บรรทัดฐานคดีศาลปกครองสั่งรัฐชดเชยชาวนราธิวาส 2.2 ล้าน

โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐมีปัญหาขัดแย้งกับชุมชนชายฝั่งในหลายพื้นที่ และส่วนใหญ่การใช้งบประมาณหลายพันล้านได้กลายเป็นสาเหตุให้เกิดการกัดเกาะชายหาดเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นภาพอุจาดตา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้รัฐระงับการดำเนินโครงการและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออก

คดีชาว อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ยื่นฟ้องกรมชลประทาน เมื่อปี 2550 ถือเป็นบรรทัดฐานและประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องให้คงสภาพชายหาด รวมทั้งให้รัฐนำวิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ถูกวิธีมาใช้อย่างเสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 โดยสั่งให้กรมชลประทานและกรมเจ้าท่ารับผิดชอบชดเชยค่าเสียหายให้นายอาแซ บินยูโซ๊ะ ผู้ฟ้องคดี บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 10 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

หลังจากได้ยื่นฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการที่กรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) ก่อสร้างเขื่อนกันทราย หรือรอดักทรายรูปตัวไอยื่นลงไปในทะเล ซึ่งอยู่ติดกับสวนมะพร้าวของเขาจำนวน 21 ไร่เศษ

โครงการรอดักทรายสร้างเสร็จเมื่อปี 2542 และเมื่อปี 2545 นายอาแซได้สำรวจพื้นที่พบว่าที่ดินของตัวเองเสียหายจำนวนมาก ต่อมาในปี 2547 จึงเริ่มทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจราชการแผ่นดินและนายกรัฐมนตรีโดยตรง

เขาระบุว่าที่ดินผืนนี้เป็นสวนมะพร้าว เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา โดยมีรายได้จากผลผลิตต่อครั้งที่เก็บมะพร้าวได้ประมาณ 4,000-5,000 ลูกต่อครั้ง ปีหนึ่งเก็บได้ 6-7 ครั้ง คิดเป็นเงินประมาณ 40,000-50,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรอดักทรายของกรมชลประทานทำให้สวนมะพร้าวเสียหายจากการกัดเซาะของน้ำทะเลในช่วงมรสุม และขาดรายได้จากการเก็บผลผลิตจากสวนมะพร้าว ทำให้ไม่มีรายได้จุนเจือครอบครัว

ต่อมาปี 2550 นายอาแซในฐานะผู้ฟ้องคดียื่นสอบเขตที่ดินตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานปรากฎว่าที่ดินเสียหายประมาณ 14 ไร่ และปัจจุบันที่ดินเสียเพิ่มอีกประมาณ 6 ไร่เศษ รวมที่ดินเสียหายทั้งหมดจำนวน 20 ไร่ คงเหลือที่ดินส่วนที่เป็นพื้นดินประมาณ 2 ไร่เศษ

นายอาแซได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ขอประเมินค่าเสียหายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยคิดค่าเสียหายที่ดินทั้งหมดรวมไม้ยืนต้นเป็นเงินประมาณ 8 ล้านบาท และได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น

เขาขอให้ศาลพิพากษาให้กรมชลประทานและกรมเจ้าท่า (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 8,290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างรอดักทราย (Groynes) 30 ตัว เมื่อก่อสร้างเสร็จได้ส่งมอบงานเขื่อนกันทราย คลื่น และรอป้องกันชายฝั่งพร้อมงานส่วนประกอบให้กรมเจ้าท่า แต่หลังก่อสร้างเสร็จและใช้งานแล้วนางนภาพร บินอาแซ บุตรของนายอาแซ มีหนังสือลงวันที่ 10 ธันวาคม 2547 ถึงนายกรัฐมนตรีและนายนิรันดร์ โว๊ะนิเน็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไพรวัน

และเดือนมีนาคม 2549 มีหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและอธิบดีกรมชลประทานเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกรณีที่ดินได้รับความเสียหายจากรอดักทรายแห่งที่ 30 ซึ่งเป็นรอตัวสุดท้ายและอยู่ติดกับที่ดินของเขา

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือลงวันที่ 25 กันยายน 2550 เสนอแนะให้กรมชลประทานและกรมเจ้าท่าร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ซึ่งกรมชลประทานพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ระหว่างนั้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 มีการรังวัดที่ดินใหม่ปรากฎว่าได้เนื้อที่น้อยกว่าที่ดินเดิม 13 ไร่ 2 งาน 96 ตารางวา

เนื่องจากที่ดินด้านทิศเหนือถูกน้ำทะเลกัดเซาะ และเมื่อมีการรังวัดใหม่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ทำให้ที่ดินของนายอาแซอาจกลายเป็นที่สาธารณประโยชน์ทางกรมชลประทานจึงไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยให้ได้ (เพราะที่ดินอาจตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว)

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้กรมชลประทานชดใช้ค่าเสียหาย 2,224,000 พร้อมดอกเบี้ยนร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่อมากรมชลประทานได้อุทธรณ์คำสั่งโดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าการกัดเซาะที่ดินบริเวณดังกล่าวมาจากหลายปัจจัย จากการศึกษาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันพบว่าที่ดินชายฝั่งตั้งแต่ปากแม่น้ำกลันตันของมาเลเซียขึ้นมาทางทิศเหนือผ่านชายฝั่งบริเวรปากแม่น้ำโก-ลก จนถึงชายฝั่งบริเวณเขาทักษิณซึ่งอยู่ด้านใต้ของ จ.นราธิวาส มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดยมีแนวโน้มว่ามีการกัดเซาะแนวชายฝั่งในอัตราประมาณ 5-10 เมตรต่อปี โดยในช่วง 76 ปีที่ผ่านมาบริเวณชายฝั่งปากแม่น้ำโก-ลก ถดถอยเข้าไปประมาณ 1,000 เมตร (บวก/ลบ) และทำให้เกิดการสูญเสียและทำลายอาชีพการปลูกมะพร้าว รวมสิ่งก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เมื่อดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงปากแม่น้ำโก-ลก แล้วเสร็จจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตั้งแต่รอกันคลื่นแห่งที่ 1-30 ตลอดระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลทำให้ชายหาดดังกล่าวปรับสภาพเข้าสู่สภาวะสมดุล มีอัตราการกัดเซาะน้อยลงจนไม่มีการกัดเซาะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการกัดเซาะชายฝั่งด้านหลังหลักรอที่ 30 (ของนายอาแซ) จึงมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยผสมกัน

คือ การกัดเซาะชายฝั่งในสภาพปกติตามธรรมชาติ และผลกระทบจากรอแห่งที่ 30 ทำให้เกิดสภาพโค้งกัดเซาะเกิดขึ้นด้านหลังรอแห่งที่ 30 มากกว่าปกติ จึงเห็นด้วยในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรอแห่งที่ 30 เท่านั้น ตามความเหมาะสม

อย่างไรก้ตาม กรมชลประทานไม่เห็นด้วยที่ศาลปกครองชั้นต้นได้เพิ่มราคาประมินที่ดินเป็น 2 เท่าจากตารางวาละ 125 บาท เป็นตารางวา 250 บาท และขอให้ยึดราคาประเมินตารางวาละ 125 บาท และพร้อมจ่ายค่าเสียหายจากที่ดินที่เสียไปจำนวน 18 ไร่ 16 ตารางวา เป็นเงิน 902,000 บาท และจะไม่จ่ายค่าเสียหายจากไม้ยืนต้นจำนวน 420,000 บาท เพราะได้ส่งมอบที่ดินให้กรมเจ้าท่ารับไปดำเนินการแล้ว

นายอาแซได้แก้อุทธรณ์ว่า ก่อนหน้าที่จะมีโครงการรอดักทรายพื้นที่ดังกล่าวมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เคยถูกน้ำทะเลกัดเซาะแต่อย่างใด แต่พอกรมชลประทานก่อสร้างรอดักทรายแล้วเสร็จ พื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงทำให้ที่ดินได้รับความเสียหายอย่างมาก และปัจจุบันนี้ราคาซื้อขายที่ดินที่ติดทะเลมิใช่ราคาตามที่กล่าวมา รวมทั้งที่ผ่านมาโครงการดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปี แต่รัฐบาลไม่เคยดำเนินการแก้ไขใดๆ

ศาลปกครองสูงสุดได้สรุปข้อเท็จจริงว่า กรมชลประทานได้จัดทำโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโก-ลก โดยได้ก่อสร้างรอดักทรายแบบหินทิ้ง (Rubble Mound Groynes) จำนวน 30 แห่ง ระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยรอดักทรายแห่งที่ 30 ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายอยู่ติดกับที่ดินของนายอาแซผู้ฟ้องคดี มีความยาว 107 เมตร โดยการก่อสร้างโครงการนี้แล้วเสร็จเมื่อปี 2542 ซึ่งข้ออ้างของกรมชลประทานที่ว่าที่ดินมีการกัดเซาะตามธรรมชาติอยู่แล้วนั้นฟังไม่ขึ้น

นอกจากนั้นราคาประเมินที่ดินตารางวาละ 125 บาทนั้นใช้สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเท่านั้น ซึ่งที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินติดชายทะเลที่มีการทำประโยชน์อยู่แล้ว ราคาดังกล่าวจึงไม่อาจทำการซื้อขายกันได้ในท้องตลาด อีกทั้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีเมื่อถูกน้ำทะเลกัดเซาะเป็นเหตุให้น้ำทะเลท่วมถึงย่อมเสี่ยงให้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ ที่ดินพิพาทเหลือเนื้อที่เพียงจำนวน 3 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ถูกกัดเซาะเสียหายไปจำนวนถึง 18 ไร่ 16 ตารางวา ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นเพิ่มราคาประเมินที่ดินอีกหนึ่งเท่าเป็นตารางวาละ 250 บาท เป็นค่าเสียหาย 1,804,000 บาทนั้นถือเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว

พร้อมกันนี้ให้ชดเชยค่าขาดประโยชน์จากต้นมะพร้าวเป็นเงิน 420,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,224,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่คำพิพากษาถึงที่สุด

สำหรับโครงการนี้กรมชลประทานดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำโก-ลก และรอดักทรายบนคาบสมุทรตากใบตามที่ที่ปรึกษาเสนอโครงการร่วมระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย 3 โครงการ

ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโก-ลก โครงการบรรเทาอุทกภัย และโครงการสร้างอ้างเก็บน้ำโก-ลก โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโก-ลก โดยทำการก่อสร้างคันกันคลื่นยื่นออกไปในทะเลเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียสมควรดำเนินการ

ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโก-ลก กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกาาประกอบด้วย บริษัท เซ้าต์อีสเอเชียเทคโนโลยี จำกัด และบริษัท พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

มีรายการก่อสร้างเพิ่มเติมที่สำคัญ 2 รายการ คือ การก่อสร้างคันกันคลื่นเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำตากใบให้ไหลเวียนออกสู่ทะเลได้ดียิ่งขึ้น และการเสริมคาบสมุทรตากใบให้มีเสถียรภาพให้มั่นคง ลดการกัดเซาะชายฝั่งไทยให้เข้าสู่สมดุลตามธรรมชาติได้โดยเร็ว

น่าเสียดายที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีนี้หลังจากนายอาแซเสียชีวิตไปก่อน

ขอบคุณภาพ: Beach Lover

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน