เรายังไม่เคยเจอโรคที่เสี่ยง
กับมนุษย์มากเท่าไวรัสอู่ฮั่น

by IGreen Editor

ในประวัติศาสตร์ด้านการแพทย์ เรามีโรคที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงจนถูกบันทึกไว้หลายโรค เช่น ไข้ทรพิษ วัณโรค อหิวาตกโรค ไข้เลือดออก มาลาเรีย SARS MERS อีโบล่า เอดส์…แต่ยังไม่มีโรคใดที่ทำความเสี่ยงให้กับมนุษย์ได้มากเท่ากับไวรัสอู่ฮั่น (Wuhan 2019) ในปัจจุบัน

ยุคแรกๆ ที่เรารู้จักกัน คือ โรคไข้ทรพิษ เป็นแล้วตายในอัตราที่สูงถึง 30% แต่ถึงแม้จะยังไม่ตายหากติดโรคก็จะทุกข์ทรมาน คือมีตุ่มฝีทั้งตัว ไทยจึงเรียก ฝีดาษ เรารู้จักวิธีการป้องกัน คือ ใครเป็นฝีดาษ เราก็อยู่ให้ห่างไว้ ก็ไม่ติด ไม่รับเชื้อ…. วัณโรค ไอเป็นเลือด ผอม ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงก็จะเสียชีวิต

ดังนั้น ถ้าเป็นแล้วก็ทำร่างกายให้แข็งแรง กินยารักษา เมื่อกินยาแล้ว 2 สัปดาห์ ก็ไม่แพร่เชื้อ เราก็จะอยู่ห่างคนที่ไอมากๆ หรือรู้ว่าเป็นวัณโรค ก็จะไม่เสี่ยงที่จะติดต่อ และโชดดีที่วัณโรคติดยากหน่อย เพราะเป็นเชื้อที่โตช้า…

อหิวาตกโรคเป็นแล้วรุนแรงมาก ติดต่อได้ง่าย รวดเร็ว ท้องเสียกันจนถึงตาย แต่ดีที่หากเรากินอาหารที่ปรุงสุก อนามัยดีก็ไม่เป็นโรค และหากเป็นแล้วรักษาทันก็ไม่ตาย…ไข้เลือดออก ติดต่อง่าย แต่รักษาได้ หากรักษาทันอัตราการตายก็ไม่สูงมาก และรู้ว่ายุงเป็นพาหะนำโรค ดังนั้น การป้องกันยุงและกำจัดยุงก็ช่วยให้เราควบคุมโรคได้….

มาลาเรียหรือไข้ป่า เป็นแล้วรุนแรง แต่ก็มียารักษา และถ้าไม่เข้าป่าก็ไม่เสี่ยงติด…. SARS MERS อีโบล่า รุนแรงน่ากลัว เป็นแล้วตาย 10-90% จำเป็นต้องควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน และก็รู้ว่าติดจากสัตว์ ดังนั้น หากเรากำจัดสัตว์ป่วยก็ควบคุมโรคได้ และเป็นโรคที่ติดต่อเมื่อมีอาการ….

โรคที่น่ากลัวมากยุคหนึ่ง คือ เอดส์ หรือเชื้อ HIV เพราะถ้าเป็นแล้ว เราจะป่วยด้วยภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ตือป่วยได้จากเชื้อโรคซึ่งปกติไม่เคยทำร้ายคน เป็นการทำให้เชื้ออะไรๆ ก็เป็นอันตรายกับคนได้ แม้แต่เชื้อปกติที่อยู่ในลำไส้ หรือในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยทำร้ายคน แต่ถ้าเป็นเอดส์ก็จะทำให้คนนั้นเจ็บป่วยได้ และถึงตาย

จนช่วงหนึ่งที่พอใครรู้ตัวว่าเป็นเอดส์ ก็เหมือนถูกตัดสินประหารชีวิต ….ความน่ากลัวของเอดส์ คือ คนที่ป่วยแล้ว รับเชื้อแล้ว พร้อมจะแพร่เชื้อแล้ว จะยังไม่มีอาการได้นานถึง 3 เดือน แม้แต่ตรวจเลือดก็ไม่รู้ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่พร้อมจะแพร่เชื้อให้ใครก็ได้ที่มาสัมผัส … โชคยังดีที่โรคเอดส์ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งโดยทั่วไปคนที่ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่ของตนก็มีความเสี่ยงต่ำ และยังป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย โรคเอดส์จึงควบคุมได้ และในปัจจุบันมียารักษา ถึงจะไม่หาย แต่ก็ไม่มีโรคแทรก

ที่จริงมีโรคที่เราคุ้นเคย และติดต่อง่าย อีกหลายโรค ที่คนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว คือ ไข้หวัด และไข้วัดใหญ่ ซึ่งติดต่อง่ายมาก ด้วยการไอจามรดใส่กัน เพียงแต่เราไม่รู้สึกว่า โรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ จะเป็นปัญหา เพราะอัตราตายไม่สูง และติดต่อเมื่อมีอาการแล้วเท่านั้น (เราจึงป้องกัน และอยู่ห่างจากคนเป็นหวัดได้) ทำให้ความเสี่ยงไม่สูงมากนัก

ส่วนไวรัสอู่ฮั่น แหกกฏกติกาของโรคที่เราเคยรู้จัก … คือ นอกจากอัตราตายอยู่ในระดับสูงปานกลาง แล้วยังมีคนเป็นพาหะ ไม่ใช่ไก่หรือนก (ซึ่งเรากำจัดพาหะได้) ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลอาหารให้สะอาดเหมือนป้องกันอหิวาต์ ไม่เข้าป่าหรือกำจัดยุงเหมือนไข้เลือดออก หรือมาลาเรีย ป้องกันด้วยการไม่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปกติเหมือนเอดส์….

และที่สำคัญคือ แพร่เชื้อได้ขณะที่ไม่มีอาการ ทำให้เราไม่สามารถระวังตัวได้เหมือนไข้หวัด วัณโรค SARS MERS อีโบล่า เพราะโรคมาถึงตัวเราผ่านคนที่ไม่มีอาการ โดยที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าเขามีโรค หรือพร้อมจะแพร่เชื้อโรคให้เราแล้ว

น่ากลัวนะครับ เพราะเราจะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ เนื่องจากเราไม่สามารถกำจัดพาหะ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงพาหะที่กำลังแพร่เชื้อ … สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบัน 3 อย่างคือ

1)เมื่อสงสัยว่าป่วยให้รีบรักษา ผ่อนหนักให้เป็นเบา
2)เมื่อกลับจากพื้นที่เสี่ยง หรือ รู้ตัวว่าเสี่ยง(เป็นคนติดโรคหรือได้รับเชื้อโรค) ควรเก็บตัว เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่น
3)ป้องกันแบบตลอดเวลา (universal precaution) คือ คิดว่ามีโอกาสติดโรคได้จากคนอื่น ดังนั้น ในที่สาธารณะ ไม่ควรหยิบจับอะไร จากนั้นใช้มือมาหยิบอาหารเข้าปาก หรือขยี้ตา ควรล้างมือก่อนเมื่อมีโอกาส ใส่หน้ากากอนามัย ในกรณีที่ต้องอยู่รวมในที่คนจำนวนมาก นานเกิน 2 ชั่วโมง กินอาหารใช้ช้อนกลาง หรือหลี่กเลี่ยงการกินน้ำแก้วเดียวกับคนอื่น (ล้างแก้วก่อนเสมอ)

จะสบายใจได้อีกที หากเรามีวัคซีนป้องกัน เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ฝีดาษ ฯลฯ หรือพบยารักษา (เหมือนเอดส์รักษาได้แล้ว) ครับ (ล่าสุดแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีสามารถใช้ยาต้านไวรัสเอดส์และยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่รักษาได้แล้ว)

หมายเหตุ: นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความลงเพจชื่อ บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา

Copyright @2021 – All Right Reserved.