‘ไก่ฟ้าหน้าเขียว’ สัตว์คุ้มครอง อวดโฉมรอบ 50 ปี ป่าชุมพร

ไก่ฟ้าหน้าเขียว ออกมาอวดโฉมในรอบ 50 ปี ณ จุดสกัดทับอินทนิล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน เสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) ไก่ฟ้าชนิดนี้มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้

ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Crested Fireback Pheasant) ต่างจากไก่ฟ้าชนิดอื่นๆ มีความสวยงามโดดเด่นโดยแผ่นหนังที่หน้าสีฟ้า ขณะที่ไก่ฟ้าชนิดอื่นแผ่นหนังหน้าจะมีสีแดง เพศผู้ มีความยาวล าตัว 67 – 72 เซนติเมตร เป็นส่วนหาง 33 – 36 เซนติเมตร ส่วนหัวและคอสีดำมีหงอนสีม่วงปนดำยาว

ลำตัวและปีกสีเทามีลายขีดละเอียดสีดำ ตอนบริเวณกลางแผ่นหลังมีสีทองเป็นแวว ค่อยๆ กลายเป็นสีทองแดงตอนใกล้โคนหาง ใต้ท้องและส่วนหางสีดำเหลือบฟ้า ขาและหนังรอบตาสีแดงขนหางคู่กลาง 2 คู่มีสีขาวคู่ต่อมาครึ่งด้านในเป็นสีขาว ครึ่งด้านนอกเป็นสีดำ คู่ต่อๆ มาสีดำ

ไก่ฟ้าเพศเมีย มีความยาวล าตัว 57 – 60 ซม. ทั่วตัวสีน้ำตาล สีออกน้ำตาลแดงบนแผ่นหลัง ใต้ท้องสีน้ำตาลแดงและมีลายเกล็ดสีขาว ส่วนอื่นๆ สีดำแผ่นหนังรอบตาสีแดงสด โดยมี 4 ชนิดย่อย

พบในป่าดงดิบที่เป็นป่าต่ำไม่ชอบออกหากินตามป่าโปร่งหรือที่โล่งเตียน ชอบอยู่ป่าต่ำมากกว่าป่าสูง ป่าดงดิบแล้งในที่ราบต่ำ หรือป่าขึ้นใหม่ที่มีไม้พื้นล่างทึบ ตลอดจนป่าไผ่จนถึงระดับสูงประมาณ 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีถิ่นกำเนิดและขอบเขตการแพร่กระจายค่อนข้างแคบ พบตั้งแต่ทางตอนใต้ของเทือกเขาตะนาวศรี ภาคใต้ของไทยตลอดจนถึงมาเลเซียและสุมาตรา

ในประเทศไทยมีเฉพาะภาคใต้เท่านั้นในอดีตเคยพบชุกชุมในบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ปัจจุบันเป็นนกที่มีเหลืออยู่น้อยมากตามป่าอนุรักษ์บางแห่งในภาคใต้

ไก่ฟ้าหน้าเขียวอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง แต่ละฝูงจะมีบริเวณเป็นขอบเขต หากินตอนกลางวันตามป่าดงดิบชื้นที่ทึบในระดับที่ไม่สูงมากนัก อาจพบใกล้ลำธาร ไม่ค่อยออกมาในที่โล่ง เมื่อเห็นศัตรูจะวิ่งหนีเข้าซ่อนตามพุ่มไม้บางครั้งจะบินหนีไปใกล้ๆ แล้วลงเดินวิ่งต่อไปออกหากินในเวลากลางวันและเกาะนอนบนกิ่งไม้สูงในเวลากลางคืน

ในฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือน เม.ย. – มิ.ย.โดยไก่ฟ้าจะใช้เวลานานราว 3 ปี จึงจะถึงวัยเจริญพันธุ์ ตัวผู้จะมีหนังบนหน้าขยายใหญ่จนเกือบปิดหน้ามิด เห็นเพียงแต่ตาและจะงอยปากเท่านั้น ไก่ตัวผู้จะเป็นตัวเกี้ยวพาราสีโดยการกางปีกออกทั้งสองข้าง ยืดตัวขึ้นแล้ว
กระพือปีกอย่างแรงให้เกิดเสียงดัง

เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วไก่ฟ้าตัวเมียจะเป็นผู้สร้างรัง โดยจะทำรังใต้พุ่มเตี้ยๆ ที่รกทึบ ทำรังด้วยใบไม้และใบหญ้าแห้งๆ วางไข่ครั้งละประมาณ 4 – 8 ฟอง

ตัวเมียจะฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้เวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 24 – 25 วันในที่แล้งไก่ฟ้าตัวเมียบางตัวอาจจะวางไข่ได้สูงถึง 40 – 50 ฟองต่อปี ลูกไก่ฟ้าหน้าเขียว แรกเกิดมีขนอุยคลุมทั่วตัว เมื่อลืมตาลุกขึ้นยืนเดินได้ก็จะเดินตามแม่ไปหาอาหารได้หลังออกจากไข่ 3 – 4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา นักปักษีวิทยา ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บภาพไก่ฟ้าหน้าเขียวที่บริเวณจุดสกัดทับอินทนิล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) หมู่ที่ 10 ต.หงส์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย นายแพทย์วิโรจน์ องค์อนันต์คุณ นายแพทย์สมพงษ์ ทองร่วง ทันตแพทย์หญิงสุวรรณา หมู่ขจรพันธ์ น.ส.เพ็ญศรี ศรีแก้ว นายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ จ.ชุมพร

เนื่องจากที่ผ่านมาในรอบหลายสิบปียังไม่เคยมีช่างภาพคนใดสามารถถ่ายภาพสัตว์ชนิดนี้ได้เลย โดยไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวดังกล่าวได้ลงมาหากินอยู่บริเวณรอบๆ ที่ทำการจุดสกัดทับอินทนิลนานกว่า 1 เดือน

ไก่ฟ้าหน้าเขียวที่พบเป็นเพศผู้ อายุประมาณ 2 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 2 กิโลกรัม มีขนหงอนบนหัว ขนที่คอหน้าอกและหลังตอนบนมีสีเหลือบเขียวอมน้ำเงิน ส่วนล่างของหลังมีสีแดงแกมน้ำตาล ขนใต้ท้องสีน้ำตาลแกมดำมีขอบขาว กำลังเดินวนเวียนหากินอยู่ในพงหญ้าขอบป่ารอบๆ ที่ทำการจุดสกัดทับอินทนิล

นส.พ.เกษตร สุเตชะ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไก่ฟ้าหน้าเขียวเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทยที่หาได้ยากมาก โดยปกติจะอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 เมตร โดยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีรายงานพบเพียงแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเจอในป่าที่สมบูรณ์ถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพป่าได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การที่เจอไก่ฟ้าหน้าเขียวเพศผู้ลงมาหากินบริเวณนี้สะท้อนว่าป่ามีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าหายากเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นและออกมาปรากฏตัวให้คนเห็นมากขึ้น

อาทร กำลังใบ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพรด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) กล่าวว่า ไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวนี้เพิ่งจะลงจากป่ามาหากินในช่วงเช้าบริเวณจุดสกัดทับอินทนิลได้กว่า 1 เดือนแล้ว ช่วงเย็นจะกลับเข้าไปนอนในป่าตามปกติ สาเหตุที่ออกมาอาจเพราะไม่มีคนมาเที่ยวในช่วงโควิด-19 เพราะเขตฯ ปิดบริการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2562 เราเคยใช้กล้องดักถ่ายสามารถจับภาพไก่ฟ้าหน้าเขียวได้ 1 ฝูง จำนวนหลายตัว ซึ่งอยู่ห่างจากจุดนี้ประมาณ 7-8 กิโลเมตร

http://www.dnp.go.th/fca16/file/pq8cpingxe8sxi4.pdf
https://mgronline.com/south/detail/9630000069105
ขอบคุณภาพ: Sakda Likkasittipan

Related posts

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด

รู้จัก ‘อาร์เซอร์ไบจาน’ เจ้าภาพประชุม COP29 ณ กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?