Climate Change – The Facts

ขวัญใจคนดูสารคดีเกี่ยวกับโลกและธรรมชาติ เซอร์เดวิด แอตเทนเบอเรอห์ กลับมาอีกครั้งกับสารคดีโทรทัศน์ Climate Change – The Facts เพื่อตรวจสอบวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ปัญหาหลังออกฉายไปเมื่อสัปดาห์ก่อนผ่านช่องบีบีซีวัน สารคดีโลกร้อนเรื่องใหม่ก็ได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกมากมาย  

ในวัย 92 ปี เดวิด แอตเทนเบอเรอห์ เรียกภาวะโลกร้อนว่า “ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายพันปี”

โลกรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศรุนแรง เคยผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้เป็นการทำลายซึ่งแตกต่างออกไป

นักธรรมชาติวิทยาคนดังได้พูดไว้ใน Climate Change – The Facts ว่า “ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มพูดเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโลกของเรา เงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนไปเร็วกว่าที่ผมจินตนาการไว้”  

สิ่งซึ่งเขาพูดถึง อาจฟังดูน่ากลัว แต่จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้บอกชัดเจนว่า หากเราไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ภายในทศวรรษหน้า ธรรมชาติและสังคมจะล่มสลาย โลกจะต้องเผชิญกับความเสียหายชนิดที่ไม่สามารถกลับฟื้นคืนกลับมาได้

นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเดวิดมีโอกาสได้พูดคุยด้วยให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมราว 1 องศาเซลเซียส ผลของมันปรากฏเป็นรูปธรรม อย่างเช่น การเกิดไฟป่าอย่างที่เกิดในสหรัฐ ขณะเดียวกันธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ก็ละลายเร็วกว่าเดิมถึง 4 เท่า ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ผู้คนในบางพื้นที่จึงต้องอพยพย้ายถิ่นเพื่อหนีน้ำ

ดูเหมือนว่า เวลาของมนุษยชาติกำลังจะหมดลง แต่ความหวังยังคงมีอยู่ หากเราเข้าใจว่ากำลังเผชิญอยู่กับอะไร และลงมือแก้ไข

เดวิด แอทเทนเบอโรห์ นักธรรมชาติวิทยาผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังสารคดีโทรทัศน์ชื่อดังมากมาย เช่น Life on Earth, The Living Planet, The Blue Planet, Planet Earth ฯลฯ เขานับเป็น “สมบัติแห่งชาติ” ของอังกฤษ เป็นบุคคลทรงคุณค่า ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และมีอิทธิพลต่อคนทั่วโลก

เดวิดเชิดชูยกย่องธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ชวนอัศจรรย์และเกินจะคาดเดา แม้ว่าจะทำงานด้านนี้มากว่า 60 ปี แต่เขาก็มักจะถ่อมตนว่า มีความรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับโลกธรรมชาติอันสลับซับซ้อน “ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ยังคงมีเรื่องที่เราไม่รู้ และไม่เข้าใจ มีเรื่องราวใหม่ๆ ให้ค้นหาเสมอ”

สำหรับเขางานสารคดีโทรทัศน์คือ การนำโลกธรรมชาติมาให้ใกล้ชิดมนุษย์ ทำให้ผู้คนหลงใหล ทำให้คนเมืองเข้าใจโลกธรรมชาติและอาณาจักรสัตว์มากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็น เพราะถ้าอยากให้คนดูแลธรรมชาติ อยากทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พวกเขาจะต้องรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกธรรมชาติก่อน นั่นเป็นสิ่งที่โทรทัศน์สามารถทำได้

 ภาพ : Climate Change – The Facts

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน