มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อ ไม่ว่าจะเป็น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด และอาจรวมถึงโรคสมองเสื่อม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทั่วโลกพยายามปรับปรุงคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร เช่น PM 2.5 แต่คุณภาพอากาศภายในอาคารกลับถูกมองข้ามแม้ว่าอาจทำให้เสียชีวิตได้เกือบเท่าๆ กัน
ในประเทศอุตสาหกรรมคนส่วนใหญ่ใช้เวลาในอาคารประมาณ 80–90% ทั้งในบ้าน และในพื้นที่สาธารณะ เช่นที่ทำงาน โรงพยาบาล หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งโดยทั่วไปพื้นที่ดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้มาตรฐานควบคุมคุณภาพอากาศ ทั้งที่อากาศภายในอาคารประกอบด้วยสารก่อมลพิษที่หลากหลายกว่าอากาศภายนอก
อากาศภายในอาคารมีสารก่อมลพิษที่หลากหลายมากกว่าอากาศภายนอก โดยมากจะอยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds : VOCs) ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สีทาบ้าน น้ำยาทำความสะอาด สารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ สีย้อมผ้า หรือแม้แต่เชื้อราบนผนัง หรือเพดานห้องที่เกิดจากความอับชื้น ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของสหราชอาณาจักรระบุว่าการเสียชีวิตของ อวอบ อิชาค (Awaab Ishak) เด็กชายวัย 2 ขวบ เกิดจากการสัมผัส ‘เชื้อราดำ’ เป็นเวลานานในแฟลตของครอบครัว
ธันวาคม 2563 อวอบมีอาการคล้ายไข้หวัดและหายใจลำบาก ครอบครัวจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา ซึ่งหลังจากกลับบ้านได้สองวัน อาการอวอบแย่ลงอีกครั้ง และถูกนำตัวส่งศูนย์ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินรอชเดล แพทย์พบว่าอวอบมีภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นระบบหายใจไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลรอชเดลเป็นการด่วน แต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลหัวใจน้องก็หยุดเต้นแล้ว
จากการพิจารณาคดีมีการเข้าไปตรวจสอบห้องที่อวอบอาศัยอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่าทั้งห้องน้ำและห้องครัวมีความชื้นและราดำสูง จากคำให้การของครอบครัวอวอบระบุว่าในปี 2560 หนึ่งปีก่อนที่อวอบจะเกิด ได้รายงานเรื่องความชื้นและเชื้อราไปทางบริษัทผู้ให้เช่า ซึ่งได้คำแนะนำกลับมาว่าให้ทาสีทับ หลังจากนั้นหนึ่งปีเชื้อราก็กลับมาและแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น โดยครอบครัวพยายามส่งคำร้องขอย้ายห้องอยู่หลายครั้งก่อนที่อวอบจะเสียชีวิต
แม้อวอบจะคลอดก่อนกำหนดที่ 31 สัปดาห์ แต่จากประวัติโรงพยาบาลระบุได้ว่าอวอบแข็งแรงดี พ่อแม่ของอวอบล่าวว่าลูกชายของพวกเขาเป็นเด็กที่ยิ้มง่าย ร่าเริง ชอบเรื่องตลก ชอบปั่นจักรยานของเขา
ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ให้เช่าออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของอวอบ และระบุว่าไม่ทราบว่าเชื้อราในบ้านจะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสุขภาพของน้อง จากนี้จะเข้มงวดเรื่องความชื้นและเชื้อราในห้องที่ปล่อยเช่ามากขึ้นเพื่อให้มาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำ
เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในอาคารที่อับชื้นและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก การสูดดมสปอร์ของเชื้อราเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โดยในระยะแรกจะกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืด และในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในหลอดลม และปอดอักเสบตามมา
แม้ปัจจุบันงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในอาคารยังมีน้อยกว่าอากาศภายนอกอาคาร แต่ไม่ได้หมายความมลพิษอากาศจะมีแต่ภายนอกเท่านั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและออกมาตรการเพื่อหาวิธีแก้หรือป้องกันมลพิษอากาศในอาคาร
ที่มา :
- Feb 8, 2023. Hidden harms of indoor air pollution — five steps to expose them. Nature
- Nov 15, 2022. Death of two-year-old from mould in flat a ‘defining moment’, says coroner. The Guardian
- Nov 13, 2022. A ‘happy, smiley baby’ harmed by ‘disgusting’ mould: What we’ve heard so far in the Awaab Ishak inquest. Manchester Evening News
- Exposure and Health Effects of Fungi on Humans. NIH
ภาพจาก: news.sky.com