วิกฤตภูมิอากาศไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อนแต่ทำให้มนุษย์ก้าวร้าวมากขึ้นเสี่ยงขัดแย้งและเกิดสงครามสูง

หนังสือเล่มล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกให้มุมมองแบบที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน เพราะตามปกติแล้วเวลาเราพูดถึงปัญหานี้ (หรือเรียกสั้นๆ ว่าภาวะโลกร้อน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีแค่ภาวะโลกร้อนก็ตาม) เราจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ

แต่มันมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ด้วย หนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งออกมาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ให้คำตอบกับเราถึงสิ่งที่เกิดขึ้น คือ Climate Change and Human Behavior (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพฤติกรรมของมนุษย์) เขียนโดยอันเดรียส ไมล์-โนเวโลและ เครก เอ. แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอวา

พวกเขาทำการตรวจสอบผลกระทบทางจิตวิทยาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติจะนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวและความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นอย่างไร และจะส่งผลต่อพฤติกรรมอื่น ๆ ในแง่มุมอื่น ๆ อย่างไร

การศึกษาพบว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้สมองสั่งการให้มีการหันเหทรัพยากรไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเพื่อพยายามทำให้เย็นลง เมื่อภาวะนี้เกิดขึ้น พื้นที่ของสมองจะไม่ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ยากขึ้นที่คนบางคนจะประมวลผลข้อมูลใหม่ จัดการอารมณ์ และควบคุมแรงกระตุ้น

 

 

นอกจากนี้คนที่ได้รับผลกระทบยังมองว่าคนอื่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวด้วย ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเผชิญหน้าที่ไม่เป็นมิตร เรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์โดยผู้เขียนพบความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะอุณภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อผู้คนในหลายพื้นที่ ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน

ผู้เขียนพบข้อมูลที่ยืนยันหนักแน่นว่า ภูมิภาคที่ร้อนกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกมีอัตราการเกิดอาชญากรรมรุนแรงขึ้น แม้จมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น ความยากจนและช่วงอายุ

การวิจัยก่อนหน้าของหนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างช่วงเวลาที่ร้อนแรงและความรุนแรงจากพฤติกรรมมนุษย์ พบว่าอัตราการฆาตกรรม การข่มขืน และการทำร้ายร่างกายในอเมริกาสูงขึ้นในช่วงวัน เดือน ฤดูกาล และปีที่อากาศร้อนขึ้น

 

นอกจากอารมณ์รุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลของสภาพภูมิอากาศยังจะทำให้โลก “เดือดขึ้น” ในทางการเมือง เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น เช่น ไฟป่า น้ำท่วม และพายุเฮอริเคน

Syrian refugee family and camp – January 2018

ผู้เขียนชี้ว่า ผู้คนทั่วโลกจะมีความเสี่ยงสูงต่อความหิวโหยและการขาดสารอาหาร ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และความยากจน มันจะขับเคลื่อนการย้ายถิ่นจำนวนมากไปยังพื้นที่ที่มีทรัพยากรมากขึ้น (เช่น พื้นที่กินหญ้าที่ดีกว่า เมืองที่มีงานมากขึ้น) ซึ่งสามารถนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร

“เรื่องนี้อาจะฟังดูเป็นข้อสรุปที่ง่ายไปหน่อย แต่สงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มต้นด้วยความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ประชากรในชนบทส่วนใหญ่ย้ายไปเมืองต่าง ๆ เพื่อหางาน อาหารและน้ำ แต่รัฐบาลที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วไม่ได้เตรียมรับการไหลเข้าของผู้คน นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร เช่น งานและที่อยู่อาศัย กระตุ้นให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง ในที่สุดเกิดสงคราม” ไมล์-โนเวโลผู้เขียนร่วมกล่าว

TURKISH-SYRIAN BORDER -JUNE 11, 2011

ไม่ใช่แค่สงครามในตะวันออกกลาง ผู้เขียนล่าวเสริมว่า ความรุนแรงในซีเรียนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ไปยังยุโรป ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้อพยพในสถานที่ต่าง ๆ เช่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร กลายเป็นความรุนแรงที่ไม่ใช่สงครามที่กระจายตัวไปยังพื้นที่อื่น

ผู้เขียนเน้นว่า ไม่ว่าสภาพอากาศในอนาคตจะดูมืดมนเพียงใด ก็มีวิธีแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขากล่าวว่าหนึ่งในขั้นตอนแรกควรเปลี่ยนวิธีการอธิบายถึงผลกระทบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง และสื่อต่าง ๆ ควรช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วกับภัยคุกคามที่ผู้คนประสบในชีวิตประจำวัน (เช่น ความยากจน อาชญากรรม) แทนที่จะอภิปรายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีจริงหรือไม่

ขั้นตอนที่สำคัญอีกประการคือการโยกภาระบางส่วนจากบุคคลคนทั่วไป ไปให้รัฐบาลและองค์กรธุรกิจแบกรับแทน ผู้เขียนได้รวมการอ้างอิงถึงรายงานปี 2017 จากฐานข้อมูล Carbon Majors ซึ่งมีรายละเอียดว่าบริษัท 100 แห่งมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 71% ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องมีส่วนรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ไม่ใช่คนทั่วไปที่ต้องแบกรับ

เรียบเรียงจาก
• “New book connects the climate crisis and violence”. (Feb 22, 2022). Press release from Iowa State University.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย