ความหลากหลายทางชีวภาพวิกฤต COP16 ทวงคืนสมดุลระบบนิเวศโลก

การขยายตัวของเมือง การทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงล้วนเป็นสาเหตุให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น

รายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ในปี 2020 ระบุสาเหตุของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมาจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและทะเล และมลพิษ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และทำให้ประชากรสัตว์ป่าลดลงเฉลี่ย 69% ตั้งแต่ปี 1970

สาเหตุทั้งหมดนี้มาจากการขยายตัวของเมือง การทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร แน่นอนว่ามนุษย์ทำไปเพราะต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัด ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งมีชีวิตบางชนิดมีจำนวนลดลงหรืออยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพืชประมาณ 15,000 ชนิด คิดเป็น 8% ของพืชทั้งหมดในโลก

เพื่อปกป้องระบบนิเวศโลกให้กลับมาสมดุล การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity Conference of the Parties : CBD COP) จึงมีความสำคัญ โดยจะมีการประชุมครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. – 1 พ.ย. 2024 ที่เมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย หลังมีการรับรองกรอบคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal) ในการประชุมครั้งที่ 15 เมื่อปี 2022 ซึ่งปกติการประชุม CBD COP จะจัดขึ้นทุกสองปี โดยสหรัฐอเมริกามีบทบาทในการร่างอนุสัญญานี้ แต่กลับเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ให้สัตยาบัน

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพืชประมาณ 15,000 ชนิด คิดเป็น 8% ของพืชทั้งหมดในโลก แต่ในปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพของไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามหลายประการ ทั้งจากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัด ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยากต่อการควบคุมซึ่งส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งมีชีวิตบางชนิดมีจำนวนลดลงหรืออยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์

จากการรวบรวมสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของไทย มีดังนี้
1) พรรณไม้ จำนวนทั้งสิ้น 12,050 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามใน 2563 จำนวน 999 ชนิด และปี 2565 พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย 3 ชนิด คือ ขมิ้นรางจืด ว่านแผ่นดินเย็นเห็มรัตน์ และปอยาบเลื้อย

2) สัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวน 5,005 ชนิด มีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ประกอบด้วย ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในปี 2560 จำนวน 676 ชนิด และในปี 2564-2565 พบสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกในไทย 2 ชนิด คือ กะท่างน้ำอุ้มผาง ซึ่งเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และตุ๊กแกประดับดาว

ส่วนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังพบชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก จำนวน 10 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในถ้ำ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 และ 2566 ยังพบสัตว์เพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด เช่น การค้นพบมดชุติมา แตนเบียนวียะวัฒนะ แตนเบียนสะแกราช และโคพีพอด ใน จ.นครราชสีมา และปูมดแดง อาจารย์ซุกรี ในพื้นที่ จ.พัทลุง หรือเทือกเขาสูงทางภาคใต้

3) จุลินทรีย์ชนิดใหม่ของโลกในปี 2565 พบจำนวน 2 ชนิด คือ Savitreella phatthalungensis ค้นพบใน จ.พัทลุง และ Goffeauzyma siamensis ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รายงานล่าสุดว่า จากปี 2566 ถึงปี 2567 ผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากที่ปี 2565 มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเมือง การทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในปี 2022 ประเทศที่มีดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย และคองโก แต่ทุกประเทศก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากปัจจัยดังที่กล่าวมา โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกตกอยู่ในอันตรายอย่างมาก จำนวนชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2023 มีชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากกว่า 44,000 ชนิด โดยการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากทะเลเป็นภัยคุกคามหลักต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คิดเป็น 50% ของภัยคุกคามทั้งหมด

สำหรับการประชุม CBD COP ครั้งที่ 16 นี้เพื่อทบทวนการดำเนินงาน การระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานปี 2022 การหารือเกี่ยวกับกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลลำดับพันธุกรรมดิจิทัลของทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งประเทศต่างๆ จะใช้เวทีนี้ในการแสดงให้เห็นถึงการปรับแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอลทรีออล

กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพโลก “คุนหมิง-มอนทรีออล” มีเป้าหมายเพื่อหยุด (ทำลาย) และย้อนกลับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030 และให้แน่ใจว่าภายในปี 2050 ระบบนิเวศของโลกจะได้รับการฟื้นฟู มีความยืดหยุ่น และได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาของ Kew พบว่า มีพื้นที่อย่างน้อย 33 แห่งทั่วโลกที่มีพืชเจริญเติบโตอยู่ไม่น้อยกว่า 1 แสนชนิด แต่เป็นจุดอับที่ไม่เคยถูกค้นพบและมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะสูญพันธุ์สูง อย่างเช่น จากผลการวิจัยใหม่ล่าสุดมีพืชหลายพันชนิดที่รอการค้นพบ อาทิ ต้นปาล์มในเกาะบอร์เนียวที่ออกดอกใต้ดินไปจนถึงกล้วยไม้มาดากัสการ์ที่เติบโตบนพืชอื่นตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยได้ค้นพบพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ หลายสิบสายพันธุ์ทุกปี แต่เนื่องจากมีพืชมากกว่า 1 แสนชนิดที่เชื่อกันว่ายังไม่ได้รับการค้นพบ และมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

อนึ่ง ความหลากหลายทางชีวภาพหมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือง่ายๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ (species) สายพันธุ์ (genetic) และระบบนิเวศ (ecosystem) ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก

อ้างอิง:
• 17 ก.ย. 2024 . จับตา CBD COP16 ตุลาคมนี้ ทำไมสหรัฐยังเป็นประเทศเดียวที่ไม่เข้าร่วม? โดย วิรัสนันท์ . bangkokbiznews
• Oct 1, 2024 . Botanists identify 33 global ‘dark spots’ with thousands of unknown plants, The Guardian
• https://www.igreenstory.co/flood3/

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่