“กำไรคือการได้กลับบ้านมาดูแลแม่ ได้อยู่ในชุมชนของเรา ได้พูดภาษาหล่ม ได้กินอาหารลาว ได้เจอญาติ วิถีตอนเด็กๆ มันกลับมา…ฝ้ายไม่มีก็ปลูกมันขึ้นมา”
วิถีรักษ์โลกในแบบฉบับของ ยุพิน ผูกพานิช คือการหันหลังให้เมืองเพื่อกลับไปดูแลแม่ในวัย 70 ซึ่ง จ๋า ยุพิน บอกว่านี่คือกำไรของ “ร้านฝ้ายจ๋ายาใจ” คือการได้กลับบ้านมาอยู่ในชุมชนที่คุ้นเคย และที่สำคัญมากว่านั้นก็คือการสืบสานภูมิปัญญาการผลิตผ้าฝ้ายในรูปแบบต่าง ๆ ที่แม่เคยทำมาตลอดชีวิต
“มันน่าเศร้าที่พ่อแม่ส่งลูกส่งหลานไปเรียน วันนี้ไม่เหลือเด็ก ไม่มีวัยรุ่นในหมู่บ้าน มีแต่คนแก่ เราก็เลยคิดว่าเรียนหนังสือแล้วทำไมต้องไปอยู่ที่อื่น ทำไมไม่กลับมาอยู่บ้าน ยายบอกมันเหงา มันเศร้า ยายอยากตาย แม่ก็แก่ อยู่คนเดียว ถ้าแม่ตายละ
“เราก็คิดว่าเรียนหนังสือจบแล้วทำไมต้องไปอยู่ที่โน่นที่นี่กัน เราไม่เข้าใจ คนทำงานราชการทำไมไปบรรจุที่อื่น ทำไมไม่กลับมาถิ่นฐานตัวเอง ถ้าอยู่บ้านไม่ต้องกู้ซื้อบ้าน ไม่ต้องใช้เงินมาก”
นี่คือความในใจของยุพิน ในวันที่เธอตัดสินใจออกจากงานประจำและมาเป็นเจ้าของกิจการผ้าฝ้ายเล็ก ๆ ที่ลงมือปลูกฝ้ายด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพาสารเคมี แม้จะไม่ได้ร่ำรวย แต่เป็นอาชีพที่ทำให้เธอมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว
จ๋าไม่ต่างจากมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่เข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงและก้มหน้าทำงานเพื่อเก็บเงินสร้างเนื้อสร้างตัว แต่แล้ววันหนึ่งก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ถ้าไม่ดูแลแม่ในวันนี้แล้วจะเริ่มได้เมื่อไหร่
เธอตัดสินใจแน่วแน่เมื่อย่างเข้าวัย 29 ด้วยการลาออกจากงานประจำ และเดินทางกลับบ้าน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ในเวลานั้นเธอผ่านงานประจำมาแล้ว 3 บริษัท และได้มีโอกาสไปเรียนวิชาการทำภาพไทยประดิษฐ์หรือ “โอชิเอะ” กับป้า (ภรรยาลุง ร.อ.พนม ผูกพานิช หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมบำบัดทหารผ่านศึกพิการ) อยู่ 8 เดือน โดยมีอาจารย์โยมูระเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ จากนั้นก็มาทำแมกเน็ตขาย ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในเรือนจำ
ความรู้การทำผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ทั้งผ้าห่ม หมอน ปลอกหมอน รวมทั้งตุ๊กตาผ้า มาจากแม่ที่ทำมานมนานแล้ว แต่เธอไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะไม่คิดว่ามันจะเป็นอาชีพได้ กระทั่งวันหนึ่งเมื่อคิดได้ว่าควรกลับบ้านไปดูแลแม่ นั่นแหละทำให้เธอคิดจะนำภูมิปัญญาที่แม่มีมาต่อยอดสืบสานการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย
ยุพินเอาจริงด้วยการลงมือปลูกฝ้ายเอง เป็นการปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ผ้าฝ้ายทุกชิ้นก็ลงมือย้อมด้วยวิธีธรรมชาติ ใช้ป้าน้าอาในแวกละหมู่บ้านเป็นแรงงานตัดเย็บ
“เป็นภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย พี่ปลูกฝ้ายเองที่เพชรบูรณ์ เขาอยู่กันมาได้ หนาวก็หนาว มีหมอน ผ้านวม วันหนึ่งเราได้เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ แต่แม่ยังทำผ้านวมแจกญาติ ๆ อยู่ พอน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อยู่คลอง 3 ต้องขนของหนีน้ำท่วมไปคลอง 5
“จากนั้นก็ขนผ้ากลับบ้านมาพาดขายหน้าบ้านที่หล่มสัก ไปขายงานธงฟ้าด้วย ลูกค้าถาม หนาไปไหม ซักได้ไหม เราไม่รู้ ปลูกฝ้ายเอง แม่เช่าที่ปลูก แม่เอาผ้าห่มไปจ่ายเป็นค่าเช่าที่ แม่ไม่เชื่อว่าเราจะทำจริง ตอนหลังก็เริ่มซื้อที่นิดหน่อยให้แม่ปลูกฝ้าย พอดีแฟนเป็นคนหล่มสักเหมือนกัน สองครอบครัวก็เลยมาช่วยกันทำในครอบครัว
“มาเริ่มลองด้นกัน แม่บอกมันซักไม่ได้หรอก แม่เชื่อของแม่ ตากแดดเอาก็พอ ปลูกประมาณ 1 ไร่โดยไม่ใช้สารเคมีเลย ต้องคอยดายหญ้า ถ้าใช้สารเคมีแม่เราก็โดนก่อน มีคนมาถามเหมือนกันว่าคนปลูกตายไปหรือยัง ปู่ย่าตายายเขาไม่ใช้หรอกสารเคมี
“ธุรกิจมันมายัดเยียดให้ใช้ เพื่อให้ได้เยอะ ซึ่งมีการทดสอบสารเคมีคนในหมู่บ้านจากเลือด ด้วยความซื่อสัตย์ของเราเอง ถ้าเราใช้ก็เจอเอง ซึ่งค่อย ๆ ปรับมาเรื่อย ๆ จนใช้สีธรรมชาติล้วน ๆ ล่าสุดไปซื้อผ้าสีโน้นสีนี้มาทำ ลูกค้าบอกว่าเมื่อปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ทำไมไม่ใช้สีธรรมชาติ
“ก็ลองย้อมทีละนิด ได้ผ้าจากเพื่อนมาขาย เริ่มเรียนรู้ เริ่มฝึกย้อมทีละนิด และชวนแม่ไปเรียน เพื่อให้ไปเจอคนอื่นบ้าง พอกลับมาแม่ก็หาวัตถุดิบในพื้นที่ได้ดีมาก ย้อมได้ดีมาก ปีต่อมาย้อมมะเกลือ ย้อมใบมะม่วง ย้อมสบู่เลือด เริ่มทำผืนที่ใต้ถุนบ้าน คนที่ด้นเป็นญาติที่พิการ ไม่รู้จะทำอะไร อยู่บ้านเลี้ยงลูก รับส่งหลานจากโรงเรียน
“คนที่ทำกันอายุ 70 ขึ้น สิ่งที่เขาได้รับคือทุกคนมีรายได้ ทุกคนมีฝีมือ เราให้คุณค่าเขา บอกเขาให้ด้นให้สามารถซักได้ และลายต่าง ๆ เราก็ต้องบอกเขา มีการปรับลายไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นลายเส้น ๆ ซักแล้วจะไหลกองรวมกัน ซึ่งทุกคนมีฝีมือดีอยู่แล้ว ทำให้ทุกคนมีรายได้กระจายออกไป เราก็นั่งทำด้วย ปรับเป็นลายหลามตัดบ้าง สี่เหลี่ยมสก็อตบ้าง คนทำตุ๊กตาก็ได้เงินจากเรา รายได้กระจายไปคนละส่วน
“เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการผลิตเครื่องนุ่งห่มจากผ้าฝ้ายของแม่และคนในชุมชน ไม่อย่างนั้นก็จะหมดไปกับคนรุ่นนี้ คนก็ไปใช้โพลีเอสเตอร์ เอาความเร็ว บางคนบอกว่าแพงมาก แต่จริง ๆ ต้นทุนสูงมาก ๆ กว่าจะได้ฝ้ายมาต้องดีดต้องปั่นต้องด้น ต้องทำให้ออกมาดี ตอนขายบ้านและสวนแรกๆ ได้ 5 หมื่น
“การปลูกฝ้ายปลูกเดือนแม่ เก็บเดือนพ่อ เวลาเก็บเกี่ยวจะต้องเก็บทีละดอก ต้นสูงระดับเอว พันธุ์ที่จ๋าปลูกชื่อว่า ‘พันธุ์ปทุมนกคาบ’ ที่มาก็คือไปเจอต้นฝ้ายของลุง เลยถามว่าเอามาจากไหนเพราะต้นมันใหญ่ มีเม็ดเหมือนนุ่นลุงที่ถามชื่อปทุม บอกว่านกมันคาบมา ก็เลยตั้งชื่อขำ ๆ ว่าพันธุ์ปทุมนกคาบ ต้องมีการตัดแต่งกิ่ง เพราะต้นใหญ่ ปลูกไม่ยาก ใช้น้ำจากฟ้า ต้องคอยตัดหญ้าไม่ให้คลุมต้น เพราะผลผลิตจะไม่ดี ไม่งั้นฝ้ายมันไม่พุ่ง
“เราคือคนที่มาสืบสานภูมิปัญญา เราอยากทำให้เห็นว่างานฝีมือสามารถเลี้ยงชีพได้ เป็นอาชีพได้โดยไม่ต้องไปทำงานโรงงาน ไม่ต้องทิ้งครอบครัว ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน น่าจะทำควบคู่ไปกับอาชีพอื่นได้ คนซื้อและใช้อย่างเข้าใจ บางคนมองงานฝีมือว่าแต่ก่อนไม่กี่ร้อย ซึ่งจริง ๆ แม่ทำแจก ฝากญาติ ซึ่งแม่เอาไปฝากญาติ ๆ เขาก็ให้เงินค่าเทอม แม่จบแค่ ป.4 แม่ก็ภูมิใจที่ทำได้ อายุ 70 แล้วแม่ยังทำ แม่ทำทุกผืน
“แต่ก่อนจ๋าไปทำงานเป็นลูกจ้าง พอจบ ปวส.ด้านผ้าและเครื่องแต่งกาย ไปเรียนจบปริญญาตรีบริหารการศึกษา ต้องไปรับจ้างทำงานรับจ้างร้านไก่ย่างวิเชียรบุรี แม่ไม่ให้ค่าเทอม ก็ต้องทำงาน ตอนนั้นไม่รู้จักธรรมศาสตร์ ไม่รู้จักจุฬาฯ สอบ ปวช.ไม่ติด ซึ่งเราชอบเย็บตุ๊กตา เย็บผ้ามาแต่เด็ก
“สุดท้ายมาสรุปว่าเป็นลูกจ้างก็มีปัญหาหมด คิดว่าแก่มาใครจะจ้าง พ่อเสียตั้งแต่แม่ 30 กว่า แม่ไม่มีอาชีพ ทำงานรับจ้าง เวลาแม่ป่วยก็ต้องให้คนข้างบ้านขี่มอเตอร์ไซค์พาไปโรงพยาบาล เราก็รู้สึกเศร้าที่เป็นลูก ลูกไปอยู่กรุงเทพฯกันหมด แล้วจะต้องดูแลแม่ตอนไหน”
ปัจจุบัน คุณจ๋า ยังมีบ้านอยู่ที่รังสิต ต้องไปๆ กลับๆ เข้ากรุงเทพฯ ไปขายผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา เพราะแหล่งรายได้อยู่ที่กรุงเทพฯ ขายปีละ 2 ครั้ง ได้เงินไปจ่ายค่าแรงคนทำ ซึ่งมีอยู่ร่วม 10 คน ทำให้ทุกคนมีรายได้ และทุกคนล้วนเป็นคนแก่ที่มีคุณค่าในตัวเอง
กว่ามาถึงจุดที่ลงมือลงแรงทำผ้าฝ้าย คุณจ๋าเคยคิดว่า ถ้าไม่ทำฝ้ายมันจะหายไป จึงต้องการให้คนได้ใช้ฝ้าย คนที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ก็จะปลูกให้ใช้ และเพิ่มคุณค่าให้กับคนทำงานฝีมือ เปลี่ยนความคิดว่างานฝีมือไม่จำเป็นต้องราคาถูก
ที่สำคัญมากสุดเห็นจะเป็นความสัมพันธ์ของครอบครัวที่หายไป แม้กระทั่งกลับมาบ้าน แม่ก็ยังถามว่าเมื่อไหร่จะกลับกรุงเทพฯ เป็นเรื่องของทัศนคติว่าลูกจะต้องทำงาน (ลูกจ้าง) ซึ่งจริงๆ แล้ว ชีวิตคนเราจะต้องทำงานแค่ไหน ไม่ได้หยุดคิดเลย ต้องทำงานโดยไม่ได้หยุด รู้ตัวอีกทีก็ตายแล้ว ที่เครียดคือชีวิตจริงในกรุงเทพฯ ต้องซื้อทุกอย่าง แต่กลับมาอยู่บ้านมันไม่ต้องซื้อ แล้วเรากลับมาทำจริงจัง เราบอกตัวเองว่าอย่าท้อ มีคนให้กำลังใจ ลูกค้าก็ให้กำลังใจ ซื้อแล้วมาซื้ออีก เราทำในสิ่งที่ดีให้เขาใช้
การผลิตในวันนี้เราก็ไม่ได้ปลูกคนเดียว แต่ไปเชื่อมโยงกันในหมู่บ้าน พี่คนนั้นย้อมผ้า คนนี้ย้อมด้าย หรือทางอุบลฯ ก็ปลูกด้วย บางคนทำหน้าที่ย้อม ย้อมด้วยมะเกลือจากเมืองกาญจน์ ซึ่งไปแจ้งว่าบ้านไหนมีมะเกลือจะรับซื้อหมด ใครมีอะไรที่ย้อมผ้าได้เราก็รับซื้อ แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป
จ๋าบอกว่ามาปลูกฝ้ายกันเถอะ ในชุมชนจะได้ใช้ของดีๆ แต่ก็ยังน้อย วัยรุ่นไม่มี เขาจะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยาสูบ ข้าว และก็ฉีดยาฆ่าหญ้า เขามีหนี้กันก็ต้องทำ แต่ที่เราทำมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้
“กลับบ้านได้กลิ่นควันฟืนที่ใช้หุงข้าว บ้านเราจน เราไม่มีแก๊สใช้ แต่มาวันหนึ่งรู้สึกว่าฟืนมันหอม แต่เรากลับหนีจากฟืนไปใช้แก๊ส ตัดกิ่งไม้มาทำฟืนได้ นึ่งข้าวได้ ทอดไข่ได้ ประหยัด
“นี่คือฝ้ายที่เราเห็นตั้งแต่เด็ก ตอนได้ขึ้นเครื่องบินเราได้เห็นก้อนเมฆมันเหมือนปุยฝ้าย ฝ้ายที่เราดีดตอนเด็ก ๆ มันเหมือนปุยเมฆของแม่
“นี่คือความทรงจำและวันนี้เขาทำให้เรามีรายได้ มีความสุข และไม่เป็นหนี้ สามารถกลับบ้านไปปลูกต้นบนที่ดินที่ซื้อไว้ได้”
นี่คือเรื่องราวของจ๋า ยุพิน ผูกพานิช และฝ้ายจ๋ายาใจ