ปิดฉาก COP29 ไม่ราบรื่น ประเทศร่ำรวยช่วยโลกร้อนแค่ 3 แสนล้าน

Cr.ภาพ cop29 azerbaijan

ที่ประชุม COP29 จบลงอย่างทุลักทุเล แม้ประเทศร่ำรวยจะจ่ายให้เงินช่วยเหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าเป็นเงินที่น้อยไป

แม้ที่ประชุม COP29 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน จะสามารถบรรลุข้อตกลงโดยที่ประเทศร่ำรวยพร้อมจะจ่ายเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือราว 10.2 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน แต่พวกเขามองว่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับปัญหาผลกระทบที่ได้รับจากภาวะโลกร้อน ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศร่ำรวยเป็นผู้ก่อเสียมากกว่า

ทั้งนี้ ความไม่พอใจของประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากมองว่าข้อเสนอแรกที่จะช่วย 2.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีนั้นไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความเร่งด่วนที่เกิดจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายทางการเงินใหม่ (NCQG) ในการเพิ่มการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2035

ตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศแสดงความผิดหวังอย่างยิ่ง โดยมองว่าเป้าหมายทางการเงินที่ออกมาเป็นข้อตกลงที่ล้มเหลวที่ต่อยอดจาก COP28 โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ COP28 จบลงแค่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งเป็นเหตุให้ในการประชุมระดับสูงของ COP29 เมื่อวันเสาร์ที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนจากกลุ่มประเทศเกาะเล็กและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ได้เดินออกจากวงการเจรจา เนื่องจากไม่พอใจทั้งข้อเสนอ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ที่ไม่เพียงพอ และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยสนับสนุนการเงินด้านสภาพภูมิอากาศมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

นี่คือการประท้วงเพื่อแสดงออกถึงการไม่ตอบสนองของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเผชิญปัญหาหนักและรุนแแรงจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่พวกเขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า อย่างผู้แทนของเซียร์ราลีโอน กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาผิดหวังกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่ผู้แทนจากสหภาพยุโรป กล่าวในทำนองว่า จะมีการนำเงินจากภาคเอกชนเข้ามาสมทบอีกมากและจะบรรลุเป้าหมาย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งท่าทีของประเทศพัฒนาแล้วมองว่าทำไมพวกเขาจะต้องจ่ายมาก เนื่องจากทุกประเทศควรต้องร่วมกันจ่าย ทว่าข้อตกลงที่ผ่านๆ มา เป็นไปบนหลักการว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องมีความรับผิดชอบมากกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และยังมีความสามารถทางการเงินมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่เป็นไปด้วยความยากลำบากและขาดการเห็นดีเห็นงามร่วมกันครั้งนี้ ทางเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซิมอน สตีล ระว่า “มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก แต่เราก็บรรลุข้อตกลงได้ เป้าหมายทางการเงินใหม่นี้เป็นนโยบายหลักประกันสำหรับมนุษยชาติ ท่ามกลางผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้ายลงที่กระทบต่อทุกประเทศ”

“ข้อตกลงนี้จะช่วยให้การเติบโตของพลังงานสะอาดเติบโตต่อไปและปกป้องชีวิตของผู้คนนับพันล้านชีวิต ข้อตกลงนี้จะช่วยให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์มหาศาลจากการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่กล้าหาญ ได้แก่ การมีงานทำมากขึ้น การเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น พลังงานที่ถูกกว่าและสะอาดกว่าสำหรับทุกคน

“แต่เช่นเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ ที่จะได้ผลก็ต่อเมื่อชำระเบี้ยประกันครบถ้วนและตรงเวลาเท่านั้น ไม่มีประเทศใดได้ทุกอย่างที่ต้องการ และเรายังมีงานอีกมากที่ต้องทำที่บากู ดังนั้น นี่ไม่ใช่เวลาที่จะฉลองชัยชนะ”

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนอินเดีย จันนี ไรนา กล่าวว่า “เราผิดหวังกับผลลัพธ์ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความไม่เต็มใจของประเทศพัฒนาแล้ว…เสียใจที่ต้องบอกว่าเอกสารฉบับนี้เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น ในความเห็นของเรา เอกสารนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่หลวงที่เราทุกคนต้องเผชิญ ดังนั้น เราจึงคัดค้านการนำเอกสารฉบับนี้ไปใช้”

ด้าน เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ระบุว่า “หวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ทะเยอทะยานกว่านี้ ทั้งในด้านการเงินและการบรรเทาผลกระทบ เพื่อรับมือกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ แต่ข้อตกลงนี้เป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างรากฐาน ข้อตกลงต้องได้รับการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่และตรงเวลา คำมั่นสัญญาต้องกลายเป็นเงินสดอย่างรวดเร็ว”

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอังกฤษ เอ็ด มิลลิแบนด์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า นี่เป็นข้อตกลงสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพอากาศในนาทีสุดท้าย นี่ไม่ใช่ทุกอย่างที่เราหรือคนอื่นๆ ต้องการ แต่เป็นก้าวสำคัญสำหรับเราทุกคน…ข้อตกลงในวันนี้ส่งสัญญาณว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ นับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 21 และด้วยการสนับสนุนของเรา เราจึงสามารถช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนได้”

ผู้แทนแห่งหมู่เกาะมาร์แชลล์ ระบุในคำแถลงว่า “พวกเรามาด้วยความเชื่อที่ดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชุมชนและความเป็นอยู่ที่ดีของโลกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นการฉวยโอกาสทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดที่นี่ใน COP ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเล่นเกมกับชีวิตของผู้คนที่เปราะบางที่สุดในโลก

“กลุ่มผลประโยชน์ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มุ่งมั่นที่จะขัดขวางความก้าวหน้าและทำลายเป้าหมายพหุภาคีที่เราได้ร่วมกันสร้างขึ้น ซึ่งจะต้องไม่ปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเด็ดขาด แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เราได้ต่อสู้อย่างหนักและได้บางสิ่งบางอย่างมาให้กับชุมชนของเรา เราได้เงินทุนจำนวนเล็กน้อยจากประเทศที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งต้องการอย่างเร่งด่วน

“มันไม่เพียงพอเลย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น และเราได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าเงินทุนนี้ต้องมีอุปสรรคน้อยลงเพื่อให้ไปถึงผู้ที่ต้องการมากที่สุด นอกจากนี้ เรายังปฏิเสธผู้ที่พยายามจะยกเลิกข้อตกลงที่เราทำไว้เกี่ยวกับการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย”

ผู้แทนซาอุดีอาระเบียพูดในนามของกลุ่มอาหรับระบุตอนหนึ่งว่า “กลุ่มอาหรับ … เห็นว่าเราจำเป็นต้องยืนยันหลักการพื้นฐานเพิ่มเติมในความพยายามในการบรรเทาผลกระทบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานตามข้อตกลงปารีสและ UNFCCC …หลักการดังกล่าวได้แก่ ความเสมอภาค และความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่างกัน รวมถึงการยืนกรานถึงความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำความพยายามเหล่านี้ในระดับโลก

“ซึ่งรวมถึงการยอมรับแนวทางต่างๆ ที่สะท้อนถึงเงื่อนไขและศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละรัฐ ตลอดจนความสำคัญของความเคารพและอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ตลอดจนความทะเยอทะยานใน NDC ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางและกระดูกสันหลังของข้อตกลงปารีส เนื่องจากสะท้อนถึงความทะเยอทะยาน ตลอดจนความปรารถนาและเงื่อนไขของแต่ละรัฐ”

“เราจะต้องเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ สามารถกำหนดเส้นทางของตนเองได้…นอกจากนี้ เราต้องตระหนักด้วยว่าโซลูชันเพียงตัวเดียวไม่สามารถแก้ไขความท้าทายต่างๆ มากมายที่เราเผชิญร่วมกันในระหว่างเส้นทางการพัฒนาของเราได้”

อ้างอิง:
https://news.un.org/en/story/2024/11/1157416
https://www.theguardian.com/environment/2024/nov/23/cop29-wealthy-countries-agree-to-raise-climate-finance-offer-to-300bn-a-year
https://www.reuters.com/business/environment/cop29-climate-summit-overtime-what-are-countries-saying-2024-11-23/

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย