ขุดบิตคอยน์ปล่อยคาร์บอนพุ่งใช้ไฟฟ้ามากกว่าชาวอเมริกันต้องปลูกต้นไม้แทน 300 ล้านต้น

ในขณะที่ตลาดคริปกำลังเจอกับภาวะตลาดล่มจนทำให้นักลงทุนก่ายหน้าผากไปตาม ๆ กัน แต่มันยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ “นักไม่ลงทุน” กังวลกับตลาดคริปโต ก็คือการใช้พลังงานมหาศาลของพวกมัน

แน่นอนว่าคริปโตมีจำนวนจำกัด แต่การขุดพวกมันมาใช้ต้องใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งบางคนบอกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์การลงทุนก็ไม่เห็นจำเป็นจะต้องทำแบบนั้นเลย นี่เป็นปัญหาที่วงการคริปโตกำลังแก้

ในบรรดาคริปโต Bitcoin ใช้พลังงานมากที่สุดในปี 2020 โดยสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 59.9 ล้านตันในเวลาเพียงสิบสองเดือน และเพื่อที่จะชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยไปนี้ โลกเราจำเป็นต้องปลูกต้นไม้ถึง 299.6 ล้านต้น

Ethereum ใช้พลังงานมากที่สุดเป็นอันดับสองสำหรับการทำธุรกรรมแต่ละครั้งที่ใช้ 62.56 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ 42.5 กิโลกรัมต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง

แม้จะมีประสิทธิภาพมากกว่า Bitcoin มาก แต่ก็ยังมีต้นทุนพลังงานที่สูงมากซึ่งก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะใน 1 วัน Ethereum มีการทำธุรกรรมมากถึง 1.328 ล้านครั้ง

รวม ๆ แล้ว ทั้งปี (ตัวเลขปี 2020) Ethereum ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 16.6 million ตัน ถ้าจะออฟเซตคาร์บอนพวกนี้ จะต้องปลูกต้นไม้มาชดเชยถึง 84.3 ล้านต้น

อันดับที่ 3 คือ Bitcoin Cash ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ 12.8 กิโลกรัมต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง อันดับ 4 คือ Litecoin ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ 12.6 กิโลกรัม และอันดับที่ 5 คือ Cardano ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ 372.7 กรัม

พวกนี้ดูเหมือนจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าโทเค็นดัง ๆ แบบเทียบไม่ติด แต่รู้หรือไม่ว่าเพราะการระดมขุดพวกมันทำให้โทเค็นพวกนี้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุด

เช่นในปี 2020 การขุด Bitcoin Cash ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาโทเค็นต่าง ๆ โดยมากถึง 748% ตามด้วย Cardano เพิ่มขึ้น 551.35% และ Stellar เพิ่มขึ้น 189.60%

ดังนั้น เหรียญใหม่ ๆ ที่ออกมาสนองนักลงทุนมันจึงเป็นการทำลายโลกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าบางเหรียญจะพัฒนาวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมากกว่าเดิม แต่มันก็ไม่ใช่ทุกเหรียญ

ณ เดือน มี.ค. 2022 มีคริปโต 18,465 สกุลที่หากไม่นับคริปโตที่ “ตาย” ไปแล้วจำนวนมากจะเหลือที่ใช้งานอยู่ประมาณ 10,363 สกุล ซึ่งก็ยังมากอยู่ดี และมีผู้ใช้สกุลเงินคริปโตมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก

ดังนั้น จะดีไหมหากนักลงทุนคริปโตจะต้องเจียดรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็น “ภาษีสีเขียว” เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาโลกร้อน? เหมือนกับการใช้รถยนต์บางประเทศต้องเสียภาษีเพิ่มเติมในใช้งานฐานที่มันทำการปล่อยมลพิษ

ล่าสุด องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่นำโดย Greenpeace USA คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและ Earthjustice ได้ยื่นความเห็นต่อทำเนียบขาวในเดือนนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไบเดนดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโตที่ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เช่น Bitcoin

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ประเมินว่า การขุด Bitcoinในปัจจุบันใช้ไฟฟ้ามากกว่าที่ชาวอเมริกันใช้ในการจ่ายไฟให้กับหลอดไฟและโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาเสียอีก

และมากกว่าไฟฟ้าที่ประเทศโปแลนด์และสวีเดนทั้งหมดใช้ในหนึ่งปี The Environmental Working Group (EWG) จึงชี้ว่าการลดการปล่อยมลพิษจากการขุดคริปโตจะมีความสำคัญหากเราต้องบรรลุเป้าหมายของฝ่ายบริหารในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

EWG ชี้ว่า คริปโตต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต เพราะการขุดคริปโตงานไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานของรัฐหรือรัฐบาลกลาง หรือข้อจำกัดด้านมลพิษ

เคนคุก (Ken Cook) ประธาน EWG ถึงขนาดกล่าวว่า “สกุลเงินแห่งอนาคตกำลังลากเรากลับไปสู่อดีต ในขณะที่เราต้องกอบกู้โลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ข้อมูลจาก
• https://www.ewg.org/news-insights/news-release/2022/05/biden-administration-must-rein-electricity-intensive
• https://forexsuggest.com/global-impact-of-crypto-trading/
• https://explodingtopics.com/blog/number-of-cryptocurrencies
ภาพ

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย