PM2.5 เสียชีวิตสูง 4 เท่าเทียบอุบัติเหตุเชียงใหม่ตายเพิ่ม 200%

ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นภัยคุกคามสุขภาพของคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่ควรเป็นเรื่องที่ “ปีหนึ่งพูดกันครั้งหนึ่ง” เหมือนเช่นที่ผ่าน ๆ มา แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดการปัญหาให้เกิดการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนอย่างจริงจัง และมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้มีความต่อเนื่อง

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ จากหน่วยวิชาโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่ติดตามและผลักดันการแก้ไขปัญหา PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง อธิบายว่า ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 หากมองเป็นรูปปิรามิด ส่วนฐานล่างสุดคือคนที่สูดดม PM2.5 เข้าไป แต่ร่างกายยังแข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วย ส่วนกลางของปิรามิดคือผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ส่วนปลายคือผู้ป่วยที่อาการหนัก ต้องนอนโรงพยาบาลหรือเข้าห้องฉุกเฉิน และส่วนยอดสุดคือการเสียชีวิต

คุณหมอบอกว่า จากการศึกษาวิจัยเจาะลึกแค่ยอดปิรามิดพบว่า ถ้าค่าฝุ่น PM2.5 รายวันเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะทำให้มีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 1.6% ดังนั้นถ้าค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นไปถึง 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ก็จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 16% สมมุติในช่วงที่ไม่มีฝุ่น มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 10 คน แต่หากวันไหนมีฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นไป 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ก็จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1.6 คน ฟังดูอาจจะไม่มาก แต่ถ้าปกติมีคนเสียชีวิตรายวันเฉลี่ยวันละ 100 คน ถ้าเป็นช่วงที่ฝุ่น PM2.5 เพิ่มเป็น 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ก็จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 16 คน กลายเป็น 116 คน

“นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ที่ทำการวิจัยในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงที่มีมลภาวะทางอากาศสูง ๆ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์- เมษายน บางวันค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นไปถึง 200-400 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ต่อเนื่องหลาย ๆ วันด้วยซ้ำ ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงนั้น

“ยิ่งเมื่อไปศึกษาที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งมีการเผาทางการเกษตรติดอันดับ 1-2 ของเชียงใหม่ ปรากฎว่าชาวบ้านอยู่ใกล้แหล่งเผา บ้านเรือนมีสภาพเปิดโล่งมีการสัมผัสและสูด PM2.5 ทั้งกลางวันและกลางคืน ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อสูดดม PM2.5 โดยไม่มีการป้องกันทั้งกลางวันกลางคืนทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดถึง 2 เท่า” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ในแง่สาเหตุการเสียชีวิตนั้น แพทย์ไม่สามารถบอกได้โดยตรงว่ามีสาเหตุจาก PM2.5 แต่การวิจัยในระดับกลุ่มบอกได้ว่า PM2.5 เป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วม 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 ของการตายเหล่านั้น จากการเก็บข้อมูลในจังหวัดเชียงใหม่ พบสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ โรคปอดกำเริบ 2.กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 3.ภาวะติดเชื้อและช็อก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในปอด นอกจากนี้ยังมีโรคมะเร็งปอดอีกโรคหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับ PM2.5 ชัดเจน เพราะ PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง และพิสูจน์แล้วว่าถ้าสูดติดต่อกันเรื่อย ๆ หลายปี ทุก ๆ 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม./ปี ที่เพิ่มขึ้นโอกาสเป็นมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้น 7-8% แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม

ข้อมูลที่น่าตกใจจากงานวิจัยนี้ก็คือพบว่ามีนักศึกษาในเชียงใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่ป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง และเมื่อดูสถิติในภาคเหนือตอนบน สาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดคือมะเร็งปอด เคยมีการสันนิษฐานว่าคนเหนือสูบบุหรี่มากกว่าคนภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสานหรือไม่ กลับพบว่าคนเหนือสูบบุหรี่น้อยกว่า แต่อีสาน กลาง ใต้ เสียชีวิตจากมะเร็งปอดน้อยกว่าคนภาคเหนือมาก จึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับ PM2.5 ทำให้คนเหนือมีช่วงอายุขัยสั้นกว่าราว ๆ 4-6  ปี

นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังไม่ได้มีแค่ผลกระทบสะสมต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เช่น เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า บางครั้งจะพบว่าเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ได้เกิดจากไฟไหม้ แต่เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ปริมาณ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม. จะทำให้มีผู้เสียชีวิตกะทันหันเพิ่มขึ้นประมาณ 4%

ดังนั้นถ้าเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่มีมลภาวะสูงก็อาจทำให้เกิดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ หอบหืดกำเริบ หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตได้เช่นกัน

แม้ตัวเลขนี้ยังไม่ได้ทำการรวบรวมสถิติอย่างเป็นทางการ แต่ผลการศึกษาในต่างประเทศยืนยันว่าทำให้เกิดการเสียชีวิตกะทันหันได้แม้ว่าจะสูดควันภายในไม่กี่ชั่วโมง การที่ผู้บริหารระดับสูงของบางหน่วยงานบอกว่าไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เพราะจะต้องสูดเป็นวัน ๆ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดงติดกัน 3 วันถึงจะปิดโรงเรียน ความจริงก็คือผลกระทบได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว

จากการเก็บข้อมูลของ ศ.นพ.ชายชาญ มีประเด็นที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า แนวโน้มการเสียชีวิตในช่วงที่มีค่ามลภาวะทางอากาศสูง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปกติแล้ว ค่า PM2.5 ตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้อยู่ที่ 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่จากการเก็บข้อมูลในวันที่ค่า PM2.5 เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่าในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ 25 อำเภอ รวม 225 คน (ไม่รวมผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ฆาตกรรม และฆ่าตัวตาย) แต่ถ้าย้อนไปปี 2561 มีผู้เสียชีวิต 153 คน หรือย้อนกลับไปปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 86 คน เพราะฉะนั้นจากปี 2559-2562 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 200%

คุณหมอวิเคราะห์ว่า แนวโน้มการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนานขึ้นประมาณ 10-14 วัน และค่าเฉลี่ยของ PM2.5 รายวันที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 30 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เป็น 40-50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และเป็นเกือบ 60 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในปี 2562 รวมทั้งค่า Peak รายวันก็เพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

“ข้อมูลที่ผมศึกษาอาจจำกัดเฉพาะในเชียงใหม่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เหมือนกันในทุกภูมิภาคที่มีค่า PM2.5 สูง ๆ เช่น ใน กทม. หรือตามเมืองใหญ่ ๆ ที่มีมลพิษสูง ซึ่งถ้าดูข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกศึกษาในส่วนของประเทศไทย จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 ราว ๆ ปีละ 4 หมื่นคน ถือว่าเยอะพอสมควร สูงเป็น 4 เท่าของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบกด้วยซ้ำ” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงแต่ตัวเลขการเสียชีวิตซึ่งอยู่บนยอดของปิรามิดเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึงส่วนล่าง ๆ ลงมา ซึ่งได้รับผลกระทบที่กว้างกว่า เช่น การเจ็บป่วยจนต้องมานอนโรงพยาบาล ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน กว้างขึ้นไปอีกคือการเจ็บป่วย โรคกำเริบ คนที่ไม่ป่วยก็ป่วย หรือฐานที่กว้างที่สุดคือคนที่ไม่ป่วย แต่ทำให้ร่างกายมีการเสื่อม มีการอักเสบและปีต่อ ๆ ไปก็อาจจะป่วยเป็นโรคได้ตามลำดับ

จากการสังเกตของ ศ.นพ.ชายชาญ พบว่าในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงจะมีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ มาโรงพยาบาลในช่วงนั้นเยอะ ถึงจะไม่ได้ทำวิจัย แต่ก็ทราบว่ามาเยอะขึ้น แม้อาจมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น มีโรคประจำตัวอยู่แล้วกำเริบ ทานยาไม่ครบ หรือเป็นโรคใหม่ก็ได้ แต่ที่รับรู้กันทั่วโลกคือฝุ่น PM2.5 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้โรคเหล่านี้กำเริบ

“การตรวจสุขภาพก็ช่วยได้แค่ในบางโรค เช่น ถ้าวัดความดันก็อาจจะพอรู้ว่าตัวเองมีความดันสูง อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ถ้าเจอมลภาวะก็จะได้รับผลกระทบเร็วกว่าคนที่ยังไม่ป่วย แต่ถึงตรวจสุขภาพแล้วยังแข็งแรงดีก็ไม่ได้การันตีว่าปีหน้าจะแข็งแรงหรือไม่ เพราะมันมีกระบวนการอักเสบของเส้นเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ซ่อนอยู่โดยที่ไม่มีอาการ เอ็กซเรย์ดูแล้วยังปกติ แต่อาการอักเสบแบบนี้มันเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นแม้ร่างกายยังแข็งแรง แต่ปีต่อไปอาการอักเสบต่าง ๆ อาจมากจนถึงจุดที่ตรวจพบ พอถึงตอนนั้นก็กลายเป็นโรคเรื้อรังแล้ว” ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว

ความรุนแรงที่น่ากลัวอีกประการของฝุ่น PM2.5 คือมันสามารถแทรกซึมไปได้ทุกซอกทุกมุมแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการอยู่แต่ในอาคาร อพาร์ทเมนท์ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ฝุ่นขนาดเล็กประเภทนี้ก็สามารถเข้ามาได้ การเปิดแอร์เย็น ๆ ไม่ได้ช่วยลดค่าฝุ่นมากนัก ความแตกต่างระหว่างภายในและนอกอาคารมีค่าฝุ่น PM2.5 ต่างกันไม่เกิน 15-20% ดังนั้นแม้จะหลบอยู่ในตัวอาคาร แต่ถ้าไม่มีเครื่องฟอกอากาศ PM2.5 ก็เข้ามาได้แทบไม่ต่างจากอยู่ข้างนอกอาคาร

ฉะนั้นการใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันที่มาจากสาเหตุหลายปัจจัยทำให้ชีวิตจะต้องลำบากลำบนมากขึ้น ต้องมีเครื่องฟอกอากาศ มีเครื่องวัด Micro Environment พยายามควบคุมระดับไม่ให้เกิน 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ถ้าเกินก็ต้องเปิดเครื่องฟอกอากาศ เครื่องเดียวเอาไม่อยู่ก็ต้อง 2-3 เครื่อง ต้องสำรวจรอยรั่วตามผนัง บางคนที่มีเงินก็ย้ายไปอยู่กับญาติในภาคอื่น หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาพักในเชียงใหม่ก็ย้ายไปอยู่แถบทะเล พอหมดฤดูฝุ่นควันค่อยกลับมาหรือย้ายกลับประเทศ ดังนั้นถ้าคำนึงถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ มันจะมากกว่าค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพด้วยซ้ำไป

ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่หนักหน่วงในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายก็แล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องปรับนโยบายการจัดการไฟเสียใหม่ เพราะวิธีการเดิม ๆ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าประสบความล้มเหลว ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 จึงต้องไม่ใช่การไล่ตามปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอด แต่ต้องเอาจริงโดยที่ทุกคนจะต้องไม่ “ทน” อยู่กับปัญหาแบบเดิม ๆ อีกต่อไป

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด