แนะรัฐคุมผลิตภัณฑ์ OXOสร้างแรงจูงใจดันไทยสู่ฮับไบโอพลาสติกภูมิภาค

ขยะพลาสติกที่เป็นส่วนหนึ่งของมลพิษที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนาน 450-500 ปี ฉะนั้นทางเลือกก็คือต้องเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อให้มันสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพเหมือนขยะอินทรีย์ทั่วไป จะได้ช่วยกันลดสาเหตุ ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่กำลังเป็นภัยคุกคามมวลมนุษยชาติอยู่ในเวลานี้

“ราคาของพลาสติกชีวภาพในไทยมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่าหรือมากกว่า ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงได้ จึงใช้วิธีการผสมสาร OXO กับพลาสติกธรรมดาทั่วไปซึ่งย่อยสลายไม่ได้กลายเป็น Oxo-degradable หรือ Oxo-biodegradable (อาจใช้คำเรียกที่แตกต่างไปจากนี้ อาทิ Environmentally Degradable Plastic หรือ EDP) แต่โฆษณาว่าย่อยสลายได้

“ในความเป็นจริงพลาสติกเหล่านั้นเมื่อเจอกับสภาพแวดล้อมอย่างแสงแดดหรืออากาศจะทำให้เกิดการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นพลาสติกชีวภาพที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลก” วิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) กล่าว

วิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA)

พลาสติกชีวภาพมีทั้งของแท้และของเทียม

นั่นเป็นที่มาซึ่งนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ต้องการอธิบายให้เข้าใจว่า พลาสติกชีวภาพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นมีทั้ง ‘ของจริงและของเทียม’ ปะปนกันอยู่ ซึ่งหากมองภายนอกจะเป็นพลาสติกเหมือนกัน แต่การย่อยสลายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เขาอธิบายว่า การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของแท้นั้นสามารถดูได้จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ยืนยันวัตถุดิบ: Compostable Standard และมีมาตรฐานรับรอง โดยปัจจุบันมาตรฐาน Compostable ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เพื่อยืนยันว่าเป็นพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพของแท้ คือ ASTM D6400, EN 13432, ISO 17088, มอก 17088, ฉลาก TBIA Compostable หรือ ฉลาก GC Compostable เท่านั้น

กลุ่มพลาสติกชีวภาพที่สามารถยสลายตัวได้ทางชีวภาพ คือ พลาสติก PLA PHA PBS PBAT และ PCL ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ โดยถ้าสินค้านั้นไม่ได้มาตรฐานรับรองตามหมายเลขที่ระบุไว้ข้างต้นหรือผลิตจากพลาสติกทั่วไป เช่น PE PP PS PET PVC ให้สันนิษฐานได้เลยว่าสินค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มสินค้า OXO ที่ปลอมแปลงมาและเป็นพลาสติกชีวภาพเทียม

ตัวอย่างหน่วยงานที่ใช้งานผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพในไทยอย่างมีประสิทธิภาพที่เป็นรูปธรรม เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนการใช้แก้วน้ำพลาสติกเป็น ZERO-WASTE CUP ที่เป็นแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก BioPBS ที่สลายตัวได้ 100% โดยนำมาใช้ในโรงอาหารทั้ง 17 แห่งของมหาวิทยาลัย

เมื่อทุกคนแยกขยะและทิ้งแก้วนี้ที่ใช้แล้วในถังที่จัดไว้ จะมีการนำแก้วดังกล่าวมาทำเป็นปุ๋ยร่วมกับเศษอาหารและใบไม้ในมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ไบโอพลาสติกสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เช่น ไหมละลาย และนวัตกรรมกระดูกเทียม เมื่อกระดูกแท้ประสานกระดูกเทียม กระดูกพลาสติกชีวภาพเหล่านี้ก็จะสลายตัวไปในร่างกายของเราภายในเวลา 1-2 ปีโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใด

แนะภาครัฐคุมผลิตภัณฑ์ OXO

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประกาศห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ OXO degradable ที่ย่อยสลายไม่ได้ แม้จะเป็นมาตรการที่ดี แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย ทำให้ผู้ผลิตส่วนหนึ่งยังคงผสมสาร OXO หรือสารอื่นๆ เข้าไปกับพลาสติกทั่วไป ซึ่งทำให้ผู้ใช้มองว่าย่อยสลายได้เหมือนกัน แถมยังราคาถูกกว่าไบโอพลาสติกแท้ๆ

“นอกจากนั้นผู้ผลิตยังเปลี่ยนชื่อจาก OXO เป็น Biodegradable, Degradable, EDP (Environmental Degradable Plastics) หรือชื่ออื่นๆ เพื่อเลี่ยงมาตรการของรัฐ และจำหน่ายต่อไป ดังนั้นเห็นว่าภาครัฐควรห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OXO หรือพลาสติกที่ผสมสารอื่นๆ ที่ทำให้พลาสติกทั่วไปแตกตัว เพราะตราบใดที่มีการขาย OXO ในตลาดทำให้การใช้พลาสติกชีวภาพแท้ๆ เป็นเรื่องยากในประเทศไทย” วิบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก ได้วิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยปี 2564 โดยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 1.043 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1% ขณะที่เม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลคติคแอซิด (PLA) โดยคาดว่า ปี 2564 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% สร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และมีกำลังการผลิตไบโอพลาสติกใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลได้เล็งเห็นศักยภาพที่จะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาค

เสนอขยายมาตรการภาษีออกไปอีก 3-5 ปี

“การที่ไทยจะก้าวไปสู่ฮับไบโอพลาสติกในภูมิภาคจะต้องให้เกิดความต้องการในประเทศก่อนซึ่งจำเป็นต้องมีการบังคับใช้ ขณะนี้เราใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% เท่านั้นเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ใช้กันอยู่กว่า 2 ล้านตันต่อปี เพราะด้วยต้นทุนในการผลิตสูง รัฐจึงต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น การขยายมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการลดขยะพลาสติกตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 702

“โดยผู้ซื้อพลาสติกชีวภาพที่เป็นนิติบุคคลจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สามารถนำรายจ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไปหักลดหย่อนภาษีได้ 125% ซึ่งมาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศจึงขอความอนุเคราะห์ทางกระทรวงการคลังพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการนี้ออกไปอีก 3-5 ปี จนถึงปี 2567 หรือ 2569 เป็นต้น” วิบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไบโอพลาสติกในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตปีละ 10% ซึ่งถือว่าสูง และหากมองถึงคู่แข่งของไทย คือ จีนกับอินเดีย ซึ่ง 2 ประเทศมีการสร้างแรงจูงใจ และบังคับให้มีการใช้พลาสติกชีวภาพ เช่น จีนมีการประกาศให้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งต้องเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพเท่านั้น อาทิ หลอด ถุงพลาสติก หรือจาน ชาม ช้อนส้อม ห้ามใช้พลาสติกทั่วไปโดยจะเริ่มในเมืองใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจ และอีก 2 ปีข้างหน้าจะบังคับใช้ทั่วประเทศ

ถ้ามีการบังคับใช้จะมีการใช้งานพลาสติกชีวภาพมากขึ้น ตามมาด้วยการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ มีการบังคับใช้พลาสติกชีวภาพในผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรืออิตาลี ถุงพลาสติกต้องเป็นถุงพลาสติกชีวภาพเท่านั้น ฉะนั้น ถ้ามีการบังคับใช้พลาสติกชีวภาพสำหรับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่นำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ยาก เช่น ภาชนะบรรจุอาหารหรือสัมผัสอาหารก็จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศเติบโตอย่างมาก

เป็นข้อเสนอการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ซึ่งเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังก่อมลพิษไปทั่วโลก

Related posts

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด

รู้จัก ‘อาร์เซอร์ไบจาน’ เจ้าภาพประชุม COP29 ณ กรุงบากู อาเซอร์ไบจาน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?