อธิบดีกรมลดโลกร้อนแนะทุกภาคส่วนปรับตัวรับมือผลกระทบจากภาวะโลกเดือดที่จะรุนแรงมากขึ้น ใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะสูงเกิน 1.5 องศา
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดพิธีปิด “โครงการการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย” แสดงผลสำเร็จโครงการฯ สร้างความร่วมมือ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ พร้อมขยายผลความสำเร็จ Best practices 4 จังหวัดนำร่อง สู่ 18 จังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพิธีปิดตอนหนึ่งว่า จากรายงาน Global Climate Risk Index ของ German watch ในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงภัยต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
ผมย้ำอีกครั้งความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ มีอยู่ปัจจัยเดียวที่จะสำเร็จได้ คือความเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ถ้าไม่มี 3 สิ่งนี้นะครับ ท่านทำอะไรไม่มีวันสำเร็จ ต้องทำให้หุ้นส่วนนี้มันเกิดขึ้นในทุกพื้นที่และเกิดในมิติที่หาทางออกร่วมกันให้ได้ อะไรที่มันสุดโต่งเกินไปมันไม่ดี อะไรที่มันหย่อนยานเกินไปมันก็ใช้ไม่ได้
ผลกระทบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อน ทำให้ความเสี่ยงและความเปราะบางของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบนิเวศแนวปะการัง ป่าชายเลน และหญ้าทะเล เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งนิเวศบริการที่สำคัญให้กับชุมชนชายฝั่ง
“ภัยต่างๆ ที่เราเจอหลายรูปแบบ ชายฝั่ง และชุมชนบริเวณชายฝั่งนั้นถือว่าได้รับผลกระทบมากมายในหลายเหตุการณ์จากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าไต้ฝุ่นที่รุนแรงอย่างมากหรือจะเป็นไซโคลนหรือเฮอร์ริเคนที่อเมริกากำลังเผชิญอยู่หลายลูก สิ่งเหล่านี้มีระยะเวลาในการพัฒนาผลกระทบเร็วกว่าเดิมมาก
เป็นตัวบ่งบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี่แหละ การที่โลกมันเดือด การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทั้งผิวน้ำ ผิวดินและในอากาศมันเพิ่มขึ้นในปี 2023 ข้อมูลนาซ่า 1.3 องศา มันกำลังส่งผลกระทบ และในปีนี้ทั้งปีอาจจะถึง 2.4 องศาและใน 5 ปีข้างหน้า IPCCC บอกชัดว่า 80% ที่ปีใดปีหนึ่งใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสทั้งปี”
ดร.พิรุณ กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพิงฐานทรัพยากรเพื่อการเกษตรกรรม ประมง และท่องเที่ยว ยื่งทำให้ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด มีความยาวประมาณ 3,148 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยจึงได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างการมีภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ดำเนิน “โครงการการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย (Increasing resilience to climate change impacts in marine and coastal areas along the Gulf of Thailand)” ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว Green Climate Fund (GCF) จำนวนเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินการในพื้นที่ 18 จังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย โดยนำร่องใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จ.ระยอง เพชรบุรี สงขลา และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 เป็นระยะเวลา 4 ปี
จากความร่วมมือในการดำเนินโครงการจึงทำให้เกิดเป็นความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ด้าน 1) ข้อมูลความเสี่ยงระดับพื้นที่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา 2) พัฒนาขีดความสามารถและองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนการปรับตัว ฯ ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงในพื้นที่
3) มาตรการทางเลือกที่ใช้ในกระบวนการปรับตัว เช่น ธนาคารสัตว์น้ำ ซั้งปลา กำแพงกั้นคลื่น การฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อให้หน่วยงานระดับพื้นที่ทราบถึงความต้องการการสนับสนุนสำหรับการดำเนินงานของพื้นที่ 4) พัฒนาตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับภาคการท่องเที่ยว การเกษตรและการประมง และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการบูรณาการสู่แผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งในการประชุม COP29 จะมีการดูว่าแต่ละประเทศมีตัวชี้วัดอย่างไร
5) แพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ปี 2568 กรมฯ จะทำศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ ข้อมูลจากโครงการนี้จะถูกเชื่อมโยงเข้าไปในฐานข้อมูลของกรมฯ และถูกนำไปขยายผลต่อ
และ 6) กลยุทธ์การจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง (ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตรและประมง และทรัพยากรธรรมชาติ) สำหรับแนวทางในการบูรณาการ ขยายผลการดำเนินงานสู่แผนงานในอนาคต ทางกรมฯ จะนำโครงการฯ นี้ไปขยายผลซึ่งมีเงินจากหลายแหล่งและเขาให้ความสำคัญกับการปรับตัวมากเพราะผลกระทบรุนแรงมากขึ้น โดยไทยเป็นประเทศเปราะบางและได้รับผลกระทมากเป็นระดับ 10 ของโลก แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส ถ้าไม่ลงมือทำก็จะเป็นความฝันที่ล่องลอย เพราะฉะนั้นต้องลงมือทำและไปเอาเงินจากแหล่งเงินต่างๆ เข้ามาช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทย
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนในอนาคตเรามีแผนการปรับตัวแห่งชาติและได้ส่งให้เลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียบร้อยแล้วและบังเอิญความเปราะบางใน 6 สาขาของไทย ตรงกับที่ทั้งโลกเขามอง 197 ภาคสมาชิกใน COP28 บอกว่านี่แหละคือสาขาที่เปราะบางเหมือนกันทั้งโลก เกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การจัดการน้ำ ท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุข และการตั้งถิ่นฐานและความมั่งคงของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม จะรอแผนระดับชาติเสร็จอย่างเดียวไม่ได้ ระดับพื้นทื่ต้องทำขึ้นมาเพื่อให้ชนกันเร็วที่สุด ในปี 2568 จะทำแผนเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบร่วมกับ 7 กระทรวง ซึ่งได้ MOU กับกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว เหลืออีก 6 กระทรวง เพื่อเปลี่ยนแผนระดับชาติไปสู่แผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวของประเทศ เรื่องที่สองก็คือการจะนำแนวปฏิบัติที่ดีที่นำร่องใน 4 จังหวัดไปใช้ให้ได้ใน 18 จังหวัด
นอกจากนั้นจะมีโครงการเรือธงหรือ Flagship Project เข้าไปอยู่ในแผนปฏิบัติการด้วย เพื่อจะได้โครงการลักษณะนี้นำร่องและขยายผลได้ง่ายขึ้น
และสุดท้ายคือการ Mapping ทางการเงินซึ่งวันนี้มีช่องทางการหาเงินได้หลากหลายมากขึ้น อย่าง Green Climate Fund เป็นแค่หนึ่งในกลไกทางการเงินที่จะเข้าถึง ไทยไม่เคยขอเงินจากกองทุนการปรับตัว ทุกทีเราแค่ไปขอมีส่วนร่วมกับเขา คนอื่นคิดมาแล้วเราเข้าไปร่วม วันนี้ไทยอาจจะต้องเป็นตัวหลักถ้าเราจะทำโครงการปรับตัว แล้วเอาเงินมาลงในพื้นที่ ให้ประเทศในอาเซี่ยนมาร่วมกับเราด้วย เราต้องคิดอย่างนี้แล้วปรับวิธีการใหม่ เราจะสามารถดึงเงินเข้ามาได้ เพราะเงินมีอยู่แล้ว
“แต่เราเก่งแค่ไหนที่จะเอาเงินนั้นมาเพื่อมาช่วยขับเคลื่อนในเมืองไทยให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่จะต้องทำให้มันเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งกองทุนการสูญเสียและเสียหาย (Lost and Damage) ที่ตั้งขึ้นใหม่ กรมฯ ที่จะไปประชุม COP29 ก็ต้องให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะอยู่ในลิสต์จะเข้าถึงเงินนั้นได้ ถ้าเอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปต่อยอดให้เป็นรูปรรม มีแผนงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มันถึงจะ Sustain ในเรื่องนี้ได้ ไม่งั้นมันยากมากเลย ผมเข้าใจว่าปัญหาในพื้นที่มันซับซ้อนไม่ได้มีแค่เรื่อง Climate Change
“ผมย้ำอีกครั้งความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ มีอยู่ปัจจัยเดียวที่จะสำเร็จได้ คือความเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ถ้าไม่มี 3 สิ่งนี้นะครับ ท่านทำอะไรไม่มีวันสำเร็จ ต้องทำให้หุ้นส่วนนี้มันเกิดขึ้นในทุกพื้นที่และเกิดในมิติที่หาทางออกร่วมกันให้ได้ อะไรที่มันสุดโต่งเกินไปมันไม่ดี อะไรที่มันหย่อนยานเกินไปมันก็ใช้ไม่ได้
“เราต้องหาจุดที่เหมาะสมให้ได้ในการที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนผ่านความท้าทายที่ยากลำบากในช่วงเวลาเหล่านี้ ภายใต้กลไกที่เราจะเข้าถึงและนำมาสนับสนุนประเทศให้ทำงานเรื่องนี้ได้ ผมไม่อยากพูดคำนี้ แต่ว่าผลกระทบในวันข้างหน้ามันจะรุนแรงมากขึ้น มันจะยังรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ท่านเคยเห็นในวันนี้ เพราะผลการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศทั่วโลกมันยังไม่เข้าสู่แนวทางที่ทั้งโลกอยากเห็น มันยังสูงกว่าที่เราไม่อยากให้อุณหภูมิเฉลี่ยที่ 1.5 องศา
“เพราะฉะนั้นผลกระทบในอนาคตมันจะรุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องปรับตัวให้ได้กับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้และเป้าหมายสุดท้ายเราต้องการสร้างประเทศและสังคมไทยที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถที่จะพัฒนาร่วมกับทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ดร.พิรุณได้เป็นประธานในพิธีปิดร่วมกับ อิริน่า กอร์ยูโนวา (Irina Goryunova) รองผู้แทนประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567
ด้าน ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในพิธีปิด “โครงการการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย” หัวข้อ “ความเร่งด่วนในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศผ่านมุมมองด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศ” ตอนหนึ่งว่า “เห็นตรงกันโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ การอนุรักษ์ธรรมชาติชาติเป็นเรื่องที่ดี แต่ท้ายสุดต้องพูดเรื่องเงิน ต้องไปขอเงิน Lost & Damage Fund แต่อีกฝ่ายก็ไม่ให้เงินตามที่ขอ สัญญาไว้ก็ยังให้มาไม่พอ ตกลงเมืองไทยจะได้เงินไหมดีกว่า”
สถานการณ์โลกร้อนที่กำลังอยู่ในขณะนี้ อาจารย์ธรณ์บอกว่า ปะการังฟอกขาวไม่เคยพินาศย่อยยับมากเท่านี้มาก่อน และฟื้นฟูยาก เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลมีแต่จะสูงขึ้น
“อย่างเชียงรายที่ท่วมก็มาจาก Rain Bomb มาจากโลกร้อนก็ได้เงินเยียวยา พี่น้องชายฝั่งกุ้งปูหายไปก็ไปฟ้องศาลปกครองมันต่างอะไรกับเชียงราย ก็มาจากภัยพิบัติที่มาจากโลกร้อนเหมือนกัน ซึ่งภัยพิบัติได้เงินเยียวยา แต่กุ้งปูที่หายไปยังไม่มี ไม่มีใครทำ ก็ไปรวมกลุ่มฟ้องศาลปกครอง บอกว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่นี้ทำไมได้รับความเดือดร้อน ได้รับอิมแพ็กเยอะ ก็ไปฟ้อง อีกอย่างก็คือย้ายถิ่น ตรงไหนไม่ไหวก็ย้ายเถอะ มันไม่ไหว ไม่มีวี่แวว น้ำมันร้อนขึ้น จะให้สัตว์น้ำมันกลับมายังไง อะไรคือเหตุผลให้ (อุณหภูมิปกติ) มันกลับมา น้ำเขียวมันจะลดลงได้ยังไง ช่วยอธิบายหน่อยในเมื่อกลไกของโลกมันกลายมาอยู่รูปแบบนี้”
อาจารย์ธรณ์ กล่าวด้วยว่า “เรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ท่วมหรอก ไม่ท่วม ผมรับประกันล้านเปอร์เซนต์ว่าไม่ท่วม (จม) ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าใครมันจะบ้าให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่ะ เราจ่ายเงินเท่าไหร่จนกรุงเทพฯ ถึงปัจจุบัน 20 ล้านล้าน 30 ล้านล้าน รถไฟฟ้า 14 สาย ตึกตึกมากมาย ใครมันจะยอมให้ท่วม ฉะนั้นถึงเวลา…ก็สร้างกำแพงรอบกรุงเทพฯ ทั้งกรุงเทพฯ มันก็ทำได้ นิวออร์ลีนก็ทำได้ ปัญหาก็คือทำได้แค่กรุงเทพฯ พี่น้องที่อยู่ตามลุ่มน้ำต่างๆ ไม่ว่าระยอง สงขลา หรือที่ต่างๆ ไม่มีหรอก ใครจะไปสร้างให้ กำแพงละ 5 แสนล้าน…”
นักวิชาการด้านทะเล กล่าวว่า โลกมีแต่จะร้อนขึ้น การลดไม่เป็นจริง มีแต่จะร้อนกว่านี้ ข้อตกลงปารีสตกลงไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ปีที่แล้วอุณหภูมิ 1.47 ข้อตกลงคือภายในปี 2100 จะไม่ให้เกิน 1.5 ปีนี้ก็จะแตะ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว การเจรจาก็จะมีการสัญญากันใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะทำอันเก่าไม่ได้ จากข้อตกลงปารีสก็จะมีสัญญาอื่นมาอีก
นอกจากนี้ World Economic Forum ปี 2024 บอกว่า จะมีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งสภาพอากาศสุดขั้ว หรือเกิด Rain Bomb ซึ่งไทยมีหนึ่งหมื่นกว่าหมู่บ้านที่เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมดินถล่ม มีแผนที่รายจังหวัด ภูเก็ต พังงาไม่รอด อันดามันทั้งหมด ส่วนปะการังฟอกขาว เกิดมาไม่เคยพินาศย่อยยับขนาดเท่านี้มาก่อน และไม่มีทางจะฟื้นฟูได้ รวมถึงหญ้าทะเล เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลมีแต่จะร้อนขึ้น