งานวิจัยใหม่ระบุว่า ภาวะโลกร้อนที่จะทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส จะกลายเป็นหายนะสำหรับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วไปยากจนลงถึง 40%
ตามรายงานการศึกษาฉบับใหม่พบว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส จะทำให้คนทั่วไปยากจนลงถึง 40% ซึ่งสูงกว่าการประเมินก่อนหน้านี้เกือบ 4 เท่า
งานวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียชี้ว่า GDP ต่อหัวเฉลี่ยของโลกจะลดลง 16% แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมภาวะโลกร้อนไว้ที่ 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าสูงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้มาก ที่เคยคาดว่าผลกระทบจะอยู่ที่เพียง 1.4%
นักวิทยาศาสตร์ยังคาดว่า อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นประมาณ 2.1 องศาเซลเซียส แม้แต่ในกรณีที่ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระยะสั้นและระยะยาวได้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเสียงวิจารณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า แบบจำลองประเมินแบบบูรณาการ (IAM) ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นแนวทางในการกำหนดงบประมาณเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกล้มเหลวในการสะท้อนความเสี่ยงสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว
การศึกษาครั้งใหม่นี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters ได้ใช้หนึ่งในแบบจำลองเศรษฐกิจยอดนิยม และปรับปรุงให้รวมถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสะท้อนผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ดร.ทิโมธี นีล จากสถาบันวิจัยความเสี่ยงภูมิอากาศและการตอบสนอง มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่า งานวิจัยใหม่นี้ได้ศึกษาผลกระทบที่น่าจะเกิดจากภาวะโลกร้อน 4 องศาเซลเซียส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าเป็นระดับที่หายนะสำหรับโลก โดยพบว่าคนทั่วไปจะยากจนลงถึง 40%
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า แบบจำลองเศรษฐกิจมักจะคำนึงถึงแค่สภาพอากาศในระดับท้องถิ่น แทนที่จะรวมผลกระทบที่สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น ภัยแล้งหรืออุทกภัย