โลกเดือด ‘ตัวใครตัวมัน’ พึ่งกลไกระบบราชการไม่ได้ เอกชน..มุ่งแต่กำไร

by Chetbakers

อาจารย์ธรณ์ไม่หวังพึ่งระบบราชการแก้โลกเดือด ด้านเอกชนรายใหญ่เข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่ยังติดกับดักจีดีพีที่มุ่งกำไร คนไทยต้องตัวใครตัวมัน

ต่อให้ซีอีโอเข้าใจ (ผลกระทบโลกร้อน) เขาเป็นห่วง แต่ทำอะไรที่หลุดออกจากระบบที่ตรึงไว้ตลอดไม่ได้ ระบบที่ออกแบบมาให้ได้ผลกำไรมากที่สุด ระบบที่ออกแบบมาให้ได้รับปันผลมากที่สุดในวันนี้ ขณะที่ถ้าเกิดคุณ green ขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้าบริษัทคุณจะมี s-curve ใหม่ คุณก็ไม่กล้าไป ด้วยเหตุผลว่า ถ้าคุณไปวันนี้ เงินปันผลก็จะลดลง ผู้ถือหุ้นก็จะด่าคุณ ก็กลับมาที่ ‘ตัวใครตัวมัน’ บริษัทไหนที่แก้ระบบได้ก่อน คนนั้นก็ชนะ คนนั้นก็ไปได้เร็วกว่า”

Key Point จาก ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านทะเล ที่ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการแก้ปัญหาโลกร้อนของประเทศไทย ทาง igreenstory เห็นว่าเนื้อหาทั้งหมดมีความน่าสนใจและมีประโยชน์ จึงเรียบเรียงมานำเสนออีกครั้ง

 

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

อาจารย์ธรณ์ ไม่ได้คาดหวังว่ากลไกรัฐและเอกชนจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตโลกเดือด หรือสถานการณ์โลกรวนได้อย่างลื่นไหล เพราะประเทศไทยยึดติดอยู่กับการพัฒนาขนาดเศรษฐกิจให้ขยายตัวไปเรื่อยๆ โดยใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดมาอย่างยาวนาน เห็นตัวอย่างตั้งแต่ปี 2528 ที่มีโรงงานแยกก๊าซแห่งแรกเกิดขึ้นที่มาบตาพุด และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

“ผมรู้จักซีอีโอในบริษัทพลังงานแทบทุกคน หลายคนรักษ์โลกมากเลย (ลากเสียง) เขียวปี๋ เขียวกว่าผมอีก วันๆ ไม่ทำอะไร ปลูกต้นไม้อย่างเดียว แต่มาถึงงานบริษัท บอกจะหักดิบแล้ว บริษัทจะไปต่ออย่างไร หน้าที่ของเขาก็ต้องหาทาง Compromise ให้ได้มากที่สุด กลุ่มคนที่อยู่บริษัทก็สงสารชาวบ้าน แต่เขามีผู้ถือหุ้น”

ทุกประเทศทั่วโลกมีเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (ทำได้ตามเป้าหมายบ้าง ทำไม่ได้บ้าง – มีประเทศร่ำรวย มีประเทศยากจน) และผ่านมากว่า 30 ปี โลกก็เดินมาถึงจุดที่เกิดการสะสมก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (จนเกิดภาวะที่เรียกว่า Global Warming ต่อเปลี่ยนเป็น Climate Change ปัจจุบันเลขาสหประชาชาติให้นิยามสถานการณ์ว่า Global Boiling)

“พอเริ่มเฟสสอง รณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจกที่โลกปล่อย แต่ปัญหาเราอยู่ในเศรษฐกิจแบบเดิม ใช้ทรัพยากรไม่คิดหน้าคิดหลัง มุ่งหวังผลกำไร การเจริญเติบโตเป็นหลัก จึงช่วยอะไรได้ไม่มาก ก๊าซเรือนกระจกก็ยังพีกอยู่ทุกปี

“เมื่อเข้าสู่เฟสสาม ‘ความตกลงปารีส’ – Paris agreement ก็ตกลงกันว่า จะคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ประเทศใหญ่ๆ รู้ตัวแล้วว่า ไม่สามารถที่จะรณรงค์ หรือมีข้อตกลงลอยๆ ได้ จึงเริ่มการออกแบบให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ หรือ ‘เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ’ ซึ่งมีแผนที่จะกีดกัน (โดยใช้) ภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต ซึ่งใช้เวลาทำเป็น 20 ปี เพื่อทำให้เกิดระบบขึ้นมาได้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ต้องการให้เศรษฐกิจยังไปในรูปแบบคล้ายๆ เดิมได้ แต่ลดคาร์บอนลงอย่างมากๆ แน่นอนต้นทุนต้องเพิ่ม ผลกำไรจะน้อยลง ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดหลายอย่าง แต่เศรษฐกิจก็ยังเป็นแบบเดิม…

“แต่อีกกลุ่มบอกว่า แค่นี้ก็จะตายอยู่แล้ว และไม่มีแววเลยที่จะ Compromise จะมีฟอกเขียว เช่น ฝากความหวังไว้ในอนาคตว่า จะมีเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) สายนี้จะมีเทคโนโลยีต่างๆ ออกมาเยอะ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าเกิดเรากลั่นน้ำมัน แต่กลายเป็นมีเครื่องเก็บ แต่มันก็ยังอยู่ในไลน์ธุรกิจ แต่จะมีอีกกลุ่มที่ออกมาแบบกรีนพีซ

“การหักดิบฟอสซิลไปกรีน ปัญหาคือ กรีนไม่เสถียร ราคาแพง แม้แต่ไทย ถึงแม้ว่าจะทำในนิคมอุตสาหกรรมก็ยังทำเขียว 100% ไม่ได้ ด้วยเหตุผลราคาต้นทุนพุ่ง ปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถที่จะทำให้ 2 ขั้วมา Overlap ได้ ยากมาก…

“ผมรู้จักซีอีโอในบริษัทพลังงานแทบทุกคน หลายคนรักษ์โลกมากเลย (ลากเสียง) เขียวปี๋ เขียวกว่าผมอีก วันๆ ไม่ทำอะไร ปลูกต้นไม้อย่างเดียว แต่มาถึงงานบริษัท บอกจะหักดิบแล้ว บริษัทจะไปต่ออย่างไร หน้าที่ของเขาก็ต้องหาทาง Compromise ให้ได้มากที่สุด กลุ่มคนที่อยู่บริษัทก็สงสารชาวบ้าน แต่เขามีผู้ถือหุ้น”

ความหมายของอาจารย์ธรณ์ในแง่การขับเคลื่อนธุรกิจนั้นภาคเอกชนยังไม่สามารถ go green ได้จริง และเป็นเรื่องยากที่จะหา ‘จุดกึ่งกลาง’ แต่จะเห็นการปะทะของทั้งสองขั้วต่อไป เพราะรากฐานธุรกิจของประเทศมาด้านนี้ ถึงจะช่วยได้บ้างก็ถือว่าน้อย

ตรงกลางที่พอเป็นไปได้ ในมุมมองของนักวิชาการจาก ม.เกษตรฯ ก็คือ คนที่อยู่ตรง compromise ต้องมาช่วยคนที่เดือดร้อนจากผลกระทบของโลกร้อนให้มากขึ้น รักษาธรรมชาติให้มากขึ้น สายธุรกิจก็พยามช่วยสายอนุรักษ์ธรรมชาติให้มากขึ้น

“ในต่างประเทศจะมี Climate Change Study จำนวนมาก ใส่ไปในภาคธุรกิจ เอาสิ่งแวดล้อมใส่เข้าไปในไฟแนนซ์ ในบริหารธุรกิจ สามอย่างรวมกัน สายงานรูปแบบใหม่ ธุรกิจที่กรีนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เอาแผนก CSR ย้ายมาทำแผนก SD

“ขณะนี้ภาคธุรกิจเริ่มเปลี่ยน Mindset (ทัศนคติ) แล้ว มีการอบรม ESG เพิ่มขึ้น ผู้บริหารในองค์กรเริ่มเห็นปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะเราเกิดมาภายใต้เศรษฐกิจเดิมๆ เศรษฐกิจทุนนิยม กำไร จีดีพี เราติดอยู่กับตัวนี้หมด อยู่ๆ จะให้กระโดดมาฝั่งสีเขียวด้วย ซีอีโอบางคนยังบอกว่า ทำไมต้องจ่ายตังค์ให้แผนก SD เพราะไม่เข้าใจว่าเศรษฐกิจเดิมล่มสลายเรียบร้อยแล้ว

“เศรษฐกิจเดิมย้ายมาเศรษฐกิจแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว คือ ‘คาร์บอนต่ำ’ ซึ่งยังไม่เพียงพอกับความต้องการของคนกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันผลกระทบก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดและส่งผลกระทบให้คนบางกลุ่มอย่างรุนแรง ผลกระทบเกิดขึ้นทุกคน

อาจารย์ธรณ์ยกตัวอย่างผลกระทบจากน้ำท่วม คนบางกลุ่มหาปลาไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่อิงธรรมชาติ เพราะโลกร้อนทำให้ธรรมชาติแปรปรวน คนที่ซวยที่สุด คือ คนที่พอเพียงที่สุด และอิงธรรมชาติมากที่สุด เช่น ชาวประมงพื้นบ้าน…

“SD (Sustainable Development) คือ กลยุทธ์องค์กร และการบริหารความเสี่ยง องค์กรต้องวางกลยุทธ์ว่า จะเพิ่มสีเขียวแค่ไหน จะ Jump in กับธุรกิจใหม่ๆ ที่มีแววว่าจะทำได้ในระดับประเทศหรือภูมิภาคตอนไหน อย่างไร จะ Joint Venture กับใคร

“บริหารความเสี่ยงต้องเช็กบริษัทเราด้วยว่า มีความเสี่ยงเรื่องอะไร Net Zero ประกาศหรือยัง เป็นไปปตามโรดแมปหรือไม่ โรงงานจะโดนน้ำท่วมไหม เตรียมรับมือลานีญาได้แค่ไหน น้ำเพียงพอหรือไม่…

“ปัญหาอีกอัน คือ พวกซัพพลายเชน (ห่วงโซ่อุปทาน – กระบวนการที่ทำให้เกิดสินค้าใดสินค้าหนึ่งขึ้นมาหรือบริการใดขึ้นมา) บริษัทใหญ่ๆ มีฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ฝ่ายวิเคราะห์เทรนด์โลก แต่ซัพพลายเชนบริษัทย่อยๆ หรือ SMEs ยังไม่รู้ อีกหน่อยอาจจะโดนกันออกจากห่วงโซ่ได้ง่ายๆ เพราะเขียวไม่พอ”

จากคำอธิบายมาทั้งหมดดูเหมือนเราจะหมดหวัง ไปต่อยาก ซึ่งอาจารย์ธรณ์ใช้คำว่า “ตัวใครตัวมัน” ถึง 3 ครั้ง ยากมากที่จะบอกว่าเวลานี้เรามาถึงจุดวิกฤตแล้วหรือไม่ “วิกฤตคืออะไร โลกร้อนไม่มีวิกฤต จุดวิกฤตคืออะไร เหมือนกับเราป่วย จุดวิกฤตของป่วยคืออะไร บอกยากมาก แต่ละที่ไม่เท่ากัน”

เอาเข้าจริง เรามีการรณรงค์สร้าง “ความตระหนัก” มาต่อเนื่องในทุกๆ ปี ซึ่งอาจารย์ธรณ์บอกว่า ผู้คนตระหนักไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง ใครก็ตรัสรู้อยู่แล้วว่า ขยะทะเลทำให้เต่าตาย ขยะทะเลก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี คิดว่าคนตระหนักแล้วโลกจะหายร้อนเหรอ เมื่อแพลนบี (รณรงค์) ไม่สำเร็จ ก็ต้องแพลนซี – บังคับ

“รัฐบาลยังติดกับเศรษฐกิจแบบเดิม ไม่สามารถเปลี่ยนมายด์เซตได้ เมื่อจีดีพีต่ำก็ต้องชวนคนมาลงทุน โดยที่ไม่รู้เลยว่า ไม่มีคนมาลงทุน เพราะไฟฟ้าเป็นฟอสซิลเกิน 50% ถ้าเกิดมาลงทุน ผลิตภัณฑ์ก็จะมีคาร์บอนอยู่เพียบ ส่งออกก็จะชนกำแพงภาษี เข้าไม่ได้…

“ไม่เชื่อว่า คนในรัฐบาลจะมาเป็นที่พึ่งได้ จึงกลับมาที่คำว่า ‘ตัวใครตัวมัน’ และภาคธุรกิจชิ่งออกมาเรียบร้อยแล้ว คือ ‘ตัวใครตัวมัน’ …

“ภาครัฐสามารถออกกฎระเบียบ แต่ภาคธุรกิจจะไปรอกฎระเบียบให้มาได้ประโยชน์ตัวเองไม่ได้ ต้องพุ่งเข้าไปหา เช่น สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ กองทุน ESG รัฐบาลก็เปิดช่อง แต่จะมาให้รัฐบาลลากบริษัททุกบริษัทเข้าช่องคงไม่ได้ ใครไวก็ได้เปรียบ

“คนที่เดือดร้อนคือบริษัท เพราะถ้าน้อยกว่ามาตรฐานโลก จะส่งออกอย่างไร ขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจพินาศ การผลิตก็พินาศ เขาไม่ยอมรับสินค้าคุณ ตีกลับ ถ้ารับต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะเขาไม่รับมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของคุณ ตอนนี้เมื่อเข้ามาในรูปแบบเศรษฐกิจ นักสิ่งแวดล้อมยืนดูเฉยๆ แล้วก็ยิ้ม เพราะว่า ถ้ามากไม่พอ คนเดือดร้อนก็คือบริษัท”

กับดักใหญ่ในการเอาตัวรอดจากภาวะโลกร้อน (บ้านเรา) โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ไม่ว่าระดับบิ๊กธุรกิจ ซีอีโอบริษัทยักษ์ระดับท็อปในตลาดหลักทรัพย์หรือแม้แต่หัวเรือใหญ่ในกงสี ในมุมอาจารย์ธรณ์มองเห็นบริษัทใหญ่ๆ มีการปรับตัวก็จริง แต่ก็ยังติด “มายด์เซ็ต” เดิมๆ

“ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งอยู่บริษัทมหาชน ตอนนี้ฝ่าย SD เป็นรองซีอีโอ ขณะที่ SD บริษัทเกือบทั้งหมดยังเป็นแค่ระดับผู้อำนวยการอยู่เลย ต่อให้เห็นด้วยก็ไปไม่ได้ เปรียบเทียบให้เห็นว่าอำนาจมันต่างกัน… ถ้าเป็น ‘บริษัทกงสี’ คุยง่าย ไม่ได้อยู่ในตลาด คุยนิดเดียวก็จบแล้ว แต่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ อยู่ที่ซีอีโอ มีบอร์ด มีประชุมผู้ถือหุ้น ระบบที่เราสร้างมาตรึงไว้หมด

“ต่อให้ซีอีโอเข้าใจ (ผลกระทบโลกร้อน) เขาเป็นห่วง แต่ทำอะไรที่หลุดออกจากระบบที่ตรึงไว้ตลอดไม่ได้ ระบบที่ออกแบบมาให้ได้ผลกำไรมากที่สุด ระบบที่ออกแบบมาให้ได้รับปันผลมากที่สุดในวันนี้ ขณะที่ถ้าเกิดคุณ green ขึ้น อีก 10 ปีข้างหน้าบริษัทคุณจะมี s-curve ใหม่ คุณก็ไม่กล้าไป ด้วยเหตุผลว่า ถ้าคุณไปวันนี้ เงินปันผลก็จะลดลง ผู้ถือหุ้นก็จะด่าคุณ ก็กลับมาที่ ‘ตัวใครตัวมัน’ บริษัทไหนที่แก้ระบบได้ก่อน คนนั้นก็ชนะ คนนั้นก็ไปได้เร็วกว่า”

หันมามองนโยบายการแก้ปัญหาจากระบบราชการซึ่งน่าจะเป็นหัวเรือหลัก อาจารย์ธรณ์สะท้อนผ่านความเชื่อส่วนตัวว่า “ระบบประเทศนี้เปลี่ยนไม่ได้” …

“การเปลี่ยนระบบ เป็นเรื่องที่ยากมหาศาล แต่ก็จะมีคนอย่างนี้โผล่ขึ้นมาตามจุดต่างๆ และก็จะชี้นำองค์กรให้ก้าวไปเร็วกว่าชาวบ้าน ซึ่งประเทศไทยง่ายมาก เพราะประเทศไทยอยู่กับที่ ไม่ค่อยก้าว คนไหนก้าวก็จะโดดเด่นออกมาอย่างรวดเร็ว องค์กรนั้นก็จะเป็นองค์กรที่พร้อม มีความยืดหยุ่น มีความสามารถในการพุ่งไปกับเศรษฐกิจใหม่ๆ…ใครก้าวออกมาก่อน คนนั้นก็ชนะ องค์กรก็จะชนะ ยิ่งก้าวออกมาเยอะๆ ความเขียวมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“…ผมเลิกฝากความหวังของการช่วยธรรมชาติ ช่วยทะเล ช่วยปะการัง กับภาครัฐไปนานแล้ว ผมหมดหวังไปนานแล้ว ผมรู้สึกว่า มันมีกฎ กติกา ระเบียบ ยิ่งขอยิ่งปวดกะโหลกหนักขึ้นไปเรื่อย…ผมไปช่วยกระตุ้นคนที่อยากเปลี่ยนให้ก้าวออกมา แล้วเชียร์เขาว่า ลงมาทำแล้วได้ผลนะ ผมไม่สนใจระบบ ผมอยู่ในสภามาก่อน ผมอยู่ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปประเทศมาหมดแล้ว ผมมั่นใจว่า ด้วยวิธีการแบบนั้นไม่สามารถทำอะไรให้ปะการังรอดตาย…

“แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า ระบบราชการในอดีตยังแข็งแกร่ง ยังพอไปไหว ยังฝากความหวังไว้ได้ แต่ถึงแม้ตอนนี้ผมหมดความหวังกับระบบ แต่ผมไม่หมดหวังกับชีวิต…ไม่ได้เรียก ‘หมดความหวัง’ เรียกว่า ‘เลิกหวัง’ เพราะมีความหวังอย่างอื่น ยังมีคนกลุ่มที่ไม่หมดความหวังกับเขา และสิ่งที่ทำจะทำให้คนกลุ่มนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“วันนี้ไม่จำเป็นต้องมานั่งสอนแล้วว่าโลกร้อนคืออะไร มันเห็นแล้ว สิ่งที่เราควรจะสอนคือ เราจะปรับตัวอย่างไร รับจะรับมืออย่างไร คือ หัวใจ…แต่ที่อยากให้ทำมากที่สุด คือ ‘กงสี’ ง่ายสุด เพราะไม่ได้อยู่ในระบบ กงสีไม่เหมือนซีอีโอ บริษัทมหาชนมีวันหมดอายุ มีเกษียณ แต่กงสี ไม่มีเกษียณ ยังไงก็ต้องทำเพื่อองค์กร เพื่อลูกเพื่อหลาน”

ดังนั้น ทางรอดจากสถานการณ์โลกเดือดบ้านเราในวันนี้ ในมุมมองอาจารย์ธรณ์นั้นหมดหวังกับระบบราชการ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ใครจะแหกระบบ หรือหาทางรอดออกมาจากระบบได้แค่ไหน ซึ่งก็เหมือน (ทุกคน-ต้อง) “ตัวใครตัวมัน” ใครทำได้ก็รอด

ขอบคุณข้อมูล: Thansettakij เครดิตภาพ: Thon Thamrongnavasawat

Copyright @2021 – All Right Reserved.