30 ปี กรุงเทพจมทะเล ไม่อยู่บนแผนที่โลก ไม่ย้ายเมืองหลวงจะรอดไหม?

by Chetbakers

นักวิทยาศาสตร์ตอกย้ำหลายครั้งว่าวิกฤตโลกร้อนจะทำให้ประเทศหมู่เกาะและเมืองชายฝั่งเสี่ยงจมทะเล แต่ดูเหมือนประเทศไทยจะยังไม่ตื่นตัวรับมือมากพอ

 

เมืองหลวงของหลายประเทศในอาเซียนมีโอกาสสูงมากที่จะจมทะเล ด้วยภาวะโลกร้อนเข้าสู่วิกฤตหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น โดยไม่มีทีท่าจะหยุดยั้งกิจกรรมการพัฒนาของมนุษย์ในทุกมิติลงได้ ก๊าซเรือนกระจกจึงถูกปล่อยในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มหาสมุทรซึ่งมีศักยภาพในการดูดซับความร้อนและคาร์บอนไดออกไซด์ไปกักเก็บใต้ทะเลก็ไม่อาจรับไหว น้ำทะเลอุ่นจึงมากขึ้น ซึ่งแน่นอนอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นได้เร่งอัตราการละลายธารน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี

ข้อมูลรายงานฉบับหนึ่งที่ชื่อ State of Climate in the South-West Pacific 2023 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.4 มิลลิเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกที่สูงมากกว่าบริเวณอื่นถึง 2 เท่า ซึ่งก็คือบริเวณภูมิภาคอาเซียนนั่นเอง

สถิตินี้ไม่ได้มีนัยแค่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลกลับเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกมากถึง 3 เท่า นับตั้งแต่การสำรวจในปี 1980 สัญญาณนี้กำลังบอกว่าประเทศหมู่เกาะกำลังจะจมน้ำ และพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกจะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยรุนแรง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่าประเทศมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซในปริมาณสูง ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์เตือนเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นเรื่อยๆ จนแตะระดับ 3 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก 15 เซนติเมตรภายในปี 2050 ซึ่งก็แค่ในอีก 26 ปีเท่านั้น

ข้อมูลทั้งหมดนี้ใช่สามารถนั่งรอนอนรออยู่เฉยๆ ได้เพราะ 20-30 ปียังอีกนาน แต่ภาพสะท้อนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าภัยพิบัติได้เขย่าขวัญอยู่ในหลายประเทศโดยเฉพาะน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง และไฟป่า หมู่เกาะฟิจิก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยในปี 2019 ที่หมู่บ้านวูนิโดโกรัวจมทะเลและคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่สิบปีจากนี้หมู่บ้านอีกว่า 40 แห่งของฟิจิก็จะพบกับชะตากรรมเดียวกัน

ประเทศหมู่อื่นๆ อย่างวาตูวาลูที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีประชากรแค่ 11,200 คน ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกัน นั่นคือพื้นที่ครึ่งหนึ่งจะจมทะเลในอีก 26 ปีข้างหน้า และคาดการณ์ว่าสิ้นศตวรรษนี้พื้นที่ร้อยละ 95 ของหมู่เกาะนี้จะจมทะเลทั้งหมด (ประเทศหมู่เกาะมีทั้งหมด 14 ประเทศ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไมโครนีเซีย เมลานีเซีย และพอลินีเซีย ) หรืออย่างนาอูรูที่ไม่ใช่หมู่เกาะเหมือนที่อื่น แต่เป็นประเทศที่เป็นเกาะเดียวกลมๆ ความยาวรอบเกาะประมาณ 23 กิโลเมตรก็ไม่สามารถรอดชะตากรรมนี้ไปได้ ซึ่งประเทศขนาดเล็กเหล่านี้ทำร้ายโลกน้อยกว่าประเทศขนาดใหญ่ แต่พวกเขากลับถูกลงโทษอย่างไม่ปราณี

กล่าวเฉพาะเอเชียมีการคาดการณ์ว่าจะมีอย่างน้อย 7 เมืองที่เสี่ยงจมทะเลภายในปี 2030 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครถือว่าเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร แต่ทรุดตัวประมาณ 2 เซนติเมตรในทุกปี แต่ไม่มีการเตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ (ยกเว้นซ่อมแนวคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยา) ข้อมูลกรีนพีซระบุว่า รองลงมาคือกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียที่แผ่นดินทรุดมากที่สุดมากถึง 30.5 เซนติเมตรต่อปี ถัดมากรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ตามมาด้วยเมืองไทเปของไต้หวัน มะนิลาของฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และกรุงโซล เกาหลีใต้ ตามลำดับ

แล้วกรุงเทพฯ จะรอดไหม มีงานวิจัยในปี 2017, 2019 และ 2021 ออกมาอย่างน้อย 3 ชิ้น ให้ข้อมูลที่ตรงกันกว่าพื้นกรุงเทพฯ จะไม่อยู่ในแผนที่ประเทศไทยอีก (กรุงเทพฯ เสี่ยงวิกฤตโลกร้อนอันดับ 9) ซึ่งข้อมูลคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ได้ตอกย้ำว่าอีก 78 ปี กรุงเทพฯ จะหายไปจากแผนที่โลก และก่อนถึงเวลานั้นพื้นที่ 96% จะถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุก 10 ปี เลวร้ายถึงขนาดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะถูกน้ำท่วม 1-150 เมตร ซึ่งมาจากปัจจัยทั้งน้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเลหนุน

เมื่อปี 2554 ประเทศไทยเคยประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดพายุต่อเนื่องหลายลูก โดยธนาคารโลกประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ณ เวลานี้ปลายปี 2567 จึงเกิดคำถามดังกระหึ่มว่าน้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 อีกหรือไม่ แต่คำตอบก็ออกมาจากนักวิชาการที่คอยคาดการณ์เตือนภัยเสียส่วนใหญ่ ในขณะการบูรณาการป้องกันหรือมาตรการรับมือในเชิงนโยบายจากรัฐบาลยังดูแผ่วเบาและมืดมน

เมื่อนโยบายไม่มีรูปธรรมและขาดการชี้นำในเชิงวิสัยทัศน์ของผู้นำ ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ กว่า 10.45 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงต่อไป โดยมีพื้นที่เปราะบางชายฝั่งที่เป็นพวงจากความรุนแรงของน้ำทะเลเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ อย่างเขตบางขุนเทียนถูกกัดเซาะหายไประยะทาง 900 เมตร นอกจากนั้นชายฝั่งอ่าวกอไก่ ถูกกัดเซาะอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ต.บริเวณแหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถูกกัดเซาะเป็นระยะทาง 1,200 เมตร และ ต.บางกะเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถูกกัดเซาะระยะทาง 800 เมตร

อุณหภูมิโลกได้ส่งผลให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นและมีระดับสูงขึ้น ส่งสัญญาณผ่านพายุที่กระหน่ำมากขึ้น ถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดเราได้รับผลพวงจากซุปเปอร์ไต้ฝุ่นยางิซึ่งเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียของปีนี้ แม้จะลดกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้วก็ตาม ซ้ำเติมด้วยพายุโซนร้อนซูลิกที่ขึ้นฝั่งเวียดนาม แค่ 2 ลูกนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและได้รับความเสียหายอ่วมอรทัยจำนวนมาก ไม่ว่าเวียดนาม ไทย เมียนมา ลาว ตลอดจนประเทศที่ได้รับอิทธิพลของพายุโดยรอบ โดยที่ผ่านมาสหประชาชาติเคยระบุว่า ระยะเวลาไม่นานภูมิภาคแปซิฟฟิกได้เกิดพายุและน้ำท่วมมากถึง 34 ครั้งจากปกติจะเกิดพายุประมาณ 15 ลูก

คำถามก็คือประเทศเราจะเตรียมตัวรับมืออย่างไร “แค่คิดยังไม่ได้คิด ตัดสินใจยังไม่ตัดสินใจ จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถามว่าอยู่ได้ไหม นี่คือ (ข้อมูล) วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่หมอดู” คำตอบ (แทนรัฐบาล) จาก รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ IPCC กล่าวกับไทยพีบีเอส เมื่อปี 2023

แล้วจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงไหม? อาจารย์เสรีไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเห็นว่าหลายเมืองสามารถวางแผนในการรับมือได้ แต่ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ซึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือเนเธอร์แลนด์ เมืองต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่สามารถเนรมิตเมืองให้อยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ และได้ดำเนินการมานานมากแล้ว

ไปดูการเตรียมแผนรับมือของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีความก้าวหน้าอย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล และเกิดน้ำท่วมฉับพลันหลายครั้ง

รายการ Key Messages ระบุว่า จากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ภายในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 1 เมตร ทำให้สิงคโปร์ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง กล่าวไว้ในวันชาติ ประจำปี 2019 ว่า ในบรรดาภัยคุกคามที่สิงคโปร์ไม่ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนอาหาร โรคอุบัติใหม่นั้นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดและอาจจะต้องใช้เงินถึง 1 แสนล้านดอลลารืสิงคโปร์ในการป้องกันในอีก 80 ปีข้างหน้า

ไม่ได้แค่พูดลอยๆ แต่สิงคโปร์ได้ตั้งกองทุนป้องกันชายฝั่งและน้ำท่วม โดยประเดิมงบประมาณราว 12,000 ล้านบาท พร้อมกับตั้งหน่วยงาน PUB Singapor’s National Water Agency ขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ นี่คือการตื่นตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งได้ลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งข้อมูลจากรายงานของ IPCC ที่เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ 200 คน จาก 66 ประเทศ ระบุว่า หากวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตรในปี 2050 และแนวโน้มจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ด้วย

หากมนุษย์สามารถรับมือได้หรือช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้า ระดับน้ำทะเลของสิงคโปร์จะสูงขึ้นเพียง 40 เซนติเมตร แต่หากยังคงปล่อยก๊าซกันต่อไปอย่างที่เป็นอยู่ ภายในปี 2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 80 เซนติเมตร ซึ่งรายงานของ IPCC ได้ระบุไว้เมื่อปีที่แล้วว่า การละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลกมีอัตราเร็วกว่าที่คาดไว้และจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 1.8 เมตร ภายใน 80 ปีข้างหน้า

ภาพเลวร้ายที่สุด ศ.เบนจามิน ฮอร์ตัน ผู้อำนวยการ Earth Observatory of Singapore หน่วยงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดการณ์ว่า หากธารน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร และหากธารน้ำที่แอนตาร์กติกละลายหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 65 เมตร ไม่ใช่แค่ระดับน้ำทะเลที่เป็นภัยคุกคาม แต่สภาพอากาศสุดขั้วยังจะทำให้เกิดน้ำท่วมหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเกิดพายุที่ซัดเข้าฝั่งจะถี่ขึ้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หากจะไปแก้ที่สาเหตุของปัญหาคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคงเป็นเรื่องยากมากเพราะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศ ทางรัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ร่วมกับนักวิจัยทำการศึกษาและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเดินหน้าอย่างไม่ล่าช้า อย่างเช่น แนวทางแรก ใช้ Nature base Solution หรือการใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานโดยใช้ป่าโกงกางรอบๆ เกาะเป็นเกราะปกป้องการกัดเซาะชายฝั่งที่ช่วยลดความสูงของคลื่นพายุได้ถึง 75% ซูดซับก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ทั่วไปถึง 3 เท่า รวมถึงยังได้ออกแบบแนวหินเตี้ยๆ ประยุกต์ใช้กับปะการังเพื่อช่วยลดแรงปะทะของคลื่นด้วย

แนวทางต่อมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Hard Infrastructures โดยทั้งภาครัฐและเอกชนได้ยกระดับอาคารเหนือระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 1 เมตร ยกระดับถนนหนทางแนวชายฝั่งให้สูงขึ้น เพิ่มระดับความสูงการถ่มที่ดินจาก 3 เมตร เป็น 4 เมตร กำหนดให้สนามบินชางฮีอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5 เมตร พัฒนาโครงข่ายการระบายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 8,000 กม.โดยเฉพาะโครงการอุโมงเก็บกักน้ำใต้ดิน (DTSS) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1995 ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการตั้งแต่ปี 2014 ให้การพัฒนาพื้นที่หรือการก่อสร้างใดๆ ขนาดเกิน 1.25 ไร่ ต้องมีระบบหน่วงน้ำในอาคารอย่างแทงก์เก็บน้ำหรือบ่อกักเก็บ

ที่ก้าวหน้าไปกว่านั้นสิงคโปร์ได้ประยุกต์ใช้วิธี Poldering ซึ่งเป็นวิธีการจัดการน้ำและที่ดินของเนเธอร์แลนด์มาใช้ในการถมทะเลบริเวณเกาะ Pulau Tekong ซึ่งมีคันกั้นน้ำสูงถึง 6 เมตร

สำหรับแนวทางที่ 3 สิงคโปร์ใช้ภูมิอากาศวิทยาหรือ Climate Science สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เป็นการศึกษาสภาพภูมิอากาศก่อนจะนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี โดยเมื่อปี 2020 PUB ของสิงคโปร์ได้พัฒนาระบบตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและระบบพยากรณ์ที่สามารถแจ้งเตือนได้อย่างแม่นยำและในปัจจุบันได้ตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำถึง 300 จุดทั่วประเทศ ฯลฯ

นี่คือความตื่นตัวและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศในอาเซียนที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คำถามก็คือ เมื่อหันมามองกรุงเทพฯ บ้านเรา ที่ตกอยู่ในเมืองแห่งความเสี่ยงจากวิกฤตภูมิอากาศได้ลงมือทำอะไรไปแล้วบ้าง รัฐบาลมีนโยบายรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร แค่ไหน ซึ่งอาจต้องใช้คำตอบจากอาจารย์เสรีที่บอกว่า “แค่คิดยังไม่ได้คิด ตัดสินใจยังไม่ตัดสินใจ จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ…”

สิงคโปร์ หากเกิดน้ำท่วมใหญ่ถึงขนาดกลืนกินแผ่นดินจะทำให้ชาวเมืองลอดช่องไม่สามารถหนีย้ายไปไหนได้ และเมืองต้องจมไปอยู่ใต้บาดาล เขาจึงเร่งกำหนดนโยบายและลงมือดำเนินการรับมืออย่างทันที แล้วกรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนผู้อาศัยคงมีข้อสงสัยในใจว่า จะให้ทำใจรอหนีตาย หรือนี่เป็นเรื่องตัวใครตัวมัน!!! ใช่หรือไม่?

อ้างอิง:
22 ก.ย. 2567 . อาเซียนจมทะเล จาการ์ตาและกรุงเทพฯ เสี่ยงมากที่สุด โดย ตรีนุช อิงคุทานนท์, KEY MESSAGES
23 พ.ย. 2565 . เมืองในเอเชียเสี่ยงจมน้ำในอนาคต กทม.เสี่ยงสูงอันดับ 1, TNN EARTH
6 ก.ย. 2565 . ย้อนรอย มหาอุทกภัย ปี 2554 เศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน?, Spotlight
26 ต.ค. 2565 . กรุงเทพฯ เมืองบาดาล ? | EP.2 นับถอยหลัง กทม. เป็นเมืองบาดาลอีก 78 ปี | ข่าวค่ำมิติใหม่, ThaiPBS
23 มี.ค. 2566 . สิงคโปร์ป้องกันประเทศจมทะเลอย่างไร ปัญหาใหญ่สะเทือนถึงกรุงเทพฯ โดย ชนินท์ บุญเหลือง, KEY MESSAGES

Copyright @2021 – All Right Reserved.