สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอรัฐชะลอเข้าร่วม CPTPPได้ไม่คุ้มเสีย

สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะประเทศไทยเสียเปรียบหลายด้าน เช่น ต่างชาติจะนำพันธุ์พืชสมุนไพรของไทยไปปรับปรุงพันธุ์ ทำให้สูญเสียรายได้จากการทรัพยากรชีวภาพ กระทบต่อการคัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์พืชยาบางชนิด เช่น สายพันธุ์กัญชา อีกทั้งเกษตรกรจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท/ปี

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้อ้างอิงผลการศึกษาผลกระทบจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ที่มีความขัดแย้งและข้อกังวลอย่างรุนแรงในสังคม หากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง CPTPP ดังนี้

สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภค
จากผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดจ้างสรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาทนั้น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ศึกษา CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตว่า ผลการศึกษาดังกล่าว ยังมิได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มิใช่รัฐ (Non-state actor)

นอกจากนี้ เป็นการศึกษาเชิงมหภาคซึ่งไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเด็นรายละเอียดเชิงลึกได้ การตั้งสมมุติฐานการเปิดเสรีการค้าทันที 100% ของผลการศึกษาไม่
สอดคล้องกับความเป็นจริง การวิเคราะห์ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยแบบจำลองไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อาทิ ศักยภาพการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน เป็นต้น

ดังนั้น การเข้าร่วม CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ไทยได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯศึกษา CPTPP หน้า77-78
(https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25motion_cptpp/more_news.php?cid=141&filename=129)

ส่วนผลกระทบด้านลบต่องบประมาณหรือค่าใช้จ่ายของประเทศจากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า จะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 420,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข

โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากข้อมูลผลการวิจัยของ รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ และคณะ พบว่า อุตสาหกรรมยาขนาดเล็ก ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี พ.ศ. 2562 มีบริษัทที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพียงร้อยละ 17 จำนวนบริษัท 21 แห่ง จากทั้งหมด 123 แห่ง ทำให้สัดส่วนการผลิตยาในประเทศ เมื่อเทียบกับการนำเข้ายาจะเห็นว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 69 ในปี 2530 ลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 29 ในปี 2562 และมีแนวโน้มการนำเข้ายาสูงขึ้นทุกปี และการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590) ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้นมาจากราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปดังนี้

1) ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท
2) สัดส่วนการพึ่งพิงนำเข้ายาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 71 เพิ่มเป็นร้อยละ 89
3) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท การพึ่งพิงการนำเข้ายาที่สูงมาก ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้การทำความตกลง CPTPP ยังจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคหลายด้านหลายประเด็น ดังนี้

1) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น และอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศจะชะงักงันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาตรการ Patent Linkage ด้วยมาตรการ Patent Linkage ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. ยา เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่เพิ่มเติมที่ต้องประกาศหรือแจ้งให้บริษัทยาต้นแบบทราบเมื่อมีบริษัทยาชื่อสามัญมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาที่บริษัทยาต้นแบบจดสิทธิบัตรไว้ เพื่อให้บริษัทยาต้นแบบจัดการกับบริษัทยาชื่อสามัญเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรจนแล้วเสร็จก่อน อย. จึงจะสามารถอนุมัติทะเบียนยาให้กับ
บริษัทยาชื่อสามัญนั้นได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันหากมีข้อพิพาทกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรยาซึ่งมีการฟ้องร้องเป็นคดีความและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งกินเวลานานหลายปี บริษัทยาชื่อสามัญก็ยังสามารถจำหน่ายยาที่ได้รับการอนุมัติจาก อย. ได้ ซึ่งเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาถูกกว่ายาต้นแบบมาก แต่ถ้าเข้าสู่ความตกลง CPTPP และรับเงื่อนไขแบบ Patent Linkage จะทำให้การขึ้นทะเบียนยาของยาชื่อสามัญล่าช้าออกไป เพราะต้องรอกระบวนการศาลจะสิ้นสุดเสียก่อน

นั่นคือรัฐต้องมีภาระค่ายาในระบบประกันสุขภาพของประเทศสูงมาก เพราะยาที่ติดสิทธิบัตรเหล่านี้มักเป็นยาที่มีราคาสูงเพราะรัฐไม่สามารถควบคุมราคาได้ และเท่ากับตัดโอกาสการผลิตยาและการพัฒนาเทคนิคการผลิตยาใหม่ๆของอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทขนาดกลางและเล็ก แต่มีความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางยาของประเทศ โดยที่บริษัทยาในประเทศเหล่านี้อาจไม่มีศักยภาพที่จะต่อสู้หรือต่อรองกับบริษัทยาต้นแบบซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ และอาจทำให้บริษัทยาชื่อสามัญในประเทศเหล่านี้ต้องยอมแพ้ยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนยากับ อย. ไปเอง ทำให้โอกาสที่ประเทศจะมีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านยาลดลงและยามีราคาแพงมากขึ้น

2) ประเทศไทยจะถูกจำกัดการใช้มาตรการต่างๆเพื่อการเข้าถึงยาที่จำเป็นและพิทักษ์และคุ้มครองสุขภาพของประชาชน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการนำมาตรการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนมาประกาศใช้ เพราะมาตรการดังกล่าวอาจถูกภาคเอกชนฟ้องร้องรัฐในอนุญาโตตุลาการ ให้ชดใช้ค่าเสียหายและยกเลิกมาตรการ ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบายเพื่อสาธารณะ

มาตรการดังกล่าว เช่น การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาโดยรัฐ (Compulsory Licensing), การกำหนดข้อความคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นมาตรการป้องปรามนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่, มาตรการที่กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของโครงการขนาดใหญ่ มาใช้ได้เหมือนในอดีต เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการถูกฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการในคดีทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ โฮปเวลย์ และคดีเหมืองทองอัครา ซึ่งประเทศไทยล้วนแพ้คดี ต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมากทั้ง ๆ ที่เป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ดังนั้นถ้าไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ไทยจึงมีความสุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีภาคเอกชนในประเทศที่เป็นสมาชิก CPTPP ฟ้องคดีต่อรัฐได้ ถึงแม้ไทยจะยังไม่มีความตกลงแบบทวิภาคี การจะอ้างว่าจำเป็นต้องออกกฎหมายหรือนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็น “การยึดทรัพย์โดยอ้อม” ได้

3) รัฐบาลไทยจะไม่สามารถสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมให้ปฏิบัติพันธกิจส่งเสริมการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยาของประเทศอีกต่อไปในความตกลง CPTPP ในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะไม่อนุญาตให้รัฐให้สิทธิพิเศษกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรืออุตสาหกรรมภายในประเทศในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และต้องเปิดโอกาสให้เอกชนต่างชาติเข้ามาดำเนินการแข่งขันอย่างเสมอภาค ในปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้ประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 ข้อ 17 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลของรัฐจัดซื้อยาจากยาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือโรงงานเภสัชกรรมทหารเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางยาและรายได้จากการจำหน่ายยาจะนำไปใช้พัฒนาการศึกษาวิจัยยาใหม่ของหน่วยงานเหล่านี้ แต่ถ้าไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ไทยต้องยกเลิกมาตรการสนับสนุนในลักษณะนี้

4) ไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้ด้วยความตกลง CPTPP ประเทศสมาชิกต้องยอมให้มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ (Re-manufactured Medical Devices) ถ้าไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP ไทยต้องแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการนำเข้าและส่งผลให้บางโรงพยาบาลที่ต้องการลดต้นทุนอาจหาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้งานแล้ว มาใช้ แทนที่จะลงทุนซื้อเครื่องใหม่

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่จะดูแลมาตรฐานคุณภาพของเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยสำหรับประชาชนได้ และเครื่องมือแพทย์ “มือสอง” เหล่านี้ จะก่อปัญหาจากขยะอิเล็กทรอนิคส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะเครื่องมือเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าเครื่องมือแพทย์ใหม่ และประเทศไทยยังขาดระบบจัดการและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิคส์ที่มีประสิทธิภาพ

5) ผู้บริโภคจะได้รับความเสี่ยงจากภัยของเครื่องสำอางที่ด้อยคุณภาพในความตกลง CPTPP กำหนดไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้มีการระบุเลขที่จดแจ้งบนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและตรวจสอบและคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นภัย

6) ผู้บริโภค จะได้รับความเสี่ยงจากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในความตกลง CPTPP กำหนดไม่ให้หน่วยงานรัฐบังคับให้บริษัทที่จัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ต้องมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการในประเทศ ทำให้การติดตาม ความรับผิดต่อสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายทำได้ยากยิ่งขึ้น หรือการชดเชยความเสียหายต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้

7) CPTPP กำหนดให้ต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาสูบ ส่งผลให้เข้าถึงอบายมุขเหล่านี้มากขึ้น การลดภาษีสรรพสามิต เหล้า บุหรี่ จะทำให้จำนวนประชาชนที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจะเพิ่มขึ้นและมีการใช้งบประมาณด้านสุขภาพที่มากขึ้น เนื่องจากจากอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาสูบที่มากขึ้น และภาครัฐอาจถูกธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริษัทบุหรี่ข้ามชาติแทรกแซงนโยบายหรือมาตรการควบคุมสินค้าทำลายสุขภาพดังกล่าวได้ โดยอาจต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

8) ฐานทรัพยากรด้านสมุนไพรของไทย ซึ่งสามารถจะพัฒนาต่อยอดเป็นยาและเวชภัณฑ์ อาจถูกยึดครองด้วยบรรษัทต่างชาติด้วยข้อกำหนดในความตกลง CPTPP ที่ประเทศสมาชิกต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งทำให้ประเทศต้องตัดข้อกำหนดกลไกการขออนุญาตล่วงหน้า (prior informed consent) และแบ่งปันผลประโยชน์ (benefit sharing) จะทำให้บริษัทต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชสมุนไพรของไทยไปปรับปรุงพันธุ์และขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้จากการทรัพยากรชีวภาพ

ในขณะเดียวกันการขยายการคุ้มครองส่วนขยายพันธุ์ ไปครอบคลุมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ และการขยายการคุ้มครองไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชใหม่ จะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์พืชยาบางชนิดมาปลูกต่อ (เช่น สายพันธุ์กัญชาซึ่งมีการขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ยาซึ่งเกิดจากการใช้สายพันธุ์ดังกล่าวด้วย

9) เกษตรกรที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่มาปลูกจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ในราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า การขยายสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 การรอนสิทธิของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป และแนวโน้มการรวมศูนย์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ จะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ทุกฤดูปลูก โดยรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อสูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721 – 142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183 – 114,394 ล้านบาท/ปี

10) ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีหรือปนเปื้อนสารตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) และการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู ข้อ 8 ของความตกลง CPTPP บทว่าด้วยการค้าสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ภายใต้มาตรา Article 2.27: Trade of Products of Modern Biotechnology นั้น มีเจตนาลดอุปสรรคในการค้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอโดยตรง โดยแม้ไม่ทำให้ประเทศไทยต้องแก้กฎหมายภายในและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

แต่ในกรณีที่มีจีเอ็มโอปนเปื้อน (low level presence) ความตกลงนี้ระบุให้ผู้ส่งออกดำเนินการต่าง ๆ ตามระเบียบและกฎหมายภายในของประเทศผู้ส่งออก และให้เป็นไปตามการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านอาหารของ CODEX ซึ่งเป็นการลดทอนอำนาจของประเทศไทยในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรม และสินค้าจีเอ็มโอที่ได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น ประเทศผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ประเทศผู้นำเข้า (prior informed consent) หากเป็นสินค้าจีเอ็มโอ และผู้นำเข้าสามารถปฏิเสธการรับผลิตภัณฑ์นั้นได้ตามมาตรการป้องกันเอาไว้ก่อน (precaution principle) หรือการคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจสังคม (socio-economic consideration)

โดยไม่ต้องยึดแนวทางการประเมินความเสี่ยงที่ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอแต่เพียงอย่างเดียว เพราะผลกระทบต่อความปลอดภัยทางชีวภาพและสุขภาพนั้นต้องใช้เวลายาวนานจึงจะเห็นผล แต่หากไทย เข้า CPTPP จะไม่สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ปัญหาการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในหมู สมาชิกความตกลง CPTPP บางประเทศมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ จึงมีความเป็นไปได้ที่สินค้าปศุสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจะถูกส่งออกมายังประเทศไทย ซึ่งอาจมีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้

จากผลกระทบและข้อกังวลดังกล่าวข้างต้นทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีควรใช้มาตรการอื่นๆ ในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคในประเทศ เช่น Regulatory Guillotine (RG) ทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐส่วนมากมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐในการบังคับใช้และสร้างภาระต่อผู้ประกอบการและประชาชนในการปฏิบัติตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เท่าทันนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก

2.ขอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป ส่วนหากมีผลกระทบด้านบวกมากกว่าและสรุปได้ว่าการเข้าร่วมฯ จะก่อให้เกิดผลได้มากกว่าผลเสียอย่างมีนัยสำคัญขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น งบประมาณ อัตรา บุคลากร ศักยภาพของบุคลากร ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามที่ระบุในบทสรุปผู้บริหารของรายงานของคณะกรรมาธิการฯ

3.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMO ให้มีความชัดเจนและต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ว่าจะปริมาณเท่าไหร่ก็ตาม รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางค์และอาหารจากวัตถุดิบที่มีหรือปนเปื้อน GMO เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคคู่ขนานกับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ

4.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร สิทธิของประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการบังคับใช้สิทธิ, Compulsory Licensing) ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ความตกลงทริปส์) และปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่ตีความและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าการค้า รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้ผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

5.ขอให้กองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืช ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการให้กองทุนสามารถสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในระดับจังหวัดและให้การสนับสนุนเกษตรกรเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ และพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์พืชท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์โดยเกษตรกรและชุมชน

6.ขอให้กระทรวงเกษตร เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้ครอบคลุมทรัพยากรชีวภาพทุกประเทศโดยใช้หลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity, CBD) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคมีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 195 องค์กร ทั้งนี้ในมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง” เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2563 ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้บริโภค มีสิทธิหน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติการจัดตั้งกำหนดไว้ในมาตรา 14 ให้สภาองค์กรของผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน