การจัดการที่ดินที่ดีขึ้นสามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่ไม่ใช่ทางออกเดียว เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญ หากต้องการรักษาภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส
รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) สามฉบับที่เปิดตัวในปี 2018 และ 2019 ประเมินความครอบคลุมและแนวโน้มเฉพาะเจาะจงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการเปิดเผยรายงานเหล่านี้ออกมาก่อนหน้ารายงานการประเมิน ครั้งที่ 6 (Sixth Assessment Report) ที่กำหนดจะเสร็จสิ้นในปี 2022
- รายงานพิเศษเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส (Global Warming of 1.5 ºC) ระบุว่า การจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ยกเว้นแต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นประวัติการณ์ในทุกด้านของสังคม การสกัดกั้นให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส มีประโยชน์ชัดเจนเมื่อเทียบกับการปล่อยให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบมากมายแล้ว
การจำกัดภาวะโลกร้อนให้อุณหภูมิเพิ่มที่ 1.5 องศาเซลเซียสสามารถบรรลุควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายระดับโลกอื่น ๆ เช่น การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน
- รายงานพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและที่ดิน (Special Report on Climate Change and Land) เน้นย้ำว่า ตอนนี้ผืนดินโลกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากน้ำมือมนุษย์เป็นอย่างมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อผืนดินด้วย ในเวลาเดียวกัน การรักษาภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส สามารถทำได้โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคที่เกี่ยวกับการใช้ผืนดินและอาหาร
รายงานแสดงให้เห็นว่าการจัดการที่ดินที่ดีขึ้นสามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่ไม่ใช่ทางออกเดียว เพราะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญ หากต้องการรักษาภาวะโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส (หากทำไม่ได้ตามเป้า 1.5 องศาเซลเซียส)
- รายงานพิเศษเกี่ยวกับมหาสมุทรและพื้นที่ส่วนหนึ่งของโลกที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Special Report on the Ocean and Cryosphere in a Changing Climate) ระบุว่า จนถึงปัจจุบันมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนเกินกว่า 90% ในระบบภูมิอากาศ ภายในปี 2100 มหาสมุทรจะดูดซับความร้อนเพิ่มขึ้น 2 – 4 เท่า เทียบกับระหว่างปี 1970 ถึงปัจจุบัน หากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิถูกจำกัดไว้ที่ 2 องศาเซลเซียส แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 – 7 เท่าหากการปล่อยก๊าซสูงขึ้นไปอีก ภาวะโลกร้อนในมหาสมุทรจะทำให้เกิดการลดการผสมกันระหว่างชั้นน้ำและส่งผลต่อปริมาณออกซิเจนและสารอาหารสำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเล
ข้อมูลจากองค์กร Future Earth และ Earth League
- ข้อมูลเชิงลึกของสภาพภูมิอากาศ
หลักฐานที่รวบรวมได้ตอกย้ำว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบบนโลก โดยเฉพาะในยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคแอนโธรโปซีน (Anthropocene)
ผลกระทบต่อสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เราขยับเข้าใกล้จุดเปลี่ยนสำคัญ หากไปถึงจุดเปลี่ยนนี้จะนำไปสู่ผลกระทบที่ใหญ่หลวง ในบางกรณีอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และ/หรือ การเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับให้เป็นเหมือนเดิมไม่ได้อีก
ในเวลานี้ มีความตระหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าผลกระทบต่อสภาพอากาศนั้นรุนแรง และเร็วกว่าการประเมินสภาพอากาศที่ระบุไว้ แม้ว่าจะเพิ่งระบุไว้เมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี่เองก็ตาม
เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น เมืองต่าง ๆ ก็จะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อผลกระทบจากปัญหานี้ เช่น ความเครียดจากความร้อน ดังนั้นเมืองต่าง ๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
กลยุทธ์ในการลดระดับความเสียหาย และยกระดับการปรับตัวด้วยการจัดการความเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต แต่ทั้ง 2 อย่างก็ยังไม่เพียงพอ หากจะพิจารณาขอบเขตและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มีเพียงมาตรการที่เป็นรูปธรรมและทำได้ในทันทีเท่านั้น คือ การส่งเสริมมาตรการ de-carbonization ในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง การป้องกันและการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon sink) และการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความพยายามในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement)
อ้างอิง: https://www.unenvironment.org/news-and-stories/press-release/landmark-united-science-report-informs-climate-action-summit?fbclid=IwAR1lA-MjGlJjhbhqbZ5NWJTYAJUKRecInbVFwm9rg3fc2rdjTjUYU8gZPv0