รู้จักกฎหมายโลกร้อนฉบับละเอียด ธุรกิจซื้อคาร์บอนเครดิตได้ไม่เกิน 15%

by Chetbakers

อธิบดีกรมลดโลกร้อนอธิบายกฎหมายโลกร้อนละเอียด คาดได้ใช้ปี 59 อปท.จะได้เงินอุดหนุน 10% ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเกินจะซื้อคาร์บอนเครดิตได้ไม่เกิน 15%

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บรรยายหัวข้อ “พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : กลไกสู่ภูมิคุ้มกัน Climate Change” ในเวทีประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 หรือ Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 13 หมวด

ดร.พิรุณเริ่มต้นว่า “สิ่งที่เป็นไวรัลมากๆ ดังไปถึงอเมริกาที่ฝรั่งเรียกว่า มูเด้ง หรือหมูเด้ง ที่เป็นฮิปโปแคระที่ทั่วโลกมีอยู่ 2,500-3,000 ตัว เป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และใกล้จะสูญพันธุ์ (Endangered Species) โดยหมูเด้งจะผลิตสารเป็นเมือกสีขาวออกมาเคลือบผิว สารนี้มีหน้าที่เหมือนครีมกันแดดของฮิปโปแคระ โดยเมื่ออากาศแห้งมากๆ หรืออุณหภูมิสูงจะปล่อยสารคัดหลั่งออกมาเคลือบผิว

ที่พูดถึงภัยพิบัติปี 2023 นาซ่าระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.3 องศาเซลเซียส คือเฉลี่ยทั้งพื้นน้ำ พื้นดิน เฉลี่ยทั้งปีและทั่วโลก และปีนี้ 2024 แนวโน้มจะสูงขึ้นเป็น 1.4 องศาเซลเซียส ข้อตกลงปารีสกำหนดไว้ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดพลิกผัน (Tipping Point) ที่คนทั้งโลกไม่อยากเจอ เราอาจจะเจอมันเร็วๆ นี้

นั่นหมายความว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติกำลังรุนแรงขึ้นและโลกกำลังส่งสัญญาณเตือนมนุษยชาติว่า เขาต้องปรับเข้าหาสมดุลใหม่ของตัวเอง แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ สมดุลใหม่ของโลกที่ว่ามันแปรปรวน มันอาจจะไม่เหมาะในการดำรงชีวิตของเรา มนุษย์ พืช และสัตว์ เพราะฉะนั้นวันนี้ความพยายามของทั้งโลกดูเหมือนจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ทุกคนก็ยังตั้งใจ ทุกประเทศตั้งใจ ประเทศไทยก็ตั้งใจ

เรามีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เรียบร้อยแล้ว มีเป้าหมายปี 2030 ได้ทำแผนปฏิบัติการรายสาขา ทั้งพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตรและของเสียครบถ้วนแล้ว เราน่าจะบรรลุเป้าหมายตามขีดความสามารถของตัวเองที่ 33.3% จาก 40% ที่ตั้งไว้ เราอยากได้เงินจากต่างประเทศมาช่วยในการขับเคลื่อน 6.7% ซึ่งอยู่ระหว่างจะทำแผน Investment Plan ว่าจะดึงเงินต่างประเทศมาสนับสนุนแต่ละเซ็กเตอร์อย่างไร และเรายังเผื่อเอาไว้ที่จะขายคาร์บอนเครดินอีก 3% ซึ่งต้องการทำงานต่อยอดกับสวิตเซอร์แลนด์และตกลงเจรจาเพิ่มเติมกับสิงคโปร์

แต่คำถามสำคัญกว่านั้นมันไม่ได้อยู่ที่ปี 2030 เพราะเชื่อว่าโดยนโยบายที่ถ่ายลงไปในกระทรวงพลังงานที่เพิ่มพลังงานทดแทนในทุกรูปแบบ กระทรวงเกษตรฯ ที่เริ่มผลักดันการใช้ไบโอแก๊สจากฟาร์มปศุสัตว์ เกษตรกรที่จะปลูกข้าวลดโลกร้อน ภาคอุตสาหกรรมที่ทำปูนซิเมนต์ลดโลกร้อน และภาคคมนาคมขนส่งที่ต้องการเพิ่มระบบรางให้มากขึ้น ปี 2030 เชื่อว่าเราจะทำได้

ภัยพิบัติทางธรรมชาติกำลังรุนแรงขึ้นและโลกกำลังส่งสัญญาณเตือนมนุษยชาติว่า เขาต้องปรับเข้าหาสมดุลใหม่ของตัวเอง แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ สมดุลใหม่ของโลกที่ว่ามันแปรปรวน มันอาจจะไม่เหมาะในการดำรงชีวิตของเรา มนุษย์ พืช และสัตว์

คำถามที่สำคัญยิ่งยวดไปกว่านั้นก็คือปี 2035 คือเป้าหมายใหม่จะเป็นเช่นไรเมื่อทั้งโลกอยากเห็นการลดก๊าซเรือนกระจก 60% ประเทศไทยจะวางตัวเลขไว้ที่เท่าไหร่ วันนี้กรมลดโลกร้อนก็ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่จะกำหนดตัวเลขที่ท้าทาย แต่ต้อง Realistic (เป็นจริง) และ Implementable (ปฏิบัติได้จริง) วัดผลได้

นี่คือสิ่งที่จะเกิดเกิดขึ้น เรายังต้องทำแผนในการลงทุนควบคู่กับ NDC 3.0 ฉบับใหม่ ในปี 2035 ด้วย จึงมาถึงจุดที่ว่า การมีนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐและเอกชนอาจจะไม่เพียงพอ เพราะเราทำงานบนพื้นฐานของความสมัครใจซึ่งอาจไม่บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายได้ จึงชวนดูว่า กลไกราคาคาร์บอนซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับมีอยู่ 2 รูปแบบคือ กลไกภาษี กับ กลไกในการจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอน ทั่วโลกแลนด์สเคปเป็นอย่างไร

ทั่วโลกมี 73 ประเทศที่มีกลไกราคาคาร์บอนที่ใช้บังคับ (ภาพ-สีม่วงเข้ม) ที่มีระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme หรือ ETS เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีประมาณ 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

(สีฟ้า) คือประเทศในอียูที่แอพพลาย ETS แล้ว ในจีนก็เริ่มใช้แล้ว ในอเมริกาบางรัฐที่มีกฎหมายชัดก็เริ่มใช้แล้ว ส่วนสีชมพูในอาเซียน สิงคโปร์เริ่มใช้คาร์บอนแท็กแล้ว ประเทศไทยยังอยู่ในสีม่วงอ่อนซึ่งเราอยู่ระหว่างทำทั้งสองเรื่องทั้ง Carbon Tax และ ETS

พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.Climate Change) เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่จะสร้างระบบนิเวศในการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ย้ำเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน เศรษฐกิจจะยั่งยืนไม่ได้ถ้าปราศจากสังคมที่ยั่งยืนควบคู่กันไป กฎหมายฉบับนี้จะมีทั้งภาคบังคับและภาคสนับสนุน เราต้องการการลงทุนของภาครัฐ ภาคเอกชน เราต้องการติดตามประเมินผล และต้องการหยิบยกเครื่องมือใหม่ๆ ที่ไม่มีกฎหมายฉบับใดในประเทศไทยให้อำนาจไว้มาใช้ได้

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 13 หมวด บวก 1 ซึ่งนโยบายและแผนจะต้องมีความแน่นอนเพราะถ้ามีความไม่แน่นอน ความแปรปรวน และความไม่ต่อเนื่องจะกระทบทุกทิศทางต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เรามีเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนในภาคบังคับ มีเรื่องการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ วัน มีกลไกการเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนทำให้ช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากและท้าทายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และเรามีบทลงโทษ

บวก 1 ที่ว่าก็คือจะมีหมวด Thailand CBAM, Thailand Border Mechanism เหมือนกับ EU เหมือนกับ UK เหมือนกับสหรัฐฯ แต่กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับกรมศุลกากร ในวันที่ 10 ต.ค.นี้จะเป็นการประชุมคณะกรรมการกฎหมายครั้งสุดท้าย เป็นครั้งที่ 14 ในการทบทวนกฎหมายฉบับนี้ก่อนจะเสนอคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและเสนอไปกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายซึ่งกฤษฎีกาตั้งอนุกรรมการกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว

“ใช้เวลาเท่าไหร่ก็ไปว่ากัน แต่อยากเห็นเร็วที่สุดแล้วไปสู่สภาก็มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับโลกร้อนของ สส.ก้าวไกล พลังประชารัฐและของภาคประชาชนรออยู่แล้ว และจะมีกฎหมายของกระทรวงทรัพย์โดยกรมลดโลกร้อนด้วย หลายท่านอาจจะบอกว่าช้าไปไหม แต่ก็ทำเต็มที่สุดๆ แล้ว เพราะ พ.ร.บ.มีทั้งภาคบังคับ มันเกี่ยวข้องกับคนทุกภาคส่วนในสังคม มันต้องดูเพื่อให้เกิดความมั่นใจ”

หมวดที่ 1 บททั่วไป รับรองสิทธิของประชาชนและกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน ไม่ว่าท่านจะสนใจกฎหมายฉบับนี้ และมีเวลาอ่าน หรือสนใจแต่ไม่มีเวลาอ่าน หรือจะไม่สนใจมันเลย ในหมวดที่ 1 คือหน้าที่ของกรมลดโลกร้อนที่จะให้ความมั่นใจว่ากฎหมายทั้งฉบับจะเป็นธรรมกับคนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ประชาชน เยาวชนหรือกลุ่มเปราะบาง

หมวดที่ 2 เป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย อยากเห็นการกำหนดปีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะใส่ปีเป้าหมายทั้ง NDC และ Carbon Neutrality และ Net Zero Target เข้าไปใน พ.ร.บ.ด้วยอย่างช้าไม่เกินปีนี้ ยังมีข้อถกเถียงว่ากฎหมายเคร่งครัดไปไหม เพราะใส่ปีเข้าไป แต่เมื่อโลกทั้งโลกต้องเคลื่อนในมิตินี้ การที่เรามีความชัดเจนก็เป็นการส่งสัญญาณในการขับเคลื่อน และความร่วมมือที่จะเกิดกับคนทั้งโลกได้

หมวดที่ 3 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เราจะใช้กรรมการนโยบายชุดนี้ซึ่งมีและทำงานอยู่แล้ว แต่ยกระดับเป็นคณะกรรมการระดับ พ.ร.บ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง จะใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ข้อจำกัด หรือความไม่ชัดเจนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย หรือเชิงนโยบายที่มีเป้าหมายในแต่ภาคส่วน

หมวดที่ 4 กองทุนภูมิอากาศ เป็นหมวดที่สำคัญมาก ถ้าจะต้องบังคับให้บริษัทต้องลดก๊าซเรือนกระจก ถ้าอยากจะผลักดันให้ชุมชนสามารถรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นให้ได้ ท่านจะต้องมีกลไกการเงิน ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมี Climate Fund ที่ออกแบบมาให้เป็นนิติบุคคล มีความยืดหยุ่นในการทำงานที่จะให้เงินทั้งให้เปล่าหรือเป็น Grant และเงินให้กู้ที่เป็นซอฟต์โลน เราจะใช้เงินจากกองทุนในการ leverage private investment เราไม่ให้ 100% ท่านอาจจะได้ 75% หรือ 50% ให้เปล่าแต่ท่านต้องลงทุนด้วยตัวเองด้วยในส่วนที่เหลือ นี่คือการสร้าง Accountability (ภาระความรับผิดชอบ) ท่านจะต้องมีส่วนร่วมในการจะเปลี่ยนผ่าน

เงินจะถูกสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ในประเทศไทย แหล่งเงินจะมาจากที่รัฐประเดิม มาจากกลไกการจัดสรรสิทธิ์การปล่อยคาร์บอน จากต่างประเทศบริจาคให้มา หรือแม้กระทั่งเงินค่าปรับก็ตาม ถ้า พ.ร.บ.เริ่มปี 2026 กองทุนจะเริ่มได้ในปี 2027 เงินเริ่มแรกอาจจะไม่มีเพราะเงินรายได้หลักมาจาก ETS เงินประเดิมในปี 2027 เงินประเดิมจากภาครัฐอาจจะ 5,000 ล้านบาท ไม่ได้เยอะ แต่เมื่อสามารถสร้างกลไกของการจัดสรรสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนได้ เราก็จะเห็นเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามาจาก 1 หมื่นล้านจนถึง 137,000 ล้านบาทในปี 2037 อาจจะไม่เยอะในปีแรก ในปีหลังๆ จะเพิ่มขึ้น เพราะราคาคาร์บอนที่จะสูงขึ้นในอนาคต จากนั้นจนถึง 2050 กองทุนจะมีเงิน 1.1 ล้านล้านบาท

ยกตัวอย่างใน EU ETS มี 4 หมื่นล้านยูโร คิดราคาคาร์บอนที่ 75 ยูโรต่อตัน ฉะนั้นประเทศไทยก็จำเป็นที่จะต้องใช้เงินก้อนนี้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเช่นเดียวกัน

หมวดที่ 5 แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การออกแบบแผนแม่บทมีอยู่แล้ว แต่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นแผนแม่บทที่สามารถดึงไปใช้งานได้หลากหลาย จะมียุทธศาสตร์ที่อยู่ภายใต้แผนแม่บท เช่น ยุทธศาสตร์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาวที่สามารถไปตอบยุทธศาสตร์ระยะยาวภายใต้ข้อตกลงปารีสได้ เราจะมีการปรับตัวที่มียุทธศาสตร์หนึ่งที่จะไปตอบ National Action Plan (NAP) ซึ่งเป็นหนึ่งภายใต้ข้อตกลงปารีสได้ จากนั้นจะไปทำแผนปฏิบัติการที่ไปเชื่อมโยงกับอีกหลายหมวดใน พ.ร.บ.ฉบับนี้

หมวดที่ 6 ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ถ้าต้องการจะวางแผนในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้อย่างเหมาะสมและถ้าต้องการที่จะบังคับใช้กลไก ETS ให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นั่นคือการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายท่าน หลายเวที ในหลายวงการไม่เข้าใจว่าการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับแรก จะวางแผนการลดก๊าซเรือนระจกของประเทศเป็นรายเซ็กเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมได้อย่างไร ซึ่งต้องได้ข้อมูลเป็นรายเซ็กเตอร์ เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ลงเป็นนิติบุคคล นี่คือระดับที่หนึ่งที่จะรายงานกับยูเอ็นซึ่งเป็นข้อมูลในเทียร์ 1 เป็นข้อมูลที่ง่ายที่สุด แต่เราอยากไปในเทียร์ 2 เทียร์ 3 ถึงแม้ในบางเซ็กเตอร์จะมีค่าสัมประสิทธิ์ในการปล่อย เช่น ภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือแม้แต่ภาคเกษตรก็ตาม แต่เทียร์ 3 ถือว่ายากที่สุดซึ่งเรายังไปไม่ถึง เราจำเป็นต้องพัฒนาการเก็บข้อมูลเหล่านี้ จึงมีฏหมายในหมวดที่ 6 ด้วย

ระดับที่สอง คือ การเรียกข้อมูลการรายงานของนิติบุคคลซึ่งวันนี้ไม่มีอำนาจในกฎหมายไหนให้สามารถเรียกได้ จะเรียกได้ก็ความร่วมมือ แต่วันหน้าจะเป็นภาคบังคับเท่าที่จำเป็น ผมจะใช้คำนี้นะครับ บังคับเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะได้ข้อมูล CFO – Carbon Footprint Organization หรือการปล่อยคาร์บอนบอนฟุตพรินต์ขององค์กรนั่นเอง แต่เราไม่ได้ต้องการใน 3 Scope เพื่อทำ ETS ต้องการแค่ Scope 1 คือปล่อยทางตรงจากระบวนการผลิต กับ Scope 2 ทางอ้อมและเรื่องการใช้พลังงานคือทางอ้อมเท่านั้น ไม่ได้ต้องการ Scope 3 (การจัดจำหน่าย การใช้ผลิตภัณฑ์ การกำจัดขยะ) นี่คือสิ่งเราต้องการและ พ.ร.บ.จะให้อำนาจและทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการลดก๊าซได้มากขึ้น

หมวดที่ 7 แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เมื่อมีข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศที่ละเอียดถูกต้องมากยิ่งขึ้น จะทำให้กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานและวางนโยบาย แม้แต่การปรับใช้เทคโนโลยีที่วันนี้ยังไม่สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากต้นทุนยังไม่เหมาะสม แต่ในอนาคตจะสามารถทำได้ นั่นคือการวางรูปแบบการทำงานในระยะยาว จะทำให้การวางแผนปฏิบัติการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นทุก 5 ปีไปเรื่อยๆ จาก 2030 ไปจนถึง 2050 มีความชัดเจนมากขึ้นไปด้วย

วันนี้แผนปฏิบัติการจะใช้ไปถึงปี 2030 จะมีการเพิ่มพลังงานทดแทนมากขึ้น จะมีการผลักดันเทคโนโลยี CCS ที่แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ของ ปตท.สผ. เป็นโครงการสําคัญ มีการใช้รถอีวี ระบบราง ปูนซิเมนต์ลดโลกร้อน การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นที่ทำให้โลกร้อน การเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งการจัดการภาคเกษตรก็ตาม ซึ่งแผนปฏิบัติการในขณะนี้มีการปรุงใหม่ เนื่องจากไทยมีการปรับเป้าหมายใน COP26 ที่กลาสโก จาก 20-25% เป็น 30-40% จึงทำให้ล่าช้าออกไป

แต่วันนี้ภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้นั่งรอแผนอยู่อย่างเดียว มีการใช้แผนและมีการดำเนินการไปบางส่วนแล้ว แผนฉบับนี้เป็นแผนระดับ 3 ของประเทศจึงต้องเข้าสภาพัฒน์ในการให้ความเห็นก่อนจะเสนอ ครม. วันนี้ผ่านสภาพัฒน์เรียบร้อย หลังรับแจ้งจากสภาพัฒน์ทางกรมก็จะเสนอให้ ครม.ได้ และเมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะยกระดับประสิทธิภาพการทำงานตามแผนให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้โครงการสำคัญ เช่น ปตท.สผ. ตัดสินใจในการลงทุนเรื่อง CCS เป็นโปรเจกต์นำร่องได้ …

หมวดที่ 8 ระบบการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นกลไก ETS ในการจัดสรรการปล่อยก๊าซไม่ใช่คาร์บอนเครดิต ท่านไม่สามารถเลือกได้โดยความสมัครใจและไม่สามารถเกิดการฟอกเขียวหรือ Green wash แน่นอนเพราะข้อมูลที่ใช้จะเกิดจากการรายนงานจากนิติบุคคลใน Scope 1 Scope 2 ซึ่งกรมจะมีหน้าที่ประมวลทั้งหมดว่าจะจำกัดสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมใดบ้างที่มีความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอน (Carbon Intensive) จากนั้นก็จะมีการคำนวณอย่างเป็นธรรม ใครทำดี ในปีแรกๆ ก็จะได้สิทธิในการปล่อยก๊าซไม่เหนื่อยนัก แต่ใครที่ทำไม่ดีก็อาจจะต้องเหนื่อยตั้งแต่ปีแรก

หลังจากนั้นสิทธิ์ก็จะทยอยลดลงเรื่อยๆ จะมีทั้งสิทธิ์ที่ให้เปล่าและสิทธิ์ที่ต้องประมูล กรมก็จะบริหารจัดการในภาพรวมโดยสร้างระบบขึ้นมารองรับที่สามารถเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์ เชื่อมต่อกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ทั้งหมดเพื่อรองรับกลไกที่ต้องเข้ามาเสริมกับ ETS สิทธิ์ที่จะให้กับอุตสาหกรรม เราจะบอกการจัดสรรสิทธิ์ทีละ 5 ปีและจะประกาศแผนจัดสรรล่วงหน้า 1 ปี สำหรับคนที่ถูกจำกัดสิทธิ์ เราจะประกาศรายชื่อนิติบุคคล 10 เดือนล่วงหน้าของวันที่หนึ่งของปีแรกของการจัดสรรสิทธิ์ให้ และเมื่อใช้สิทธิ์แล้วท่านต้องรายงานกลับมาว่าท่านใช้เกินหรือท่านมีเหลือ เพราะการที่ท่านมีเหลือท่านอาจจะ Rollover (การเปลี่ยนแปลงจากการถือสัญญา) ไปเก็บสะสมในปีหน้าได้ แต่การเก็บสะสมก็จะมีตัวเลขขั้นสูงที่จะให้ท่านทำได้ อาจจะแค่ 10% ซึ่งเราไปดูมาแล้วทั่วโลกว่าเขาใช้กันอย่างไร

ถ้าท่านใช้สิทธิ์เกินที่ได้รับ ท่านอาจจะสามารถชดเชยสิทธิ์นี้ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ไม่เกิน 15% ส่วนสิทธิ์ที่ท่านได้ไปที่กรมเป็นคนจัดสรรมันจะถูกจัดสรรที่เรียกว่า Primary Market หรือตลาดปิดที่กรมจัดการ แต่เมื่อท่านได้สิทธิ์ไปแล้ว ท่านสามารถขายสิทธิ์นั้นใน Secondary Market ได้ กลไกเหล่านี้กำลังถูกบัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ. แต่รายละเอียดที่มากกว่านี้จะไปอยู่ในอนุบัญญัติไม่ว่ากฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบ หรือแม้กระทั่งแนวทาง วันนี้อยากให้ท่านเห็นภาพว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

หมวดที่ 9 ระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) กรมสรรพสามิตกำลังแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อออกภาษีคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของภาษีสรรพสามิตอยู่ภายใต้ภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะไม่เพิ่มอัตราภาษีปัจจุบัน “แต่จะไปแยกเลเยอร์ให้เห็นว่าคาร์บอนมีราคา ในอนาคตในฐานะผู้บริโภคท่านต้องรับรู้การจ่ายราคาคาร์บอน ซึ่งจะใช้ก็ต่อเมื่อต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ไม่ได้ออกมาเพื่อไม่ให้ท่านไม่ได้ใช้พลังงาน ไม่ใช่ แต่เราต้องการเห็นการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ หลายคนบอกว่าถ้ากำหนดภาษีไปแล้วมีแต่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ครับ

“ทุกภาคธุรกิจทุกภาคส่วนทุกครัวเรือนต้องไปดูว่าเราใช้พลังงานคุ้มค่าหรือเปล่า การที่เราตั้งเป้าอยากจะเห็นโลกที่สดใส โลกที่ไม่เดือด หมูเด้งที่อยู่ได้ แต่ท่านอยากใช้พลังงานแบบใดก็ได้ ยังไงก็ได้ มันอาจจะไม่ใช่หนทางที่เราจะเดินไป เราแค่ต้องการการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพจากการใช้ภาษีคาร์บอน และเมื่อ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้จะมีการยกเลิกภาษีสรรพสามิตส่วนนี้ และมาใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเก็บภาษีคาร์บอนซึ่งอัตราจะเพิ่มขึ้น

“โดยจะโฟกัสไป 3 สินค้าคือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน และจะเก็บบนพื้นฐานของการใช้งานของสินค้า ไม่เก็บให้มีความซ้ำซ้อน…และกระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดเก็บไม่ว่าสรรพสามิตหรือศุลกากรก็ตาม แต่ภาษีที่เก็บไม่สามารถนำเงินเข้ากองทุนได้ แต่ในมาตรา 26 ของวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้เงินจากการจัดเก็บภาษีเฉพาะเรื่องสามารถกำหนดให้ท้องถิ่นได้ 10% ท้องถิ่นในอนาคตก็จะสามารถขับเคลื่อนแผนทั้งลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งการปรับตัว การบริหารจัดการในพื้นที่ได้มากขึ้นจากเงินภาษีส่วนนี้ เมื่อไปดูกลไกของทั้งโลก เมื่อเขาเก็บไปช่วยครัวเรือน หรือผู้บริโภคที่รับภาระภาษีให้สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านได้ ซึ่งทั่วโลกใช้สำหรับเรื่องนี้เป็นหลัก”

ส่วน ETS เงินที่เก็บเข้ามาของทั้งโลกจะใช้สำหรับการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจที่เป็น SME หรือแม้แต่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ก็ตามในการปรับใช้เทคโนโลยี

หมวดที่ 10 คาร์บอนเครดิต ยังเป็นภาคสมัครใจ โดย พ.ร.บ.จะกำหนดไว้ว่าเราอยากเห็นคาร์บอนประเภทไหน ปีอะไร ทำด้วยมาตรฐานอะไรที่จะสามารถไป Offset หรือแปลงสิทธิ์ชดเชย ETS ได้ไม่เกิน 15% อย่างที่ว่า ยกตัวอย่างถ้าให้สิทธิ์บริษัท A ปล่อยคาร์บอน 100 ตันต่อปี แต่บริษัท A ไปปล่อยเกินเป็น 120 ตัน ท่านสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดภายใต้หมวดนี้ซึ่งเชื่อมกับ ETS ได้สูงสุด 15 ตัน เราไม่ให้ซื้อมากกว่านั้นเพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่ลดและไปฟอกเขียว ซึ่งบริษัทจะทราบล่วงหน้า ต้องบริหารจัดการว่าจะปรับใช้เทคโนโลยีอย่างไร จะซื้อคาร์บอนเครดิตได้กี่เปอร์เซนต์ ซึ่งจะเชื่อมกับตลาด ETS และ 15% ที่ว่าถ้าประเทศเราอยากเห็นคาร์บอนซิงก์ (Carbon Sink) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญใน 120 ล้านตันในการดูดกลับเพื่อให้เกิด Carbon Neutrality หรือ Net Zer GHG เราก็ต้องจัดสรรการซื้อใน 15% นี้เป็นภาคป่าไม้ให้มากขึ้น เราจะเลือกเครื่องมือให้ยืดหยุ่นตามวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่เรากำหนดไว้

คาร์บอนเครดิตที่พูดถึงสามารถใช้ 2 เลเยอร์ คือ 1) ใช้คาร์บอนเครดิตตามสัดส่วนและคุณสมบัติที่กำหนดมาหักลบกับสิทธิ์ในการปล่อย 2) การใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ (ตาม article 6.2 ตามข้อตกลงปารีส) หรือการซื้อแบบสมัครใจระหว่างสองประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซในปี 2030 การซื้อขายประเภทนี้ต้องให้รัฐบาลรับรอง การถ่ายโอนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งถึงแม้จะเป็นของเอกชนก็ตาม รัฐบาลต้องรับรองตามข้อตกลงปารีส ถ้ารัฐบาลไม่รับรอง รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ที่ซื้อไปก็เอาไปบรรลุเป้าหมายไม่ได้ และต้องรายงานยูเอ็นเพื่อความโปร่งใส แม้แต่การซื้อขายภาคการบินก็เช่นกัน สิ่งที่เราซื้อขายไปเรามีหน้าที่ต้องบวกกลับสิ่งที่เราขายไป ซึ่งโครงการแบบนี้ไม่ใช่ทำง่าย ใช้เงินลงทุนเยอะ เงินจากคาร์บอนเครดิตจะต้องทำให้โครงการนั้นเป็นไปได้ มีเงินอยู่แล้ว ได้กำไรอยู่แล้ว กำไรเพิ่ม รวยซ้ำรวยซ้อน ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกลไกระหว่างประเทศ ข้อ 6 นี้

ส่วนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ เนื่องจากไปเชื่อมกับตลาด ETS จะมีดีมานด์ที่ชัดเจน จะทำให้สภาพคล่องของตลาดมากขึ้น ซึ่งวางแผนไว้ว่า ถ้าเชื่อม ETS กับคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจะให้ตลาดหลักทรัพย์ภายใต้กฎหมายของ ก.ล.ต.เป็นผู้ควบคุม และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตก็สามารถซื้อขายภายใต้สัญญา จะซื้อจะขายล่วงหน้าที่มี พ.ร.บ.กำกับ ส่วนคาร์บอนเครดิตอื่นๆ ก็ไม่เกี่ยวที่เป็นภาคสมัครใจก็ยังทำได้ตามปกติขายได้ตามปกติ ส่วนกรมจะกำกับเฉพาะที่มาเชื่อมกับตลาด ETS เท่านั้น

“ผมอยากจะเน้นเรื่องกลไกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศไม่ใช่โครงการที่ทำได้ง่ายๆ ต้องเป็นโครงการที่ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนดเท่านั้น และโครงการนั้นถ้าได้รับเงินไปแล้ว จบสิ้นสุดโครงการๆ ยังต้องแสดงการดำเนินการที่ต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า Sustainability Beyond 2030 เพราะเราจะขายแค่ปี 2030 เท่านั้น นี่คือสิ่งที่เป็นเรื่องยากและต้องใช้เงินลงทุนสูง และแยกออกจากการทำคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจภายในประเทศ”

หมวดที่ 11 การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นส่วนที่ประชาชนอยากเห็น ท้องถิ่นอยากเห็นและเป็นส่วนที่ถูกตั้งคำถามมากมายต่อหน่วยงานรัฐว่า เราจะเข้าไปรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร พายุที่รุนแรงภาคเหนือ น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ความสูญเสียที่เกิดขึ้น จะทำอะไรได้ดีกว่านี้ไหมสำหรับพี่น้องประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีการกำหนดชัดเจนในทุกรอบที่มีการอัปเดตข้อมูลที่เราจะต้องมี Climate Risk Profile หรือข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย ครอบคลุมทุกภัยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วมและดินโคลนถล่มก็เป็นส่วนหนึ่งของภัยนั้น

วันนี้เราเห็นข้อมูลที่มีความละเอียดมากถึงขนาด 5×5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะบริหารจัดการได้ คำถามก็คือว่าถ้าท่านทำข้อมูลที่หยาบเกินไป เช่น ดินจะถล่มเป็นปื้นทั้งจังหวัด ท่านจะไปจัดการยังไง มีเงินมากพอไหม มีคนมากพอไหม แต่ถ้าสามารถลงไปในรายละเอียดได้ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงมากที่สุด เสี่ยงมากลำดับถัดไป เราก็สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้คุ้มค่ามากที่สุดในการที่จะเตือนภัยในช่วงก่อนที่จะเกิด

“ลองคิดดูว่าถ้าเราอยู่ที่ กทม.ไม่ใช่พี่น้องที่อยู่ที่เชียงราย บ้านเราไม่ได้น้ำท่วม ทรัพย์สินที่มันเสียหายไป กว่าเขาสามารถเอาสิ่งเหล่านี้กลับมาและกลับมายืนขึ้นได้อีกครั้งมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคน ถ้าเรามีระบบที่ดีขึ้น วันนี้ ปภ.โดยกระทรวงมหาดไทยทำงานเต็มที่นะครับ เพราะเราก็ทำงานใกล้ชิดกันตลอดและก็หน่วยงานอื่นๆ ด้วยในหลายกระทรวง แต่วันนี้ก็ยังมีข้อจำกัดและกฎหมายก็จะช่วยให้เราทำงานเรื่องนี้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะมีแผนการปรับตัว มีทั้งน้ำ เกษตร ทรัพยากร ท่องเที่ยว สุขภาพและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การจัดการการใช้ที่ดิน

ในปี 2568 กรมลดโลกร้อนจะทำงานร่วมกับ 7 กระทรวง รวมถึงกระทรวง พม.ในการออกแบบแผนปฏิบัติการการปรับตัวที่รองรับแผนการปรับตัวแห่งชาติและจะมีการกำหนด Flagship Project (โครงการเรือธง) หรือการทำโครงการเชิงปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อเป็นโครงการนำร่องให้เกิดความสำเร็จและสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ประเทศไทยไม่ได้ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เล็ก มีชุมชนมากมาย มี อปท.กว่า 7,000 อปท. เราจะทำอย่างไรให้ทุกพื้นที่มีภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นี่คือสิ่งที่ พ.ร.บ.จะให้อำนาจเราในการทำงานเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจะทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา จิสด้าและอีกหลายภาคส่วนในการจัดการความเสี่ยงของไทยให้ดีขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นในการจัดทำแผนปรับตัวระดับพื้นที่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ซึ่งสามารถร้องขอในการจัดทำแผนได้ถ้าเกิดความเสี่ยงหรือจะเกิดความเสี่ยงของพื้นที่ในอนาคต ท้องถิ่นไหนถึงจะไม่เสี่ยงมาก แต่อยากจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ก็สามารถทำได้ พ.ร.บ.ก็จะเขียนไว้เช่นกัน

เราไม่ได้ทำเฉพาะลดก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้การลดก๊าซจะเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาของอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน ถ้าจัดการปัญหาไม่ได้ ท่านจะปรับตัวอย่างไรถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศา 2.5 องศา 3 องศา หรือ 4 องศา แค่ 2 องศา ปะการังทั่วท้องทะเล 90% ก็จะหายไป ถ้า 3 องศาไม่ต้องพูดถึง สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศพังทลาย ถ้าไม่มีระบบนิเวศทางทะเลเราจะอยู่กันได้ไหมมนุษย์โลก สิ่งที่พูดไม่ได้พูดด้วยตัวเอง แต่พูดจากงานนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเรื่องของอุณหภูมิของนาซ่า เรื่องการคาดการณ์ของอุณหภูมิและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัยเยอะแยะมากมาย ไม่ต้องแปลกใจทำไมสื่อหลายสำนักรายงานเรื่องอุณหภูมิแตกต่างกัน ปีที่แล้วเรายึดของนาซ่าอุณหภูมิอยู่ที่ 1.3 องศา ปี 2024 อาจจะเห็น 1.4 องศา Tipping Point (จุดพลิกผัน) ใกล้เข้ามาทุกที เราจะควบคุมมันได้หรือไม่อยู่กับคนทั้งโลก และกลไกทางกฎหมายจะช่วยให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้

หมวดที่ 12 มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ Green taxonomy ซึ่งจะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนซึ่งวันนี้ได้พัฒนานำร่องไปแล้วระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2566 ในภาคพลังงานและขนส่ง ระยะที่ 2 กำลังทำอยู่ แต่นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรมของเสีย การก่อสร้างและอาคาร และเกษตร และจะมีคู่มือการใช้งานออกมาเพราะเฟส 1 ไม่มีคู่มือใช้งาน รวมทั้งจะจัดสรรอย่างไรว่าเขาอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มสีเขียว ส้ม หรือแดง ถ้าเขียว Business Plan มีการลงทุนที่ตอบสนองต่อ Climate Change และยึดโยงกับเป้าหมาย 1.5 องศา ถ้าส้มแสดงว่ามี แต่ไม่ยึดโยงกับเป้าหมายหรือไม่มีการจัดลำดับความสำคัญกับเป้าหมายระดับโลก ถ้าแดงไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็น Fossil base Investment อยู่

มีคำถามด้วยว่า Green taxonomy นี้ใช้กับธนาคารด้วยหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้ใช้ แต่จะใช้ในการทำแผนระดับชาติ ใช้ในเรื่องการให้เงินจากกองทุน การรายงานการปล่อยก๊าซในกลไก ETS และถ้าทำได้ ธนาคารทุกธนาคารในประเทศไทยก็ต้องใช้ได้เช่นเดียวกัน

หมวดที่ 13 บทกำหนดโทษ จะมีบทลงโทษเป็นพินัยเป็นหลัก คือ ค่าปรับ ไม่มีโทษทางอาญาหรือการจำคุก แต่จะเอาค่าปรับไปใช้ในการสร้างระบบนิเวศ จะมีโทษอาญาแค่ส่วนเดียวถ้าท่านจงใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผิดกฎหมาย

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือใหม่ที่มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้จากที่ไม่มีกฎหมาย เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านได้ วันนี้เราจะเก็บภาษีจาก Fossil base เพื่อเอาเงินกลับไปบริหารจัดการ จะเก็บเงินจากการจัดสรรสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนเพื่อจะสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและให้รายได้ของเรานั้นไปยึดโยงกับเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต

กรมลดโลกร้อนทำคนเดียวไม่ได้ รัฐบาลทำรัฐบาลเดียวทำไม่ได้ คนไทยทั้ง 67 ล้านคนต้องช่วยกันในทุกมิติ และคนทั้งโลกต้องช่วยกันในทุกรัฐบาล อยากฝากไว้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เราจะทำให้เป็นธรรมมากที่สุด รองรับสิทธิ์ของทุกคนมากที่สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่สุดและสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มากที่สุด

นั่นคือความมุ่งหวังของการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ติดตามรายละเอียดและความคืบหน้าของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ต่อไปเพื่อสร้างประเทศไทยที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

Copyright @2021 – All Right Reserved.