‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

กระทรวงทรัพย์เตรียมนำเสนอ 5 ประเด็นสำคัญของไทยในการเจรจาเวที COP29 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โชว์ตัวเลขลดก๊าซเรือนกระจก 43%

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาได้รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 9 – 22 พ.ย. 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วม พร้อมกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งได้เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจําปี พ.ศ. 2567-2568 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ตลอดจนนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยเตรียมไปเสนอในการประชุม COP29 ได้มุ่งเน้นการเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงและข้อตัดสินใจภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีทั้งหมด 5 ประเด็น ประกอบด้วย ดังนี้

1) การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30 – 40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2) การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

3) การเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4) ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรมจากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024) และ 5) การจัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี ซึ่งไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือน ธ.ค. 2567 ตามกำหนดเวลา

ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นเจรจาที่สำคัญในการประชุม COP29 ครั้งนี้ จะประกอบด้วย 1) การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนาคาดหวังกับการสนับสนุนทางการเงินทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Highly concessional loan) ที่มีความชัดเจน

2) การจัดทำ NDC 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของปี 2035 ที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส และผลการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 (The First Global Stocktake)

3) การเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage fund) ที่มีความชัดเจนในด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และแนวทางการขอรับการสนับสนุน ให้กับประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4) ความชัดเจนของตัวชี้วัด (Indicators) ตามเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก และตัวชี้วัดในระดับพื้นที่ ตามบริบทของประเทศภาคี และ 5) ความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีสที่จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเติมเกินจำเป็น

ทั้งนี้ การประชุม COP 29 และการประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้องจะประกอบด้วย ดังนี้
1) การประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Climate Action Summit) ระหว่างวันที่ 12 – 13 พ.ย. 2567 2) การประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 19 – 20 พ.ย. 2567

และ 3) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ซึ่งมีการเจรจาตามกรอบของกลุ่มประเทศ 77 และจีน (G77 and China) ระหว่างวันที่ 9 – 10 พ.ย. 2567 ภายใต้กรอบการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ รัฐภาคีพิธีสารเกียวโต รัฐภาคีความตกลงปารีส รวมถึงองค์กรย่อยภายใต้กรอบการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 11 – 22 พ.ย. 2567 โดยสามารถติดตามการประชุม COP29 ได้ทาง Facebook กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน