ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญกับกลิ่นและรสชาติของเบียร์มากขึ้น ซึ่งส่วนประกอบที่ทำให้เบียร์มีรสขมและกลิ่นหอมคือ ดอกฮอปส์ ยิ่งดอกฮอปส์คุณภาพสูง รสชาติและกลิ่นยิ่งเป็นที่ดึงดูด แต่จากการศึกษาล่าสุดพบว่าคุณสมบัติความขมของดอกฮอปส์เสี่ยงลดลง เนื่องจากการคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หนึ่งแรงจูงใจของการศึกษาครั้งนี้คือต้องการแสดงให้คนที่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องไกลตัวได้เข้าใจว่าวิกฤตที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและ และมันส่งผลกระทบได้จริงๆ อย่างน้อยก็ส่งผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์เช่น เบียร์
จากการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทีตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications พบว่า ตั้งแต่ปี 1994 ดอกฮ็อปที่ปลูกในยุโรป เช่น เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และสโลวีเนีย ซึ่งเป็นประเทศผลิตเบียร์รายใหญ่ของโลก สุกเร็วขึ้นและให้ผลผลิตน้อยลง ซึ่งนักวิจัยคาดว่าผลผลิตอาจลดลงมากถึง 18% ภายในปี 2593
นอกจากนี้สภาพอากาศร้อนและแล้งที่รุนแรงมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณกรดอัลฟ่าซึ่งทำให้เบียร์มีรสขมลดลงได้ถึง 31% ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อรสชาติของเบียร์ โดยเฉพาะในกลุ่ม IPA ที่มีกลิ่นและรสชาติของฮอปส์เป็นเอกลักษณ์
แม้การศึกษานี้มุ่งเน้นไปที่ประเทศหลักๆ ในยุโรปที่ปลูกฮอปเป็นหลัก ซึ่งครอบคลุมเกือบ 90% ของพื้นที่ทุ่งอะโรมาติกฮอปทั้งหมดในทวีปนี้ แต่นักวิจัยเชื่อว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อดอกฮอปส์อาจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ไม่ต่างกัน เนื่องจากปีนี้สหรัฐฯเผชิญคลื่นความร้อนที่รุนแรงบ่อยครั้ง
เบียร์มีมาอย่างน้อย 3,100 ปีก่อนคริสตกาล โดยส่วนผสมพื้นฐานของเบียร์ ได้แก่ น้ำ ข้าวบาร์เลย์ ยีสต์ และดอกฮอปส์ ที่กำลังถูกคุกคามจากวิกฤตโลกร้อน และนั่นอาจจะทำให้รสชาติเบียร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นักวิจัยเชื่อว่าผลจากการศึกษา สามารถใช้แนวทางการปรับตัวสำหรับภาคเกษตรในการเพาะปลูกฮอปส์ให้ได้คุณภาพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคาดว่าอย่างน้อยอาจทำให้ผู้บริโภคเบียร์ตระหนักได้ถึงความสำคัญของผลกระทบจากการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ