้ว เช่น แปซิฟิกตะวันตกและเหนือ และมหาสมุทรทางใต้ มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อการลดลงของออกซิเจน ซึ่ง Yuntao Zhou นักสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซ่างไห่เจี้ยวถง และหนึ่งในผู้เขียนนำการศึกษากล่าวว่า “โซนนี้มีความสำคัญต่อเรามากจริงๆ เพราะมีปลาเชิงพาณิชย์จำนวนมากอาศัยอยู่การลดออกซิเจนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ เช่นกัน แต่การประมง [อาจ] อาจเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากที่สุด”

แถลงการณ์ระบุว่า การค้นพบใหม่นี้มีความน่ากังวลอย่างยิ่งและบีบให้ต้องเพิ่มความเร่งด่วนในการมีส่วนร่วมบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ

Matthew Long นักสมุทรศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NCAR) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษากล่าวว่า “ปัจจุบันมนุษยชาติกำลังเปลี่ยนแปลงสถานะการเผาผลาญของระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่ทราบผลที่ตามมาสำหรับระบบนิเวศทางทะเล นั่นอาจส่งผลอย่างมากต่อความสามารถของมหาสมุทรในการรักษาการประมงที่สำคัญ”

ข้อมูลจาก
• “Emerging Global Ocean Deoxygenation Across the 21st Century”. Hongjing Gong,Chao Li,Yuntao Zhou. First published: 19 November 2021 https://doi.org/10.1029/2021GL095370
• “Climate change has likely begun to suffocate world’s fisheries”. (1 February 2022). AGU.
ภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tsukiji_Fresh_Tuna_Auction.JPG

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน