‘ดิคาปริโอ’ จับมือสตาร์ทอัป เพาะแซลมอนจากห้องแล็ป มุ่งผลิตอาหารไม่ทำร้ายโลก

Aryé Elfenbein ผู้ร่วมก่อตั้ง Wildtype และนักชีววิทยาระดับโมเลกุลระบุว่า ขณะนี้สามารถเพาะเลี้ยงเซลล์ออกมาเป็นเนื้อปลาแซลมอนที่ไม่มียาปฏิชีวนะ ไม่มีโลหะหนัก ไม่มีไมโครพลาสติกและไม่มีของเสียปนเปื้อน ที่สำคัญไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะไม่ได้เลี้ยงเหมือนระบบฟาร์ม

Wildtype เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในแคลิฟอร์เนียที่เพาะปลาแซลมอนเพราะต้องการช่วยกอบกู้โลกด้วยการเพาะมันในห้องแล็บที่กำลังเป็นที่จับตา

เหตุผลที่พวกเขาคิดจะเพาะแซลมอนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะฟาร์มแซลมอนทำลายโลกเอาการ จากรายงานของกลุ่ม  Just Economics ระบุว่า การทำลายธรรมชาติจากการเลี้ยงแซลมอนทำให้เกิดต้นทุนจากมลภาวะปรสิต และอัตราการตายของปลารวมมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2019

มันยังไม่จบแค่นั้น การเลี้ยงแซลมอนต้องใช้อาหาร และอาหารคือปลาที่จับมาจากแหล่งธรรมชาติ โดยมีการใช้ปลาธรรมชาติประมาณ 18 ล้านตันต่อปีเพื่อทำปลาป่นและน้ำมันปลา ซึ่งประมาณ 70% จะนำไปใช้ในฟาร์มเลี้ยงปลา ทำให้ปลาในแหล่งธรรมชาติร่อยหรอลง ประทเศกำลังพัฒนาก็ไม่มีปลาจะกินกันเพราะเอามาเลี้ยงแซลมอน

นี่คือสาเหตุหลัก ๆ ที่ Lab-Grown Salmon หรือปลาแซลมอนที่เลี้ยงโดยการเพาะในห้องแล็บกำลังเป็นที่จับตา มันจะช่วยให้โลกเราทำฟาร์มปลาน้อยลงและดีต่อโลกและปากท้องของคนชายขอบของโลกที่ไม่ได้กินแซลมอน แต่ปลาธรรมดา ๆ ของพวกเขาถูกจับเอาไปเลี้ยงแซลมอนจนเกือบหมด

ตัวอย่างเช่น Wildtype บริษัทสตาร์ทอัพในแคลิฟอร์เนียกำลังสร้างปลาแซลมอนเกรดซูชิด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่สกัดจากไข่ปลาแซลมอน เพิ่งจะระดมทุนได้ 100 ล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และได้รับการสนับสนุนจากนักแสดงและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีแห่งแอมะซอน

พวกเขาเลี้ยงแซลมอนเทียมขึ้นมาโดยเริ่มต้นด้วยการเก็บเซลล์เป็น ๆ ของแซลมอนพันธุ์ Oncorhynchus kisutch หรือแซลมอนโคโฮ/แซลมอนสีเงิน ที่มีถิ่นอาศัยในแปซฟิกตอนเหนือ จากนั้นนำเซลล์มาเพาะเลี้ยงที่ห้องแล็บริมชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา โดยสร้างเงื่อนไขให้มันคล้ายกับปลาในธรรมชาติ

เซลล์ที่เพาะจะมีอุณหภูมิ ค่ากรดด่าง สารอาหารที่เหมือนกับเนื้อปลาที่โตตามธรรมชาติ เมื่อได้เซลล์ที่เพาะได้แล้วก็จะนำไปประกอบเข้ากับโครงสร้างของวัตถุดิบจากพืชแล้วสร้างมันขึ้นมาเป็นเนื้อปลาแซลมอนที่เหมือนจริงโดยไม่ต้องเลี้ยงจากฟาร์ม เนื้อนุ่มอร่อย มีไขมันปนจนละลายในปาก และเป็นเนื้อปลาเกรดซูชิซะด้วย

ที่สำคัญคือมันไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่มีสารพิษหรือไมโครพลาสติกจากการทำฟาร์มที่จะทำร้ายร่างกายผู้บริโภคเหมือนแซลมอนเลี้ยง พวกเขาบอกว่าแซลมอนเพาะในแล็บคือ “โอกาสในการกินอาหารที่เรารักโดยไม่ต้องเสียสละอุดมคติในเรื่องอาหารของเรา”

กระบวนการผลิตนี้ไม่มีของเสีย เนื่องจากมีเพียงส่วนที่กินได้ของปลาเท่านั้น โดย Wildtype กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาใช้เวลาเพียง 4 ถึง 6 สัปดาห์ในการเพาะให้เจริญเติบโต เมื่อเทียบกับเวลา 2 ถึง 3 ปีที่ต้องใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนที่โตเต็มที่ในการเพาะในฟาร์ม

Wildtype บอกว่า อาหารทะเลที่เพาะเลี้ยงเซลล์สามารถปกป้องสัตว์ป่าและมหาสมุทรของเราได้ และช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลก มันเป็นตัวเลือกอาหารทะเลรูปแบบใหม่ที่ให้ประโยชน์ทางโภชนาการเช่นเดียวกับปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ โดยปราศจากสารปรอท ไมโครพลาสติก ยาปฏิชีวนะ และสารปนเปื้อนอื่น ๆ ที่พบได้ทั่วไปในปลาธรรมชาติและในฟาร์ม

“ความต้องการอาหารทะเลและโปรตีนจากสัตว์อื่น ๆ ไม่เคยมากเท่านี้มาก่อน ในขณะที่แหล่งธรรมชาติยังคงลดน้อยลง ในเวลาเดียวกันประชากรโลกของเรากำลังใกล้ถึงเกือบ 10,000 ล้านคนภายในกลางศตวรรษนี้ ด้วยความต้องการอาหารใหม่จำนวนมาก เราจำเป็นต้องสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อตอบสนองความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านอาหารของศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน นี่คือคำมั่นสัญญาของการเกษตรแบบเซลล์” Wildtype ระบุ

ข้อมูลจาก

  • “We’re Reinventing Seafood”. Wildtype. Retrieved April 27, 2022.
  • “The Future of Seafood Starting with sushi-grade salmon”. Wildtype. Retrieved April 27, 2022.
  • Rebecca Cairns. (April 8, 2022). “How lab-grown sushi could help tackle overfishing”. CNN Business.

Fiona Harvey. (Febuary 11, 2021). “Global salmon farming harming marine life and costing billions in damage”. The  Guardian.

ภาพ – Wildtype

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย