ความหิวล้อมเราไว้หมดแล้ว! ในวันที่โลกกำลังตกอยู่ท่ามกลาง “วิกฤตอาหาร” ซึ่งร้ายแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากประชากรบางกลุ่มไม่มีอาหารสำหรับบริโภคอย่างเพียงพอ ทั้งยังขาดแคลนอาหารปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ
วิกฤตอาหารส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลัน ในปี 2566 จำนวนคนซึ่งเผชิญหรือมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลันมีมากถึง 345 ล้านคน ใน 79 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโรคระบาดที่ 135 ล้านคนใน 53 ประเทศ (1)
วันนี้มีผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะทุพโภชนาการและเป็นอันตรายถึงชีวิต หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้วิกฤตนี้คลี่คลาย
อะไรทำให้เกิดวิกฤตอาหาร?
วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) เกิดจากหลายปัจจัยซึ่งสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดความร้ายแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงส่งผลต่อความขัดแย้งทางการเมือง สงคราม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาอาหารสูงขึ้น เป็นต้น
สำหรับวิกฤตอาหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้รับผลกระทบมาจากสงครามในยูเครน รวมทั้งการระบาดของโควิด19 ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหาร เชื้อเพลิง และปุ๋ยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญซึ่งมองข้ามไม่ได้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ไม่ว่าจะภัยแล้งรุนแรง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้ น้ำท่วม วาตภัย และ อื่น ๆ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้ระบบนิเวศต่าง ๆ ถูกทำลาย ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ซึ่งทำให้ผลผลิตอาหารในหลายภูมิภาคได้รับผลกระทบเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร
ในปี 2566 โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงผิดปกติหลายรูปแบบในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะน้ำท่วม คลื่นความร้อน ฝนแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั้งบนแผ่นดิน และ ในมหาสมุทร ฯลฯ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้มีผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ และการประมง ขัดขวางเส้นทางการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความอดอยาก และยากจน เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มจะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้นในปี 2567 และในปีต่อ ๆ ไป จนกว่าโลกจะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ ไม่เช่นนั้นสภาพอากาศสุดขั้วจะยังคงรุนแรงยิ่งขึ้น (2)
นั่นหมายความว่า โลกยังคงสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหารต่อไป
จะแก้ไขวิกฤตความหิวโหยได้อย่างไร?
เพื่อบรรเทาวิกฤตอาหารจำเป็นต้องมีความร่วมมือหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ ต้องมีการใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงอาหารของประชากรอย่างเร่งด่วน เช่น การให้เงินอุดหนุน ลดภาษีการนำเข้าอาหาร จำกัดการส่งออก เป็นต้น
ในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและครอบคลุม รัฐบาลและหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ จะต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อพัฒนากลยุทธ์สำหรับการผลิตและการเข้าถึงอาหารที่สามารถทนต่อเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร การกระจายพันธุ์พืชและแหล่งอาหาร ระบบจัดเก็บอาหารที่ออกแบบมาเพื่อการเก็บรักษาในระยะยาว และการฝึกอบรมเกษตรกรในท้องถิ่นเกี่ยวกับเทคนิคการเกษตรแบบยั่งยืน อย่างเช่น
- ลงทุนระบบจัดเก็บอาหารที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรง
- กระจายแหล่งอาหารและเทคนิคการผลิตทางการเกษตรเพื่อลดความเสี่ยง
- นำระบบการจัดการน้ำมาใช้เพื่อลดความเสียหายของพืชผลจากน้ำท่วมหรือภัยแล้ง
- ดำเนินการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เช่น เกษตรกรรมแบบไม่ไถพรวน วนเกษตร และพืชคลุมดิน
- สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงสินเชื่อและบริการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจภาคพื้นดิน
- เพิ่มความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- เพิ่มอินทรีย์คาร์บอนในดินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำในดิน เพิ่มความยืดหยุ่นต่อความแห้งแล้ง
- ส่งเสริมการศึกษาเทคนิคการเก็บรักษาอาหาร เช่น การแช่เย็น การคายน้ำ เป็นต้น
- พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเพื่อให้สามารถปรับตัวกับการผลิตอาหารโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่รวบรวมการวิเคราะห์ข้อมูล และข้อมูลเชิงลึก AI เชิงคาดการณ์
- ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาพืชอาหารที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น (3)
พลวัตของภาวะโลกร้อน การผลิต และวิกฤตอาหารโลก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อการผลิตพืชผลการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ในอีกด้านหนึ่ง การทำเกษตรกรรมมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ระบบอาหารทั่วโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหนึ่งในสามของโลก (4)
สหประชาชาติเตือนว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตความหิวโหยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านอาหาร และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ความพยายามแก้ไข อย่างเช่น Climate-Smart Agriculture (CSA) วิธีการเกษตรแบบใหม่ซึ่งครอบคลุมถึงการเลือกพืชผล ระยะเวลาการหว่านและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมที่สุด การจัดการน้ำ และแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ เป็นการช่วยให้เกษตรกรทั่วโลกเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตโดยการเพิ่มผลผลิต เพิ่มความยืดหยุ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล เพื่อมอบแนวทางการทำฟาร์มที่มีความครอบคลุม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (5)
นอกจากนี้แล้ว ขยะอาหาร (Food Waste) ที่เหลือทิ้ง รวมทั้งการสูญเสียอาหาร (Food Loss) จากห่วงโซ่การผลิตเพราะไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ในขั้นตอนของการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป รวมถึงระหว่างการขนส่งไปยังเป้าหมายปลายทาง ทั้งหมดยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของภาวะโลกร้อน
เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีความรุนแรงไปมากกว่านี้ ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภค ฯลฯ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ และพฤติกรรม
โลกร้อนกับผลผลิตอาหารภาคเกษตรไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ปศุสัตว์ และประมง ความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในภาคเกษตรจะส่งผลกระทบต่อทั้งพื้นที่เกษตร ผลผลิตการเกษตร อาชีพ รายได้เกษตรกร ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในที่สุด
ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเช่น เอลนีโญสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยมูลค่ากว่า 2.85 ล้านล้านบาท หากไม่ได้รับการแก้ไข ในปี 2588 ภาคใต้และภาคตะวันออกเสี่ยงจะได้เสียหายมากสุด (6)
ผลกระทบอาจจะกระจายในวงกว้าง เพราะไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก
ในความพยายามเพื่อแก้ไข ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรแบบมีเงื่อนไขเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิต การให้ความรู้กับเกษตรกรเพื่อลดผลกระทบ การเลือกปลูกพืชที่เหมาะกับปริมาณน้ำ พัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นต้น
ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบในระยะยาว ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ สนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสำคัญในการปรับตัว การมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาศักยภาพกำลังคน ผลักดัน และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (7)
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือ การเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องให้อิ่มและได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอ พร้อม ๆ ไปกับจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่ทำลายระบบนิเวศที่ทุกคนต้องพึ่งพาตลอดชีวิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีความพยายามอย่างครอบคลุมและร่วมมือกันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
แม้วิกฤตอาหารโลกเป็นปัญหาใหญ่ แต่ทุกคนสามารถลงมือทำได้แม้จะเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยบรรเทา นั่นก็คือ การเลือกซื้อและกินอาหารท้องถิ่น สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมไปถึงลดขยะอาหาร เป็นต้น
หากทุกคนไม่ลงมือ จำนวนผู้คนที่มีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะทุพโภชนาการและเป็นอันตรายถึงชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้น และยังคงจมอยู่ภายใต้วิกฤตนี้ต่อไป
ที่มา:
1. Global food crisis (2023). Retrieved Jan 10, 2024, from https://www.wfp.org/emergencies/global-food-crisis
2. Climate change fuelled extreme weather in 2023; expect more records in 2024 (2023). Retrieved Jan 10, 2024, from https://www.worldweatherattribution.org/climate-change-fuelled-extreme-weather-in-2023-expect-more-records-in-2024/
3. Smriti Kirubanandan (2023). How to mitigate the effects of climate change on global food security. Retrieved Jan 10, 2024, from https://www.weforum.org/agenda/2023/04/mitigate-climate-change-food-security/
4. Food systems account for more than one third of global greenhouse gas emissions (2021). Retrieved Jan 10, 2024, from https://www.fao.org/newsroom/detail/Food-systems-account-for-more-than-one-third-of-global-greenhouse-gas-emissions/en
5.Climate-Smart Agriculture (2023). Retrieved Jan 10, 2024, from https://www.fao.org/climate-smart-agriculture/en/
6. จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 8 ล้านล้าน (2023). Retrieved Jan 10, 2024, from https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/572197
7. แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566-2570 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2023). Retrieved Jan 10, 2024, from https://oaezone.oae.go.th/assets/portals/26/fileups/สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร/files/แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการ.pdf