หลัง COP29 ไทยเร่งจัดทำข้อมูลความเสี่ยงน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม คลื่นความร้อน เดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิตยันไม่ให้มีฟอกเขียวภาคอุตสาหกรรม
คำอธิบายผลการประชุม COP29 อย่างละเอียดจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้บรรยายในงานวันสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2567 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมาโดยมี 5 ประเด็นหลักๆ ที่สำคัญ
ผู้นำกรมลดโลกร้อน บอกว่าไทยเข้าร่วมประชุม COP29 หรือประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่ม G77 และจีน ซึ่งมี 134 ประเทศ โดยในการเจรจาไม่ใช่ทำตามความต้องการโดยไม่สนอีก 133 ประเทศ นอกจากกลุ่ม G77 ยังมีกลุ่มอาหรับ กลุ่มแแอฟริกัน กลุ่มประเทศหมู่เกาะ และกลุ่มละตินอเมริกา เจรจาของแต่ละกลุ่มเขาจะหาประโยชน์ร่วมกันเพื่อให้มีพลังในการต่อรองและได้ข้อตัดสินใจในแต่ละเรื่องที่เป็นประโยชน์ของกลุ่มประเทศนั้นๆ
การประชุม COP29 เป็นคอปพิเศษเพราะเป็นคอปการเงิน เป็นการตัดสินใจว่าเงินที่สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาจากประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ถึงจะสามารถไปสู่เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ความตกลงปารีสได้ นี่คือสิ่งที่มุ่งหวังจากการประชุม COP ครั้งนี้หรือเรียกว่าเป้าหมายทางการเงินใหม่
การเงินใหม่นี้จะมาแทนที่การเดิม ซึ่งมีเป้าตั้งแต่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 แต่ว่าไม่สำเร็จ มาสำเร็จในปี 2022 ซึ่งมีรายงานออกมาของ OECD ซึ่งประเทศไทยกำลังจะเข้าไปเป็นสมาชิก เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ ประเทศพัฒนาแล้วใส่เข้ามาครบแล้ว แต่ประเทศกำลังพัฒนาตั้งคำถามว่าใส่ครบหรือไม่ เงินมาจากไหน ทำไมไม่มีความโปร่งใส ทำไมตรวจสอบไม่ได้ อันนี้เป็นประเด็นที่ถูกพูดคุยกันมากพอสมควร
ในการประชุม COP มี 197 ภาคีสมาชิก โดยทางเลขาธิการยูเอ็นบอกว่า ช่วงที่ผ่านมาร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และบอกว่าคนรวยสร้างปัญหา – The rich cause the problem แต่คนจนต้องได้รับผลกระทบ – The poor pay the highest price การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต้องลงทุนไม่ใช่ทางเลือก แต่เขาเน้นย้ำว่า ต้องเป็นธรรมและเหมาะสมที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจใหม่ต้องใส่เงินลงมา เพราะปล่อยก๊าซกว่า 80% ของทั้งโลก
กลไกคาร์บอนเครดิตซึ่งมีสองเสียงที่แตกกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ ถ้าทำให้กลไกตาร์บอนเครดิตมีคุณภาพได้ ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าทำอย่างไร คาร์บอนเครดิตคือฟอกเขียว
อังกฤษบอกว่าไม่สนใจประธานาธิบดีทรัมป์ของอเมริกา เพราะในปี 2035 เขาตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 81% ทั้งโลกอยากเห็น 60% เยอรมันตั้งเป้า Net Zero ปี 2045 เร็วที่สุดในโลก และยังไม่ได้ถอยเป้าหมายนั้น ไม่ว่าอเมริกาจะมีท่าทีอย่างไรก็แล้วแต่ ด้านญี่ปุ่นก็ดิ้นรนพอสมควรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ และยังไม่ได้ปรับเป้าหมาย
ในส่วนประเทศกำลังพัฒนา อินเดียเน้นย้ำเสมอว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องใส่เงินเข้ามา เพื่อช่วยให้อินเดียเปลี่ยนผ่านได้เพราะอินเดียเป็น 1 ใน 5 ของโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีจีนปล่อยอันดับ 1 สูงที่สุด ตามด้วยสหรัฐ อันดับ 3 อินเดีย ซึ่งเศรษฐกิจไม่ได้ดี เลยอยากได้เงินมาช่วยในการปรับเปลี่ยนประเทศ และบราซิลมีป่าแอมะซอน ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 59-67 ภายในปี 2035 เทียบกับระดับ 2019
ขณะที่มาเลเซียกำลังออก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยก็กำลังทำ ถ้าเราไม่ทำต่อ มาเลเซียก็ทำนำหน้าเรา ถ้าเขาออกมาเมื่อไหร่ประเทศพัฒนาแล้วก็จะเห็นความมุ่งมั่้นของเขา เงินก็จะไหลมาเทมาในส่วนนั้น จีนเศรษฐกิจโตขึ้น วันนี้ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยตั้งแต่ปี 1850 ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ก๊าซสะสมที่ปล่อยมาถึงตอนนี้ จีนปล่อยมากกว่ายุโรปเรียบร้อยแล้ว ปีแรกๆ จีนอาจจะปล่อยน้อย แต่จีนพัฒนามากขึ้นก็ปล่อยสูงมากขึ้น
ยุโรปตอนแรกปล่อยเยอะ แต่ค่อยๆ ลดลงมา มันเลยตัดกันพอดี จึงมีคำถามว่าเราร้องเรียกเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว เหตุผลมันพอหรือไม่ที่จะรักษาอุณหภูมิ 1.5 องศา ดร.เฉลิมชัย (ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เน้นย้ำว่า ประเทศไทยเดินหน้าต่อเนื่องแน่ ในการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว การส่งเป้าหมายในปี 2035 เราจะมีความสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส
นี่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่สอดคล้อง การเข้าถึงกลไกการเงินจะยากลำบากมาก คำถามแรกที่เขาจะถามกลับมา สิ่งที่ประเทศไทยกำลังทำตอบโจทย์และเป้าหมายที่จะคุมอุณหภูมิ 1.5 องศาหรือไม่ ถ้าเราตอบไม่ได้ มันก็อธิบายยากในการเข้าถึงกลไกการเงิน
ผมขอย้อนไป COP26 ที่กลาสโก สกอตแลนด์ มีการเรียกร้องให้ยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็ทำได้แล้ว โดยมี 70-80 ประเทศประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero รวมถึงประเทศไทยด้วย พอถึง COP27 เมื่อเป้าหมายมันท้าทาย จะทำอย่างไรที่จะนำเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ทั้งโลกจึงอยากเห็นการลดก๊าซเรือนกระจก 43% ในปี 2030 และเป็น 60% ในปี 2035 และมีการพูดถึงกองทุนความสูญเสียและเสียหาย ใครได้รับผลกระทบเยอะจะเอาเงินมาจากไหน ก็ตั้งตั้งกองทุนขึ้นมา
พอ COP28 มีการประเมินสถานการณ์ระดับโลกที่ทุกคนรักกันมาก ต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อที่จะลดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือปรับตัวแล้วมีประสิทธิภาพแค่ไหน หรือที่เรียกว่า Global Stocktake หรือการประเมินสถานการณ์ระดับโลก ปรากฎว่าการลดก๊าซเรือนกระจกห่างเป้าหมายมาก เราอยากเห็น 43% ในปี 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 วันนี้ทำได้ประมาณ 10% อุณหภูมิที่เราอยากเห็นอาจจะไม่ได้เห็น อาจจะได้เห็น 2 องศา 2.7 องศา หรือ 3 องศา แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร นี่คือคำถามสำคัญ
ต่อเนื่องมาที่ COP29 จะยกมาอธิบายแค่ 5 เรื่องสำคัญ ที่การประชุมไม่สามารถจบได้ตามเวลา ลากยาวข้ามวันข้ามคืน จากจะจบศุกร์ไม่จบ เสาร์ไม่จบ ไปจบเอาวันอาทิตย์เช้า
ความท้าทายการเข้าถึงการเงิน 3 แสนล้าน
เรื่องแรกคือ เป้าหมายทางการเงินใหม่ ซึ่ง COP29 คือคอปแห่งการเงินและเป็นคอปที่ต้องตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องใส่เข้ามา โดยได้ข้อสรุปใหม่ว่า เราจะได้เป้าหมายทางการเงินที่สูงขึ้นจากเดิมใส่เข้ามา 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ครั้งนี้ตกลงอยู่ที่ 3 แสนดอลลาร์ต่อปีจากปี 2025 จนถึง 2035 โดยต้องพยายามเพิ่มเงินให้ถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ให้ได้
จาก 1 แสนไปเป็น 3 แสน ไม่เยอะ เพราะถ้าจะลดก๊าซเรือนกระจกตาม NDC ในปี 2030 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกต้องใช้เงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ครั้งนี้ได้มา 3 แสน แสดงว่าเงินหายไป 70% และ 3 แสนก็ไม่ได้สัญญาว่าจะได้ในปีหน้า แต่จะได้ครบในปี 2035 หรือ พ.ศ. 2578 คือจะทยอยเพิ่มขึ้น โดยประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นผู้นำในการหาเงินเข้ามาใส่ ต่างจากเดิม เมื่อมีผู้นำก็ต้องมีผู้ตาม
โดยประเทศพัฒนาแล้วสามารถหาเงินจากแหล่งอื่นๆ มาใส่ใน 3 แสน เช่น มาจากเอกชนทั้งภายในภายนอกปรเะเทศ หรือธนาคารพหุภาคี หรือกองทุนภาคีด้านการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงที่ประเทศพัฒนาแล้วใส่เข้ามา รวมทั้งที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนที่เศรษฐกิจดีบริจาคเข้ามาด้วย โดยสมัครใจ ซึ่งเป็นการเรียกให้มีการระดมทุนให้ได้ 1.3 ล้านล้านในปี 2035 ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ เพราะเป็นการเรียกร้อง
สำหรับเงิน 3 แสนล้านจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการลดก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทาย ท้าทายโดยสอดคล้องกับความตกลงปารีส การปรับตัวก็เหมือนกันจะต้องมีความชัดเจนและท้าทายกับการปรับตัวของโลกด้วย และประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ต้องลดข้อจำกัดในการเข้าถึงทางการเงิน ที่ผ่านมามันยาก ในข้อตัดสินใจมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1) การเสนอ proposal ไปขอเงินต้องถูกลง เพราะมีต้นทุน 2) ต้องมีเงินที่ประเทศใส่ร่วมเข้าไปด้วย หรือ co-finance 2-3 เท่า ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาบอกว่ามันเยอะไป ขอลดตรงนี้ลง และ 3) กระบวนการพิจารณาล่าช้ามาก เอกสารเยอะแยะมากมาย อยากให้กระบวนการสั้นลง
นี่คือสิ่งที่ผูกมาจากเป้าหมายทางการเงินใหม่ และมี Baku to Belem Roadmap to 1.3 Trillion USD ในข้อตัดสินใจ มีแผนที่การหาเงิน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนจะไปประชุมที่บราซิลในปีหน้า (COP30)
เรื่องที่ 2 คือ กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย ประเทศที่เปราะบางรวมถึงประเทศไทย ในอาเซียนเมียนมาเปราะบาง อันดับ 3 ฟิลิปปินสห์ อันดับ 4 ไทย อันดับ 9 มีแค่ 3 ปรเเทศที่ติดท็อป 10 กองทุนนี้จึงมีความสำคัญ โดย COP29 กองทุนตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเริ่มใช้จ่ายเงินได้อย่างน้อย 731 ล้านดอลลาร์ที่มีอยู่ และมีผู้จัดการกองทุนแล้ว มีสำนักงานแล้ว มีกรรมการบริหารกองทุนเรียบร้อย (ด้านวิชาการมีสำนักงานใหญ่ที่เจนิวา ด้านการเงินมีสำนักงานใหญ่ที่ฟิลิปปินส์)
เรื่องที่ 3 การยกระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เงินยังไม่มาแต่เป้าหมาย 1.5 ยังต้องท้าทาย แต่ละประเทศอาจลดก๊าซต่างกัน เป้าหมายแตกต่างกัน แต่ทั้งโลกอยากเห็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 43% ในปี 2030 และ 60% ในปี2035 และปีหน้าประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกจะต้องส่งเป้าหมายใหม่ของปี 2035 ว่าเราจะเสนอตัวเลขที่เท่าไหร่
เรื่องที่ 4 การปรับตัว มีความชัดเจนมากขึ้น ประเทศไทยพยายามปรับตัวลงไปที่ชุมชนและพื้นที่ โดยมีการปรับตัวใน 6 สาขาที่เปราะบาง คือ 1. การจัดการน้ำ 2. การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3. การท่องเที่ยว 4. สาธารณสุข 5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับที่ประชุม COP28 และ COP29 หรือทั่วโลกที่เห็นไปทิศทางนี้ ที่เพิ่มเติมมาคือเรื่องการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งเราสามารถนำไปผนวกกับเรื่องการท่องเที่ยวได้
ทั้งนี้ ในกลางปีหน้าจะมีการประชุมด้านเทคนิคที่เยอรมนี จะให้ผู้เชี่ยวชาญกำหนดตัวชี้วัดรายตัวที่บ่งบอกแต่ละสาขาว่า จะวัดว่าเราปรับตัวได้ดี มีขีดความสามารถสูงขึ้น มีภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบ มันวัดยังไง ถ้าเราวัดของเราแล้วต้องไปเชื่อมกับระดับโลกได้ เพราะต้องประเมินทั้งโลกอีกครั้งในปี 2028 หรือ 5 ปีจากนี้
เดินหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต..ไม่ฟอกเขียว
เรื่องสุดท้ายคือ กลไกคาร์บอนเครดิต (Article 6) ซึ่งมีสองเสียงที่แตกกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ ถ้าทำให้กลไกตาร์บอนเครดิตมีคุณภาพได้ ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ว่าทำอย่างไร คาร์บอนเครดิตคือฟอกเขียว มี 2 เสียงที่แตกกัน แต่ที่เราต้องทำ เพราะประเทศไทยต้องใช้ทุกกลไกที่ใช้ได้รวมถึงคาร์บอนเครดิตด้วย แต่เราต้องใช้และยืนยันให้ได้ว่า คาร์บอนเครดิตต้องไม่นำไปสู่การฟอกเขียวภาคอุตสาหกรรม ถ้าเราไม่ทำ ไม่ใช้ประโยชน์ คนอื่นเขาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยก็ต้องใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย
เราจะทำอะไรต่อไปหลังจากประชุม COP29 …ประเทศไทยจะขับเคลื่อนเป้าหมายต่อไปในอนาคตทั้งปี 2030 และปี 2035 ในปี 2030 แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขามีทุกมาตรการทั้งพลังงาน ขนส่ง เกษตร ของเสีย อุตสาหกรรม มีตัวเลขครบหมดทุกมาตรการ มีหน่วยงานรับผิดชอบหมดทุกหน่วยงาน มีการายงานผลให้กับกรมลดโลกร้อนทุก 1 ปี ที่ต้องนำเข้ากรรมการแห่งชาติเพื่อทราบและขับเคลื่อนเป้าหมายปี 2030
แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเร่งทำงานเพื่อจัดทำข้อมูลความเสี่ยงเรื่องผลกระทบทั้งประเทศ เพื่อดูว่าพื้นที่ไหนจะมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม คลื่นความร้อน เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ ดีขึ้น
เมื่อมีแผนที่ความเสี่ยงชัดเจน แผนปรับตัวระดับประเทศชัดเจน ต้องทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้เห็นภาพการปรับตัวที่ลงในระดับพื้นที่ได้ มีโครงการนำร่องที่จะเข้าไปทำงาน และมีพี่น้อง ทสม.เข้าไปช่วย มีผลงานที่จะขยายไปพื้นที่อื่นๆ เป็นพื้นที่ต้นแบบ นี่คือการขับเคลื่อนนโยบายและแผน
ในส่วนของการเงินจะต้องมีศักยภาพในการเข้าถึงเงิน ที่บอกว่าเราอยากได้ 1 ล้านล้าน มันมาแค่ 3 แสนล้าน แต่มี 140 กว่าประเทศอยากได้เงินก้อนนี้ เค้กมีก้อนเดียว มันต้องแบ่งกัน แต่กฎการแบ่งไม่ได้เอามาแบ่งเท่าๆ กัน -ไม่ใช่ ประเทศหมู่เกาะ ประเทศที่เปราะบางมากๆ เขาได้สิทธิพิเศษในการกินเค้กก้อนนี้ไปแล้ว ที่เหลือต้องแข่งกัน ใครเก่งกว่า มีข้อเสนอที่ดีกว่า มีโอกาสได้เงิน 3 แสนล้านนี้มากกว่า ใครไม่ยึดโยงกับเป้าหมายความตกลงปารีส ไม่ยึดโยงกับ 1.5 องศาเซลเซียส มีโอกาสได้เงินน้อยกว่า
นี่คือทำไมเราต้องพัฒนาศักยภาพ ต่อมาการวางแผนระดมทุนเพื่อรองรับ NDC ในอนาคตทั้ง NDC 2030 ที่ทำงานกับ ADB อยู่ น่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนในปีหน้า และ NDC ปี 2035 ซึ่งตอนส่งเป้าหมาย เราจะมีแผนทางการเงินที่อยากได้เงินจากต่างปรเะเทศเข้ามาสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกมาพร้อมกัน ไม่เหมือนเดิมที่ส่งเป้าหมายไปก่อน แล้วค่อยไปทำแผนการเงินทีหลัง ตอนนี้กรมบอกว่าเป้าหมายพร้อมกับแผนทางการเงิน ประเทศพัฒนาแล้วเห็นแผนทางการเงินเรารู้เลยว่าเราอยากได้อะไร มีข้อเสนอชัดเจน
พรบ.โลกร้อนเครื่องมือสำคัญ
นอกจากนี้ การเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีกลไกใหม่ๆ เข้ามาใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย ประเมินผลกระทบทางกฎหมายแล้ว ไปรับฟังความคิดเห็นในระบบกฎหมายกลางเรียบร้อยแล้ว กำลังประมวลผลเพื่อเสนอกรรมการแห่งชาติในเดือนนี้ (ธ.ค.) และไปเสนอ ครม.ในเดือนหน้า (ม.ค.)
ก็หวังว่าจะไม่มีคนคัดค้าน พ.ร.บ. แต่อาจจะมีไม่เห็นด้วยในบางประเด็น อยากให้แก้ไขปรับปรุง เราก็จะรับมาเพื่อแก้ไขปรับปรุง แต่ถ้าคัดค้านไม่ให้มี พ.ร.บ.มันจะไม่มีเครื่องมือใหม่อะไรเลยที่จะให้ประเทศไทยหยิบยกมาใช้ได้ ในเวลาที่เราต้องใช้มัน เพราะกฎหมายใดในประเทศไทยไม่มีเครื่องมือพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลไกราคาคาร์บอนในการจำกัดสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซสูง ภาษีคาร์บอนที่เป็นภาษีคาร์บอนไม่ได้อ้างอิงภาษีสรรพสามิต กลไกคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูงที่สามารถเอามาเชื่อมโยงได้
และจะมี Thailand CBAM ป้องกันการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าบางอย่างที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เมื่อประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจก แต่สินค้าในประเทศอื่นๆ ข้างบ้านเราไม่ลด ทำได้ถูกกว่า และส่งมาขายเรา เราก็แพ้ เราก็ต้องมีกลไกทางกฎหมาย กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ มาเลเซียก็เร่งออก อยากจะเป็นผู้นำในอาเซียนในเรื่องนี้เหมือนกัน และเราก็เร่งช่วยกันผลักดันกฎมายฉบับนี้
ส่วนการจะใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากน้อยแค่ไหน มันเลือกระยะเวลาในการบังคับได้ เราบังคับให้เป้าหมายไม่ต้องเข้มมากในบางเรื่องแล้วค่อยๆ ทยอยเข้มขึ้น เราสามารถทำได้ ถ้าเรามีกฎหมาย แต่ถ้าเราไม่มี เราทำอะไรไม่ได้เลย ใครจะทำอะไรก็แล้วแต่ ประเทศไทยไม่มีกฎหมายก็ไม่มีเครื่องมือใหม่ๆ
สุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของงานวิจัยโดยได้ทำงานร่วมกับกระทรวง อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ทำกรอบแผนงานวิจัยแห่งชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เงินพันกว่าล้านที่ออกไปสู่นักวิจัยทุกๆ ปี มันเป็นพันล้านที่ได้ผลกลับมาพันล้าน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และแผน และเป้ามายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ชี้วัดได้
ความเห็นผมและที่คุยกับ อว.เราไม่อยากให้เงินนี้ไปเพียงแค่ตอบโจทย์นักวิจัยเท่านั้น นักวิจัยทำงานเสร็จ ประเทศต้องเอากลับมาใช้ได้ และต้องใช้ได้ทันทีตามที่โจทย์ประเทศบอก นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2568
ทสม.และทุกภาคส่วนช่วยผลักดันสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สำหรับการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ต้องอาศัยพี่น้อง ทสม. 290,976 ชีวิต ณ วันที่ 2 ธ.ค. 2567 ต้องช่วยกันในการขยายองค์ความรู้ เพราะให้กรมทำเท่าไหร่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ผมไม่สามารถเข้าถึงคน 66 ล้านคนได้ แต่ต้องมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อาสาสมัคร และภาคเอ็นจีโอด้วย และอื่นๆ ในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงกัน เห็นความตั้งใจของประเทศไทยในการเดินหน้าและเราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทุกอย่าง
เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก เราไม่ใช้คนอื่นก็ใช้ (กฎหมาย) ท่านจะยอมให้คนอื่นใช้และได้ประโยชน์แล้วเราไม่ใช้ มันจะเป็นไปได้หรือ แต่เราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วไม่กระทบกับพี่น้องประชาชน ไม่ให้เกิดการฟอกเขียว ผมอาจจะโดนด่าถ้าผมพูดว่าผมสามารถป้องกันการฟอกเขียวได้หลายครั้งหลายคราว แต่ผมก็จะพูดและก็จะยืนยันความตั้งใจว่าผมจะป้องกันไม่ให้เกิดการฟอกเขียวในการใช้คาร์บอนเครดิตจาก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ไม่ว่าท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ท่านก็ต้องรอดู… วันนี้เลขา UNFCCC บอกว่า “เป้าหมายทางการเงินใหม่เปรียบเสมือนหลักประกันให้กับมนุษยชาติในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ร่วมกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นได้” แต่ผมบอกว่า “เป้าหมายที่ท้าทายและขีดความสามารถจะเป็นตัวชี้วัดการในเข้าถึงการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีอย่างจำกัดในทศวรรษนี้”
นั่นคือข้อความที่ผมอยากสื่อสารว่า ถ้าเราไม่ท้าทาย เราไม่มุ่งมั่น เรามีโอกาสแพ้ ในการเข้าถึงกลไกทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดแค่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปี 2035 ในระหว่างนี้อาจจะมีแค่ 1.2 แสน 1.3 แสน 1.5 แสนไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นการแข่งขันจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ผมอยากได้กำลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ท่านไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนกรมนะครับ กรมเป็นแค่จิ๊กซอร์ตัวเดียวของประเทศนี้ แต่ทุกคนต่างหาก ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนต่างหากที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และที่มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต