CPF งัดกฎหมายเอาผิดคนแฉปลาหมอคางดำ ย้ำยุติการวิจัยตั้งแต่ปี 54

กอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) (คนกลาง)

CPF ใช้มาตรการทางกฎหมายเอาผิดกับกระบวนการตรวจสอบปลาหมอคางดำของเอ็นจีโอ ระบุว่า ภาพและข้อมูลที่นำมาอ้างนั้นเป็นเท็จและมีการบิดเบือน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ที่นำข้อมูลและภาพเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำของบริษัทเป็นเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจผิด โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพบนเวทีสาธารณะเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา หรือสื่อต่างๆ ควรรับผิดชอบในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น

CPF ระบุว่า ภาพแรกที่นำมาอ้างว่าเป็นบ่อดินของฟาร์มยี่สารนั้น บริษัทขอชี้แจงว่าเป็นการใช้ภาพและข้อมูลเท็จ สถานที่ในรูปภาพไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และหลังจากบริษัทตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2554 และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมด ขอยืนยันว่า บริษัทไม่มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกเลย การกล่าวอ้างว่ามีการเลี้ยงต่อเนื่องถึงปี 2560 จึงเป็นข้อมูลเท็จเสมือนการโกหกที่สร้างความเข้าใจผิดเชิงลบในสังคม

ภาพที่สอง มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์/ผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร บริษัท CPF ขอชี้แจงว่า สถานที่นี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และกิจกรรมที่ปรากฎในภาพนี้ ไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท

สำหรับภาพสุดท้ายเป็นภาพถ่ายทางอากาศบริเวณฟาร์มยี่สารโดยมีการระบุผังของฟาร์มว่าเป็นของ CPF ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จดังต่อไปนี้ ภาพที่ล้อมในกรอบสีแดงไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาของ CPF ตามที่กล่าวอ้าง ในความเป็นจริงเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ส่วนภาพในกรอบสีเหลืองซึ่งถูกอ้างว่าเป็นบ่อผสมพันธุ์ปลาและบ่ออนุบาลปลานั้น ข้อเท็จจริงคือ เป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล

นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ควรมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางสังคมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ เนื่องจาก CPF ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ขอให้สังคมให้ความเป็นธรรม และน่าจะมีการสอบหาเหตุอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อจะได้นำข้อเท็จจริงมาร่วมกันพิจารณาหาแนวทางร่วมมือกันการแก้ไขในระยะยาว

ทั้งนี้ บริษัท CPF ยินดีสนับสนุนให้ความช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงรุก 5 โครงการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมมือสนับสนุนกรมประมงทำกิจกรรมจับปลาและปล่อยปลากะพง ซึ่งในบางพื้นที่จำนวนปลาหมอคางดำลดลง

สำหรับเวทีสาธารณะที่ CPF อ้างว่ามีการบิดเบือนภาพและข้อมูลคือ เวทีเสวนา “บทเรียนหายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” จัดโดยมูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), สภาองค์กรของผู้บริโภค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารหายนะสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567

นอกจากนั้น วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้เปิดเผยข้อมูลที่ว่า บริษัทได้มีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำตั้งแต่ปี 2553 จนถึงอย่างน้อยในปี 2560 และปลาไม่ได้ตายทั้ง 2,000 ตัว ตามที่บริษัทอ้าง รวมทั้งระบุว่ามีข้อมูลยืนยันว่า ปลาหลุดรอดลงสู่คลองสาธารณะจากฟาร์มที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

Related posts

อิทธิพลไต้ฝุ่น’ยางิ’ 8 – 13 ก.ย. ฝนตกเพิ่มทุกภาค เสี่ยงน้ำท่วมทั่วไทย

นำอาหารช่วยผู้หิวโหยทั่วโลก 40 ล้านคน ลดคาร์บอน 1.8 ล้านเมตริกตัน

โลกไม่มีวันเหมือนเดิม น้ำท่วมใหญ่บังกลาเทศ ชาวบ้านระทม 5 ล้านคน