สกัดดีเอ็นเอสำเร็จ 95%ชุบชีวิตหนูสูญพันธุ์ 120 ปีก่อนลุ้นตัดต่อพันธุกรรมสัตว์ใกล้เคียง

ชาวโลกเริ่มพูดถึงความคิดที่จะนำสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง นับตั้งแต่มีภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park โดยมีแนวคิดตั้งแต่แมมมอธไปจนถึงสัตว์ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนมาก ๆ เช่น ไทลาซีนหรือเสือแทสเมเนียน ส่วนการคืนชีพไดโนเสาร์ยังไม่มีใครกล้าทำ

ในบรรดาสัตว์ใหญ่ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วพวกนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์กลับเลือกที่จะคืนชีวิต “หนูเกาะคริสต์มาส” ( Rattus macleari) ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 120 ปีก่อน จากการมาถึงของหนูแผ่นดินใหญ่พร้อมกับนักสำรวจชาวตะวันตกที่เดินทางมายังเกาะคริสต์มาสในปี 1886

พยาธิร้ายแรงที่อยู่ในหนูแผ่นดินใหญ่ทำให้หนูเกาะคริสต์มาสที่อยู่บนเกาะโดดเดี่ยวไม่เคยพบเจอมาก่อน ในเวลาไม่นานพวกมันก็ล้มตายลงทีละน้อย ๆ กระทั่งหายไปจนหมดเกาะในปี 1903

Cr: Scienceblog

ทีมนักวิทยาศาสตร์คิดที่จะฟื้นคืนชีพพวกมันจากการสกัดดีเอ็นเอและการตัดต่อพันธุกรรม กระบวนการนี้เรียกว่า de-extinction หรือการสวนกลับการสูญพันธุ์ พวกเขากำลังจะใกล้ประสบความสำเร็จแล้ว และเผยแพร่ความคืบหน้าในวาสาร Current Biology

มี 3 วิธีในการนำสัตว์ที่สูญพันธุ์กลับคืนมานั่นคือ 1. ทำการผสมพันธุ์สัตว์เกี่ยวพันกับญาติของมันที่สูญพันธุ์ไปเพื่อคัดลักษณะที่สูญเสียไป 2. ทำการโคลนนิ่งซึ่งใช้ในการสร้างเกาะดอลลี่ มีสัตว์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งตัวแรกในปี 1996 และ 3. ข้อสุดท้ายคือการแก้ไขทางพันธุกรรม ซึ่งทีมงานนี้กำลังพิจารณาความเป็นไปได้อยู่

แนวคิดของวิธีที่ 3 คือการนำดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ของสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้วมาเปรียบเทียบกับจีโนมของสายพันธุ์สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จากนั้นใช้เทคนิค อย่างเช่น CRISPR เพื่อแก้ไขจีโนมของสายพันธุ์สมัยใหม่ในจุดที่มีความแตกต่างกัน

จากนั้นเซลล์ที่ผ่านการแก้ไขแล้วจะสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างตัวอ่อนที่ฝังอยู่ในโฮสต์ตัวแทน (หรือคล้าย ๆ กับแม่อุ้มบุญในมนุษย์) ฟังดูแล้วเหมือนง่าย เพราะนี่เป็นการอธิบายคร่าว ๆ เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ในทีมนี้บอกว่า “ดีเอ็นเอเก่า” หรือของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นเหมือนหนังสือที่ผ่านเครื่องทำลายเอกสารจนเป็นชิ้น ๆ ไปแล้ว ในขณะที่จีโนมของสายพันธุ์สมัยใหม่ก็เหมือน “หนังสืออ้างอิง” ที่ไม่บุบสลาย สามารถใช้อ้างอิงประกอบชิ้นส่วนของ “ดีเอ็นเอเก่า” ที่กระจัดกระจายได้

Cr: Pixabay_blende12

ตอนนี้พวกเขาประสบความสำเร็จในการระบุจีโนมของหนูเกาะคริสต์มาสเกือบทั้งหมดแล้ว (ซึ่งยากสุด ๆ) และพบว่าญาติใกล้ชิดกับหนูเกาะคริสต์มาสในสัดส่วนถึง 95% คือหนูบ้าน (Rattus norvegicus) ที่ยังไม่สูญพันธุ์ แถมยังมีมากมายและอยู่ร่วมกับมนุษย์เป็นโขยงอีกต่างหาก

ถึงหนูบ้านจะมีมากและมีอัตราส่วนจีโนมใกล้เคียงกับหนูเกาะคริสต์มาสถึง 95% ปัญหาไม่ได้อยูตรงนั้น เพราะอีก 5% ที่หายไปนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถกู้คืนมาได้ ส่วนที่หายไปคือจีโนมที่ควบคุมกลิ่นและภูมิคุ้มกัน และพวกเขายอมรับว่าอาจจะไม่มีวันกู้คืนส่วนที่หายไปนี้ได้เลย

หมายความว่าพวกเขาสามารถคืนชีพหนูเกาะคริสต์มาสขึ้นมาได้อีกครั้งก็จริงจนดูจะเหมือนเดิม แต่มันจะขาดการทำงานที่สำคัญของร่างกาย และเป็นส่วนสำคัญเพราะอาจเป็นจุดเด่นของพวกมันที่เกิดขึ้นหลังทั้งสองสปีชีส์มีวิวัฒนาการแยกจากกันเมื่อประมาณ 2.6 ล้านปีก่อน

5% ที่หายไป คือสิ่งที่ขวางความสำเร็จแค่เอื้อม และคืออุปสรรคที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะพบหากคิดจะฟื้นคืนสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ยิ่งจีโนมใกล้เคียงหายากมากขึ้นเท่าไร่ ความยากก็จะมีมากขึ้นเพราะเปอร์เซนต์ของจีโนมที่หายไปจะมีมากขึ้น เรื่องนี้ทำให้การคืนชีพไดโนเสาร์หรือแมมมอธจึงเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก หากเทียบกรณีหนูตัวเล็ก ๆ ที่เพิ่งสูญพันธุ์ไปแค่ร้อยกว่าปี

แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะตัดต่อพันธุกรรมสัตว์ใกล้เคียงกับพวกที่สูญพันธุ์ไป เช่นสร้าง “แมมมอธสายพันธุ์ใหม่” โดยตัดต่อพันธุกรรมของช้างเพื่อให้พวกมันมีขนาดมากพอที่จะเอาตัวรอดจากความหนาวเย็นได้ หรืออาจจะสร้างสิ่งที่หน้าตาเหมือนแมมมอธขึ้นมาจากจีโนมที่พอจะแกะได้ ซึ่งมันก็ยังไม่ใช่ของเดิม 100% อยู่ดี

ข้อมูลจาก
• “Study shows how gene editing can bring extinct rats back to life”. (March 10, 2022). CBS.
• John Kidman. (March 13, 2022) “Science working to ‘de-extinct’ Aussie rat”. 7News.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน