ที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียน COP-19 เห็นพ้อง ผลักดันประเทศอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอดหมอกควัน ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทาง ลดจุดความร้อนในพื้นที่พรุอาเซียน ให้ได้ตามเป้า
การประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 19 (COP – 19) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน โดยร่วมประชุมกับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนสาธารณรัฐสิงคโปร์, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และผู้แทนรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาเลเซีย, เนการาบรูไนดารุสซาลาม และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รวม 9 ประเทศ
นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียน เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 19 (COP – 19) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทุกประเทศในอาเซียน ที่จะร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ฝุ่นละออง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน โดยมีผลการประชุมหรือข้อตกลงร่วมกันที่สำคัญ เกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานติดตามตรวจสอบและประเมินผลโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน ฉบับที่ 2 ได้แก่
1) มอบหมายให้ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษ จากหมอกควันข้ามแดน ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน จัดทำรายงานความคืบหน้าประจำปี โดยจะให้มีการพัฒนาตัวชี้วัด เพื่อติดตามและประเมินผลในอนาคต เช่น ดัชนีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ ดัชนีสภาพอากาศที่เกิดไฟไหม้ การประเมินปริมาณเชื้อเพลิง การวิเคราะห์ความถี่ในการลาดตระเวน
2) มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียน จัดทำแนวทางการวิเคราะห์แผนที่การเผาไหม้เพื่อใช้ประเมินการบรรลุผลตามเป้าหมายของโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควัน ฉบับที่ 2 (Guideline for Burned Area Mapping and Analysis for Achieving a Haze-Free Southeast Asia)
3) เห็นควรให้มีคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินงานในการลดจุดความร้อนในพื้นที่พรุอาเซียน ให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 20
4) การพิจารณากลไกการติดตามการดำเนินงานภายใต้ ASEAN Investment Framework ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่ประเทศสมาชิกรับรองร่วมกันในปี 2566 ในการแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายนราพัฒน์ กล่าวว่า แม้จะมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนในภูมิภาคอาเซียน ในช่วงปลายปี 2567 – ต้นปี 2568 นี้ จะมีมากกว่าปกติ แต่ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะในภูมิภาคแม่น้ำโขงที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้
“ด้วยการมีเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงาน การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน ใน 10 ประเทศอาเซียน เราจะเผชิญหน้ากับปัญหา อุปสรรค ตลอดจนความท้าทาย เพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนให้เป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันได้” นายนราพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงาน หรือผลสำเร็จของประเทศไทย ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในปี 2567 ซึ่งสามารถลดจำนวนจุดความร้อนได้ถึงร้อยละ 21 และค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 13 รวมถึง การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เห็นชอบให้ประเทศไทย ร่วมลงนามจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม เพื่อการลงนามในข้อตกลง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในปี 2568