ลางร้ายจากภาวะโลกร้อน ไวรัส 4,000 สายพันธุ์ โผล่จากป่าส่อระบาดใหญ่

ผลการศึกษาฉบับใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2022 ในวารสาร Nature พบว่าภาวะโลกร้อนจะปลดปล่อยไวรัส 4,000 สายพันธุ์ให้แพร่กระจายระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นระหว่างสัตว์และมนุษย์ เป็นครั้งแรกภายในปี 2070

นักวิจัยยังเตือนว่าจะมีไวรัสอย่างน้อย 15,000 ตัวที่กระโจนไปมาระหว่างสปีชีส์ต่าง ๆ ในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะช่วยจุดชนวนให้เกิดการแพร่กระจายของโรค “ในระดับที่อาจทำลายล้างได้” ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสัตว์และผู้คน และเสี่ยงต่อการระบาดใหญ่ต่อไป

รายงานการวิจัยระบุว่า ไวรัสอย่างน้อย 10,000 ชนิดที่สามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้แพร่กระจาย “อย่างเงียบ ๆ” ในประชากรสัตว์ป่า จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้การติดเชื้อแบบ “ครอสโอเวอร์” หรือข้ามจากสัตว์มายังมนุษย์นั้นไม่ค่อยจะเกิดขึ้น แต่เมื่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลายเพื่อการเกษตรและการขยายเมืองมากขึ้น มนุษย์ก็เริ่มเสี่ยงมากขึ้น

การศึกษาคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3,139 สายพันธุ์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ที่ดินจนถึงปี 2070 และพบว่าระดับอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างต่ำ ก็ยังจะมีเหตุการณ์การแพร่ข้ามสายพันธุ์ของไวรัสอย่างน้อย 15,000 ครั้งในระหว่างนี้ 

เครดิตภาพ : The Guardian.

 รายงานระบุว่า “เราพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยานี้อาจกำลังดำเนินอยู่ และภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น 2 องศา ภายในศตวรรษนี้จะไม่ลดการแพร่กระจายของไวรัสในอนาคต การค้นพบของเราเน้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจับคู่ระหว่างการเฝ้าระวังไวรัสและความพยายามในการค้นพบกับการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนที่มีสัตว์อาศัยอยู่มากที่สุดและกำลังประสบกับภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว”

รายงานนี้ยังเป็นรายงานระดับ peer-reviewed  (คืออยู่ระหว่างการประเมินโดยผู้ที่มีความชำนาญในสาขาวิชาการคล้ายกับผู้ทำรายงานนี้) แต่มันน่าสนใจตรงที่เป็นคำเตือนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่เข้ากับสถานการณ์ที่สุด มากกว่าการรอให้อุณหภูมิสูงขึ้นหรือน้ำท่วมโลก

เพราะในเวลาที่เรายังไม่หลุดจากการระบาดใหญ่ก็มีการวิจัยที่เตือนว่า การระบาดใหญ่ ๆ จะมีขึ้นอีก เพราะภาวะโลกร้อนจะผลักดันสัตว์ให้ออกจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และการบังคับย้ายถิ่นจะส่งผลให้สายพันธุ์เข้ามาสัมผัสกับมนุษย์เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดโรคใหม่ ๆ ขึ้นมาเหมือนการระบาดใหญ่ของ Covid-19 

สาเหตุจากการทำลายป่าเพื่อการเกษตร เพื่อการบริโภคแบบไม่ยั้งคิด เพื่อการพัฒนาของทุนเพื่อสร้างเมืองใหม่ ๆ แม้ว่าจะทำให้มนุษย์ (บางคน) สะดวกสบายมากขึ้น แต่มันทำให้มนุษยชาติตกอยู่ในความเสี่ยง นี่คืออีกหนึ่งมิติของปัญหาโลกร้อนที่คนมักมองข้าม ทั้ง ๆ ที่เรากำลังรับผลของการกระทำนั้นในยุคของการระบาดใหญ่อยู่แท้ ๆ 

ข้อมูลจาก

“Climate change increases cross-species viral transmission risk”. (Accepted: 21 April 2022). Nature.

Catherine Clifford. (April 28, 2022). “Climate change will drive new transmission of 4,000 viruses between mammals by 2070”. CNBC.

Oliver Milman. (April 28, 2022). “‘Potentially devastating’: Climate crisis may fuel future pandemics”. The Guardian.

ภาพจาก U.S. National Institutes of Health 

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่