“เศรษฐกิจ BCG คืออะไร” เปิดโมเดล “เศรษฐกิจ BCG” กุญแจสำคัญ รับมือ Climate Change จุดสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปถึงไหน
“เศรษฐกิจ BCG” โมเดลธุรกิจที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก และผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ถูกขับเคลื่อนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน GDP จากโมเดลธุรกิจนี้ภายใน 5 ปี เมื่อโลกเปลี่ยน เราต้องปรับ แต่ขยับไปถึงไหนแล้ว
เศรษฐกิจ BCG คืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับ “เศรษฐกิจ BGG” หรือ BCG โมเดล เมกะเทรนด์สำคัญของโลก ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ที่ไม่ว่าภาครัฐและเอกชนในโลกนี้ ต่างให้ความสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาโลกร้อน ถือเป็นยุทธศาสตร์การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และถือเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในระยะยาว
โมเดลเศรษฐกิจ bcg มีอะไรบ้าง
- B – Bio-economy เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง
- C – Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste)
- G – Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเศรษฐกิจมุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
โดย “เศรษฐกิจ BCG” จะมุ่งเน้นการพัฒนาจากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกระบวนการผลิต และในการนำไปใช้ ซึ่งจะเน้นเป้าหมายรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด และช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เพิ่มรายได้ของประชากรได้มากขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจ BCG มีอะไรบ้าง
เริ่มจาก B – Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ ตัวอย่างโอกาสของธุรกิจ
- เนื้อสัตว์ในอนาคต เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้รสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่รักสุขภาพหรือรับประทานมังสวิรัติ
- พลาสติกชีวภาพ เช่น ตะเกียบพลาสติกที่ผลิตจากข้าวโพด มันลำปะหลัง
- ชีวเภสัชภัณฑ์ การผลิตยาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและการตัดต่อพันธุกรรมเช่น การสร้างอินซูลินจากจุลินทรีย์เพื่อรักษาโรคเบาหวาน ยาชีววัตถุสำหรับรักษาโรคมะเร็ง
- พลังงานชีวภาพ เช่น เชื้อเพลิงที่ผลิตจากผลผลิตเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด
ซึ่งก็มีบริษัทที่เติบโตจากแนวคิด BCG โมเดล โดยนำพืช อย่าง อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ ถุงบรรจุอาหารย่อยสลายได้ 100% ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาขยะ และมลพิษสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวอย่างโอกาสธุรกิจ
- การผลิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น การนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นเครื่องแต่งกายรองเท้ากีฬา, หรือนำยางล้อรถยนต์ที่หมดอายุมาเป็นผลิตพื้นรองเท้า การผลิตสินค้า/บรรจุภัณฑ์จากขยะหรือวัสดุรีไซเคิล
- ผู้ให้บริการเช่า หรือ Platform ตลาดมือสองออนไลน์ เช่น ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม และการขายสินค้ามือสองผ่าน Platform ออนไลน์
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้ใช้งานได้นานขึ้น เช่น แปรงสีฟัน ที่ผู้ใช้สามารถถอดหัวแปรงออกจากด้ามเพื่อเปลี่ยนได้ โทรศัพท์มือถือที่อัพเกรด Software เพื่อให้สามารถใช้งาน ได้นานขึ้น
Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ตัวอย่างโอกาสธุรกิจ
- การใช้พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม
- การผลิตสินค้ารักษ์โลก เช่น เครื่องถ่ายเอกสารที่สามารถลบหมึกได้ด้วยเครื่องล้างข้อมูล เพื่อให้สามารถนำกระดาษแผ่นเดิมกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 5 ครั้ง
- การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนสูงขึ้นถึง 55% ของตลาดรถยนต์โลก
- การบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ เช่น การใช้ระบบน้ำแบบหมุนเวียนซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรน้ำสูงสุดถึง 50%
- ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มุ่งเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ของ เศรษฐกิจ BCG
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สรุปไว้ว่า “เศรษฐกิจ BCG” Economy Model จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้าน
- ด้านเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร
- ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นอาหารประเภทโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร
- ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
- ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต
- ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์
- ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
จิณณฉัตร อริยสวโรจน์ ผู้ประกอบการรับซื้อขยะ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้ “เศรษฐกิจ BCG” เกิดขึ้น บอกกับ igreen โดยเชื่อว่า หากไทยสามารถเดินหน้าเศรษฐกิจ BCG ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลทั่วถึงและยั่งยืน
เศรษฐกิจ BCG เดินหน้าไปถึงไหน
World Bank เผยรายงานใหม่ Towards a Green and Resilient Thailand (มุ่งมั่นสู่ประเทศไทยสีเขียวที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง) ด้วยภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โมเดลเศรษฐกิจ BCG อาจจำเป็นต้องปรับแนวทางเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไป
ธนาคารโลก จึงได้นำเสนอโมเดล “BCG+” ซึ่งเป็นการพัฒนาเพิ่มเติมจากโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ของประเทศไทย และเน้นที่มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้สร้างโอกาสสำหรับนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนด้านพลังงานอีกด้วย โดยจะสำรวจการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
บทสรุป โมเดล เศรษฐกิจ BCG สะท้อนให้เห็นว่า หากขับเคลื่อนต่อไป จะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจมากมาย และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต ควบคู่ไปกับการลดปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิง : https://tdri.or.th/