สภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญความเสียหายจากความแปรปรวนของภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่รุนแรงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน แต่ยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจากความเจ็บป่วย และโรคระบาดใหม่ ๆ ต่อมนุษยชาติด้วยเช่นกัน
ผลกระทบสุขภาพอันเนื่องมาจากระบบธรรมชาติและภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ออกโรงย้ำเตือนให้ประชาคมโลกเร่งรับมืออย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่ระมัดระวังโรคภัยใหม่ ๆ จากสภาวะโลกร้อนอาจนำไปสู่วิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ ไม่แพ้คราวการแพร่ระบาดของโควิด-19
โลกร้อนสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพได้อย่างไร
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า สุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์เกี่ยวโยงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้ง ดิน น้ำ อากาศ และระบบอาหาร ดังนั้นผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างความเสียหายและเปลี่ยนแปลงระบบธรรมชาติอย่างเฉียบพลัน จึงถือเป็นภัยคุกคามขั้นพื้นฐานทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพของมนุษย์ (1)
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้ภัยธรรมชาติ อาทิ พายุ คลื่นความร้อนจัด น้ำท่วม ความแห้งแล้ง และไฟป่า เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นภัยคุกคามโดยตรงที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน นำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิต การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ และภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพอื่น ๆ ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค และทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งระบบด้อยประสิทธิภาพลง
WHO คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากภัยน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้ปัญหาการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและอาหารยิ่งร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในประเทศยากจนแถบเอเชียและแอฟริกา อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังเอื้อให้เกิดโรคติดต่อเขตร้อน อย่างเช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น ในขณะที่สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นยังทำให้ชั้นดินเยือกแข็งในแถบขั้วโลกละลาย เสี่ยงการปลดปล่อยเชื้อโรคโบราณที่อยู่ในชั้นดินเยือกแข็งให้กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง
ผลการวิจัยโดย WHO แสดงให้เห็นว่าผู้คน 3,600 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก เป็นผลให้ระหว่างปี 2573 ถึง 2593 คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 250,000 รายต่อปี จากภาวะโภชนาการไม่เพียงพอ มาลาเรีย ท้องเสีย และโรคที่เกิดจากความร้อน
ความเสี่ยงสุขภาพคนไทยในโลกที่ร้อนขึ้น
ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงภัยและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง จากข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยธนาคารโลก (2) ชี้ว่า สภาพภูมิอากาศของไทยมีแนวโน้มที่จะร้อนและฝนตกชุกมากขึ้น จากผลพวงลักษณะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว จึงทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจะที่เผชิญภัยพิบัติจากพายุและน้ำท่วม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเป็นปัจจัยความเสี่ยงสุขภาพที่น่ากังวลมากที่สุด โดยจากการคาดการณ์ชี้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นราว 3.8 องศาเซลเซียส ภายในปี 2623 เป็นผลให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศมีจำนวนวันที่มีดัชนีความร้อนเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเกือบตลอดทั้งปี ส่งผลให้คนไทยโดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบปรับอากาศมีความเสี่ยงจากโรคลมแดด และโรคที่เกิดจากความร้อนสูงขึ้น
รายงานยังระบุด้วยว่า อันตรายจากสภาพอากาศร้อนจัดจะยิ่งเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ อย่างเช่น กรุงเทพมหานคร เนื่องจากผลพวงปรากฎการณ์เกาะความร้อน เนื่องจากพื้นผิวคอนกรีตของเมืองจะดูดซับความร้อนเอาไว้ ทำให้อุณหภูมิในเขตเมืองใหญ่อาจสูงกว่าพื้นที่นอกเมืองถึง 3 องศาเซลเซียส
ปฏิญญาสุขภาพในเวทีโลกร้อน
จากผลพวงภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังแปรปรวนหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อชีวิต สุขภาพ และความเป็นอยู่ของมนุษย์ ดังนั้นผลกระทบสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่ได้มีการหยิบยกมาหารือในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ผลจากการหารือเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ประธานการจัดประชุม COP28 ร่วมกับ WHO แถลงคำประกาศปฏิญญาโลกร้อนกับเรื่องสุขภาพ (COP28 UAE Climate and Health Declaration) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบสุขภาพที่เท่าเทียมและเท่าทันกับสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้แทนรัฐภาคี 123 ประเทศร่วมลงนาม นับเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกได้สร้างฉันทามติร่วมกันในการรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปฏิญญานี้ครอบคลุมขอบเขตการดำเนินการต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ รวมถึงการสร้างระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้น การเสริมสร้างความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุดจากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มการเงินสำหรับการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ ผู้ลงนามยังมุ่งมั่นที่จะรวมเป้าหมายด้านสุขภาพไว้ในแผนสภาพภูมิอากาศระดับชาติ และปรับปรุงความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึง COPs ในอนาคต
จากข้อมูลในเว็บไซต์การประชุม COP28 (3) ระบุว่า ปฏิญญาฉบับนี้ได้ก่อตั้งข้อผูกพันทางการเงินชุดใหม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสุขภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อรับมือภัยสภาวะโลกร้อน โดยกองทุนได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนโลกเพื่อเตรียมระบบสุขภาพจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 ขณะนี้ประชาคมโลกได้ตระหนักแล้วว่าสุขภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ” สุลต่านอัล จาเบอร์ ประธานการประชุม COP28 กล่าว
จะเห็นได้ว่า “สภาวะโลกร้อน” จากความแปรปรวนของภูมิอากาศจึงเป็นภัยคุกคามที่คืบคลานใกล้ตัวมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความเจ็บป่วย และโรคระบาดใหม่ ๆ ที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากไม่มีการเตรียมการรับมืออย่างเร่งด่วน โรคภัยใหม่ ๆ จากสภาวะโลกร้อนอาจนำไปสู่วิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ไม่แพ้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นได้
อ้างอิง
- Climate change (2023). Retrieved Jan 8, 2024, from h ttps://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/climate-change-and-health
- Climate Risk Country Profile – Thailand (2023). Retrieved Jan 8, 2024, from https://climateknowledgeportal.worldbank.org/sites/default/files/2021-08/15853-WB_Thailand%20Country%20Profile-WEB_0.pdf
- Over 120 countries back COP28 UAE Climate and Health Declaration delivering breakthrough moment for health in climate talks. (2023). Retrieved Jan 8, 2024, from https://www.cop28.com/en/news/2023/12/Health-Declaration-delivering-breakthrough-moment-for-health-in-climate-talks