เติร์กเมนิสถานพยายามอีกครั้ง สั่งปิด ‘ประตูสู่นรก’ หลังลุกโชนมานานกว่า 50 ปี

ปล่องก๊าซดาร์วาซา (Darvaza gas crater) หรือที่เรียกว่า “ประตูสู่นรก” หรือ “ประตูนรก” เป็นทุ่งก๊าซธรรมชาติกลางทะเลทรายคาราคุมที่ทรุดตัวลงจนกลายเป็นเหมือน “ถ้ำ” ใกล้เมืองดาร์วาซา เติร์กเมนิสถาน

สภาพของมันคือหลุมที่ยุบลงไปท่ามกลางท้องทุ่งกว้าง ในหลุมมีเปลวไฟลุกโชนตลอดเวลา ยิ่งในเวลาโพล้เพล้ยิ่งทำให้ดูเหมือนปากทางเข้าของแดนนรกยังไงยังงั้น

ตอนแรกมันก็ยงเป็นท้องทุ่งดี ๆ นี่เอง แต่ในปี 2514 วิศวกรคิดว่า ใต้ดินน่าจะมีแหล่งน้ำมันจึงทำการตั้งแท่นขุดเจาะ และลงมือปฏิบัติการเพื่อประเมินปริมาณน้ำมันที่มีอยู่ในไซต์งาน

ไม่นานหลังจากการสำรวจเบื้องต้นแทนที่จะพบน้ำมัน กลับพบหลุมก๊าซธรรมชาติ แถมพื้นดินใต้แท่นขุดเจาะ และค่ายพักพังลงกลายเป็นหลุมกว้าง และแท่นขุดเจาะถล่มลงอีกด้วย แต่ยังดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บ

ด้วยความที่กลัวว่าจะมีการปล่อยก๊าซพิษที่เป็นอันตรายออกจากถ้ำไปยังเมืองใกล้เคียง วิศวกรเห็นว่า ควรเผาแก๊สทิ้ง พวกเขาคาดว่าก๊าซจะเผาไหม้หมดภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่กลายเป็นว่า มันเผาไหม้มาต่อเนื่องเป็นเวลา 51 ปีแล้ว

คำถามก็คือทำไมมันถึงไม่ดับซะที? เพราะในหลุมมีช่องก๊าซใกล้ผืนผิวอยู่ เมื่อพื้นดินจมลงไป มันจึงปล่อยให้ก๊าซธรรมชาติที่ค่อย ๆ ออกจากแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ลึกกว่ามากขึ้นมาทีละน้อย

ประตูนรกมีชื่อเสียงโด่งดังมากในช่วง 7 – 8 ปีมานี้ หลังจากถูกเผยแพร่ผ่านรายการของ National Geographic Channel ในปี 2557 และยังเป็นฉากหนึ่งในภาพยนต์เรื่อง Godzilla ในปีเดียวกันด้วย และหลังจากนั้นมันก็อยู่ในความสนใจเรื่อยมา

ปัจจุบันหลุมที่มีความกว้าง 70 เมตรและความลึก 20 เมตร เปลวไฟบางเปลวสูงถึง 10-15 เมตร และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเติร์กเมนิสถาน เพราะได้กลายเป็นแลนด์มาร์กที่ทำให้ชาวโลกจดจำได้ว่า “ที่นี่คือเติร์กเมนิสถาน”

สื่อรัสเซียบรรยายว่า “สิ่งใดที่เข้าไปข้างในไม่สามารถออกไปได้อีกต่อไป สิ่งมีชีวิตใด ๆ (ที่เข้าไป) ถือว่าจบสิ้นแล้ว เมื่อเดินสู่โลกหลังความตายผ่าน “ประตู” เหล่านี้ ไม่มีใครที่จะกลับมาได้อีก”

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 นักเดินทางและนักสำรวจชื่อดัง จอร์จ โคโรนิส (George Coronis) จากแคนาดาได้ลงไปยังก้นปล่องเพื่อทำการวิจัย และเก็บตัวอย่างโดยสวมชุดป้องกันความร้อนเหมือนการสำรวจภูเขาไฟ

ที่นั่นเขาได้ค้นพบแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่ด้านล่างของปล่องภูเขาไฟที่ทนทานอุณหภูมิสูงได้ แบคทีเรียเหล่านี้ไม่พบที่ใดบนพื้นผิวโลก การสำรวจนี่เองที่เขาได้พบระบบนิเวศขนาดเล็กที่ “ปากประตูนรก” อันน่าทึ่ง

เคยมีความพยายามจะดับมันมาครั้งหนึ่งแล้ว ในเดือนเมษายนปี 2553 โดยประธานาธิบดีกูร์บันกูลือ เบร์ดือมูฮาเมดอว์ แห่งเติร์กเมนิสถาน แต่ไม่สำเร็จ ในปี 2556 เขาจึงได้ประกาศปากทางสู่นรกเป็นเขตสงวนทางธรรมชาติซะเลย

ต่อมาในปี 2561 ประธานาธิบดีเบร์ดือมูฮาเมดอว์ยังได้เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า “แสงเรืองรองแห่งคาราคุม” แต่ถึงกระนั้นเขาคงมีความคิดที่จะถมหลุมนี้เรื่อยมา เพราะคิดว่ามันกระทบต่ออุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติของประเทศ

ล่าสุดในเดือนมกราคม 2565 ประธานาธิบดีคนเดิมแห่งเติร์กเมนิสถานเริ่มความพยายามอีกครั้ง โดยสั่งให้หาทางปิดปากประตูนรกแห่งนี้ให้ได้

เบร์ดือมูฮาเมดอว์บอกว่า ประตูนรกแห่งนี้ “ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง” และ “เรากำลังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าซึ่งเราสามารถได้รับผลกำไรจำนวนมากและนำไปใช้เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนของเรา”

ตอนนี้ เบร์ดือมูฮาเมดอว์สั่งให้รองนายกรัฐมนตรีชาคิม อาบรัคมานอฟ ผู้ดูแลอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ค้นหาวิธีการดับปล่องก๊าซด้วยความช่วยเหลือของนักวิทยาศาสตร์ และหากจำเป็นก็ให้ขอความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

ข้อมูลจาก
• “Turkmenistan plans to extinguish vast gas crater fire dubbed ‘Gateway to hell’”. (January 8, 2022). Agence France-Presse.
• Wikipedia contributors. “Darvaza gas crater.” Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 8 Jan. 2022. Web. 9 Jan. 2022.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน