รายงานสภาพภูมิอากาศโลก ‘ถ้ายังรีรอ ต้องตายแน่ ๆ’ เด็กเสี่ยงภูมิอากาศสุดขั้ว 4 เท่า

สรุปคำเตือนล่าสุดที่น่าหวั่นใจจากรายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – หรือ IPCC) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ทำให้เกิดอันตรายและภาวะหยุดชะงักในธรรมชาติอย่างกว้างขวาง และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก แม้จะพยายามลดความเสี่ยงกันแล้วก็ตาม

โลกกำลังเผชิญกับอันตรายจากสภาพอากาศหลายอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงสองทศวรรษข้างหน้าด้วยภาวะโลกร้อนที่ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แม้จะเกินระดับความร้อนนี้แค่ชั่วคราวก็ยังส่งผลกระทบรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งผลกระทบบางส่วนก็ไม่สามารถแก้ไขให้ย้อนกลับดังเดิมได้ ความเสี่ยงต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบโครงสร้างพื้นฐานและการตั้งถิ่นฐานชายฝั่งลุ่มต่ำ (ซึ่งนั่นหมายถึงหลายพื้นที่ของไทยด้วย)

ตอนนี้กว่า 40% ของประชากรโลก “มีความเสี่ยงสูง” ต่อสภาพภูมิอากาศ โดยระหว่างปี 2010 ถึง 2020 มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุถึง 15 เท่าในภูมิภาคที่เปราะบางมาก รวมทั้งบางส่วนของแอฟริกา เอเชียใต้ และอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มากกว่าในส่วนอื่น ๆ ของโลก

รายงานระบุอย่างชัดเจนว่าการปรับตัวให้เข้ากับความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศจะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ การปรับตัวจะถูกจำกัดมากขึ้นถ้าโลกร้อนเกิน 1.5 องศา และในบางภูมิภาคจะเป็นไปไม่ได้ที่จะปรับตัวให้อยู่รอดหากภาวะโลกร้อนเกิน 2 องศา เพราะจะเกิดน้ำท่วม พายุ ความแห้งแล้ง และคลื่นความร้อนถึง 5 เท่าจากตอนนี้ ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ 

ถ้าหากอุณหภูมิสูงขึ้นระหว่าง 1.7 ถึง 1.8 องศาเซลเซียสเหนือระดับจากปี 1850 (หรือเมื่อมนุษยชาติเริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือเริ่มสร้างมลภาวะ) รายงานระบุว่าประชากรครึ่งหนึ่งอาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่คุกคามชีวิตซึ่งเกิดจากความร้อนและความชื้น

แต่มันจะมอบความตายรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น มีความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะ ทำให้ผู้คนอีกพันล้านคน (ที่ไม่เคยเสี่ยงจากโรคเขตร้อนนี้) ต้องเผชิญกับโรคนี้ภายในสิ้นศตวรรษนี้

และยังเป็นครั้งแรกที่รายงานนี้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงขึ้น รวมถึงความเครียดและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว และการสูญเสียวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

เอาแค่ตอนนี้ชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างน้อย 33,000 ล้านคน “มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากสภาพอากาศสุดขั้วถึง 15 เท่า เด็กทุกวันนี้ที่อาจยังมีชีวิตอยู่ในปี 2100 จะต้องประสบกับสภาพอากาศสุดขั้วมากกว่าที่พวกเขาเป็นอยู่ถึง 4 เท่าในตอนนี้ แม้จะมีระดับความร้อนเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่สิบเท่าจากความร้อนในปัจจุบันก็ตาม

“หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มีความชัดเจน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสุขภาพของโลก ความล่าช้าใด ๆ ในการดำเนินการร่วมกันทั่วโลกจะทำให้พลาดช่วงเวลาสั้น ๆ (ที่จะแก้ไข) และโอกาสจะหมดลงอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาอนาคต (ของโลก) ที่น่าอยู่” ฮันส์-ออตโต เพิร์ทเนอร์ หนึ่งในคณะจัดทำรายงาน กล่าว

รายงานระบุว่า คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และอุทกภัยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเกินขีดจำกัดความทนทานของพืชและสัตว์แล้ว ซึ่งส่งผลต่อการตายจำนวนมากในสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ต้นไม้และปะการัง โดย 14% ของสปีชีส์ที่ถูกประเมินในรายงานอาจเผชิญกับความเสี่ยงสูงมากที่จะสูญพันธุ์หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศา แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถึง 29% หากอุณหภูมิร้อนขึ้น 3 องศา

ในส่วนของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จัดว่าเป็นจุดสำคัญที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เปราะบาง ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ที่สูงมากอยู่แล้วนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อความร้อนขึ้นถึง 2 องศา และจะเพิ่มขึ้น 10 เท่าหากโลกเข้าร้อนขึ้นอีก 3 องศา

สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดผลกระทบที่ทับซ้อนกันซึ่งยากต่อการจัดการมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนให้เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำเฉียบพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา เอเชีย อเมริกากลางและใต้ บนเกาะเล็ก ๆ และในแถบอาร์กติก

เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการไปสู่เป้าหมายอย่างจริงจังกว่านี้และเร่งรีบปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเวลาเดียวกันกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและสูงมาก แต่จนถึงตอนนี้ พบว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในการปรับตัว และคนที่มีรายได้ต่ำคือกลุ่มที่ปรับตัวได้ลำบากที่สุด 

รายงานจึงเน้นที่ความเท่าเทียมและความยุติธรรม การมีเงินทุนที่เพียงพอ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ความมุ่งมั่นทางการเมืองและการเป็นหุ้นส่วนกันเพื่อมุ่งไปสู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยมลพิษที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“รายงานนี้เป็นคำเตือนที่น่ากลัวเกี่ยวกับผลที่ตามมาของการไม่ทำอะไรเลย” ลี ฮเว-ซอง ประธานของ IPCC กล่าว “เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยร้ายแรงและคุกคามชีวิตของเราและโลกเพิ่มมากขึ้น การกระทำของเราในวันนี้จะกำหนดวิธีที่ผู้คนปรับตัวและธรรมชาติตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น”

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • “Climate change: a threat to human wellbeing and health of the planet.”. (28 February 2022). IPCC.
  • “Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerability”.  (28 February 2022). IPCC.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่