ย้อนรอย 50 ปี มหันตภัยโลกร้อนและความ (สิ้น) หวังข้อตกลงกลาสโกว์?

ภัยพิบัติมากกว่า 11,000 กรณีทั่วโลกที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2 ล้านคน สร้างความเสียหายมากถึง 3.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า 91% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อย โดยภัยจากความแห้งแล้งสร้างหายนะรุนแรงมากที่สุด

ตัวเลขผู้เสียชีวิตและหายนะที่เกิดขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีคำตอบที่บ่งชี้ว่า โลกกำลังอยู่ในวิกฤต โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทุกประเทศต่างฝากความหวังไว้กับการประชุม “COP26” หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564

น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในประเทศไทย

หากมองในมุมกลุ่มประเทศเปราะบางถือว่าการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะข้อตกลงที่ออกมาไม่เอื้อให้ประเทศเหล่านี้รอดพ้นจากหายนะที่จ่อคอหอยอยู่ได้ โดยเฉพาะความช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจหรือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยประเทศต่าง ๆ สำหรับความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพอากาศ ซึ่งทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลุ่ม G-77 แสดงความ “ผิดหวังอย่างยิ่ง”

นอกจากนี้ “ข้อตกลงกลาสโกว์” ยังได้ยื้อการ “ยกเลิก” (phase out) ถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยการแก้ไขร่างข้อตกลงให้เหลือเพียงลดการใช้ (phase down) เท่านั้น ทั้งที่ร่างสุดท้ายได้เสนอให้ “เลิกใช้” ถ่านหิน  แต่มีกระแสคัดค้านจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดียและจีนทีระบุว่า หากประเทศกำลังพัฒนาต้องเลิกใช้ถ่านหิน พวกเขาจะพัฒนาประเทศได้อย่างไร?

มติดังกล่าวทำให้หลายประเทศแสดงอาการผิดหวัง เพราะสะท้อนว่าทั่วโลกไม่ได้ใช้เวทีประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศแสดงความมุ่งมั่นให้มากพอที่จะช่วยกันสกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ทว่ากลายเป็นข้อตกลงที่เป็นการประนีประนอมเสียมากกว่าและจะต้องมาเร่งรัดติดตามแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนกันในปีถัดไป

จากข้อตกที่น่าผิดหวังและข้อมูลนักวิทยาศาสตร์ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า สถานการณ์จากนี้ไปมีความสุ่มเสี่ยงที่โลกจะร้อนขึ้น 2.4 องศาเซลเซียส ซึ่งหากโลกร้อนขึ้นขนาดนั้นหลายพื้นที่จะเผชิญกับหายนะและจะแก้ไขให้คืนกลับมาได้ยาก

และเมื่อย้อนกลับมาดูท่าทีของประเทศไทยในเวทีโลกคราวนี้ก็พบว่า ไทยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงประเด็นหลัก ๆ เลย อาทิ 100 กว่าประเทศทั่วโลกรับปากว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573 ไทยไม่ได้ร่วมลงนามโดยให้เหตุผลว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน

หรือผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศ เห็นชอบกับโครงการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2573 ซึ่งมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายราว 1 ใน 3 ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ไทยในฐานะประเทศปลูกข้าวอันหนึ่งของโลกก็ไม่ได้ร่วมลงนาม โดยอ้างว่าจะกระทบเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

น้ำท่วมใหญ่ในเยอรมนีปี 2564

เมื่อย้อนไปดูวิกฤตที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายนผ่านมาว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศรายได้สูง

จากข้อมูลใน “แผนที่การเสียชีวิตและการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และภัยทางน้ำสุดขั้ว” ของหน่วยงานตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2562 อันตรายทางธรรมชาติเหล่านี้คิดเป็น 50% ของภัยพิบัติทั้งหมด คิดเป็น 45% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด และ 74% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

มีรายงานภัยพิบัติมากกว่า 11,000 กรณีทั่วโลกที่เกิดจากอันตรายเหล่านี้ โดยมีผู้เสียชีวิตเกือบ 2 ล้านคน และสร้างความเสียหายเป็นเม็ดเงินถึง 3.64 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่า 91% ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีรายได้น้อย

จากภัยพิบัติ 10 อันดับแรก ความแห้งแล้งสร้างหายนะรุนแรงที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 650,000 คน ตามมาด้วยพายุที่คร่าชีวิตผู้คนไป 577,232 คน น้ำท่วมคร่าชีวิตผู้คนไป 58.700 คน และเหตุการณ์อุณหภูมิสุดขั้วทำให้มีผู้เสียชีวิต 55,736 คน

เมื่อแยกออกเป็นประเทศที่เจอกับภัยพิบัติต่าง ๆ พบว่า เอธิโอเปียเจอภัยแล้งเลวร้ายที่สุด (ปี 2525) มีคนตายไปถึง 300,000 คน บังกลาเทศมีคนตายจากพายุมากที่สุด (ปี 2513) จำนวน 300,000 คน ภาวะสภาพอากาศสุดขั้วในรัสเซีย (ปี 2553) ตายไปถึง 55,736 คน และเวเนซุเอลาเจอน้ำท่วมหนักที่สุด (ปี 2542) ตายไป 30,000 คน

เหล่านี้คือภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี เมื่อจัดตามประเทศและประเภทของภัยธรรมชาติ

ในขณะเดียวกัน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปี 2513 ถึงปี 2553 จากเฉลี่ย 49 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 383 ล้านดอลลาร์ต่อวันทั่วโลก โดยพายุเป็นสาเหตุความเสียหายที่แพร่หลายที่สุด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในหลายแห่งทั่วโลก

ภัยพิบัติที่มีค่าเสียหายสูงที่สุด 3 ใน 10 ครั้ง ทั้งหมดเกิดจากพายุเฮอริเคนในปี 2560 คิดเป็น 35% ของความเสียหายจากภัยพิบัติทางเศรษฐกิจทั้งหมดทั่วโลกตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2562 พายุที่สร้างความเสียหายที่สุดคือเฮอริเคนแคทรินา (ปี 2548) ที่สหรัฐอเมริกา เสียหายไปถึง 163,610 ล้านดอลลาร์

จากแคทรินาในอันดับที่ 1 ตามด้วยเฮอริเคนอีก 5 ลูกที่ติด 6 อันดับแรกที่สร้างความเสียหายมากที่สุดทั้งหมดเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน นอกจากเฮอริเคนในสหรัฐยังมีน้ำท่วมในจีน (ปี 2541) เสียหาย 47,020 ล้านดอลลาร์ และอันดับที่ 7 คือน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยปี 2554 เสียหายถึง 45,460 ล้านดอลลาร์

มันอาจจะเลวร้ายกว่านี้ แต่โชคดีที่ระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการจัดการภัยพิบัติที่ได้รับการปรับปรุง ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเกือบสามเท่าระหว่างปี 2513 ถึง 2562 โดยลดลงจาก 50,000 คนในปี 2513 เหลือน้อยกว่า 20,000 คนในปี 2553

เพทเทรี ทาอาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการ WMO ชาวฟินแลนด์บอกว่า “ความสูญเสียทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้นเมื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เบื้องหลังสถิติที่ดูรุนแรงยังมีประกายแห่งความหวังอยู่ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่หลากหลายที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นทำให้อัตราการตายลดลงอย่างมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ เราช่วยชีวิตคนได้ดีกว่าที่เคย”

ถึงจะมีความหวังอยู่บ้าง แต่ทาลาสเตือนว่า “จำนวนของเหตุการณ์สุดขั้วด้านสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำกำลังเพิ่มขึ้น และจะรุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นในหลายส่วนของโลก อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายถึงคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และไฟป่าเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นที่เราเพิ่งพบเห็นในยุโรปและอเมริกาเหนือ”

หัวหน้า WMO อธิบายว่า ไอน้ำในบรรยากาศที่มากขึ้นทำให้ปริมาณน้ำฝนและน้ำท่วมรุนแรงขึ้น และมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อความถี่และขอบเขตของพายุโซนร้อนที่รุนแรงที่สุด

WMO อ้างถึงการศึกษาของ American Meteorological Society ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงปี 2558 ถึง 2560 มีรายงาน 62 เหตุการณ์ภัยพิบัติจาก 77 เหตุการณ์ที่แสดงถึงอิทธิพลจากน้ำมือมนุษย์

จากการศึกษาหลายชิ้นที่ทำขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ยังพบความน่าจะเป็นของคลื่นความร้อนยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์

นอกจากนี้ การศึกษาจำนวนมากขึ้นยังพบว่า อิทธิพลของมนุษย์ทำให้เหตุการณ์ฝนตกหนักรุนแรงขึ้น บางครั้งร่วมกับอิทธิพลของสภาพอากาศที่รุนแรงอื่น ๆ ตัวอย่าง ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนที่รุนแรงในภาคตะวันออกของจีนในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2559 และพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ซึ่งเข้าโจมตีเมืองฮุสตันในปี 2560

มามิ มิซุโทริ (Mami Mizutori) ผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติและหัวหน้าสำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (UNDRR) กล่าวว่า “ผู้คนจำนวนมากได้รับการช่วยชีวิตด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า แต่ก็เป็นความจริงด้วยว่า จำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของประชากรในพื้นที่เสี่ยงภัยและระดับความรุนแรง ซึ่งความถี่ของเหตุการณ์สภาพอากาศที่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาเรื้อรังของผู้พลัดถิ่นจำนวนมากในแต่ละปีจากอุทกภัย พายุ และภัยแล้ง”

ภาพรวมภัยพิบัติแยกตามภูมิภาคตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2562

#แอฟริกา

  • ภัยพิบัติที่บันทึกไว้ในแอฟริกามีจำนวน 1,695 ครั้ง ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต 731,747 คน และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ทวีปนี้คิดเป็น 15% ของภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำ การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วน 35% และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1% ของกรณีภัยพิบัติที่มีการรายงานทั่วโลก
  • แม้ว่าภัยพิบัติจากอุทกภัยจะแพร่หลายมากที่สุด แต่ความแห้งแล้งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 60% และคิดเป็น 95% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในภูมิภาค โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเอธิโอเปีย โมซัมบิก และซูดาน

#เอเชีย

  • สถิติภัยพิบัติ 3,454 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 975,622 คน และความเสียหายทางเศรษฐกิจ 2 ล้านล้านดอลลาร์
  • เอเชียคิดเป็นสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามหรือ 31% ของภัยพิบัติจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำทั่วโลก คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตทั้งหมด และหนึ่งในสามของความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติเหล่านี้
  • 45% เกี่ยวข้องกับอุทกภัย และ 36% เกิดจากพายุ
  • พายุคร่าชีวิตผู้คนไป 72% ในขณะที่น้ำท่วมก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 57%

#อเมริกาใต้

  • ภัยพิบัติ 10 อันดับแรกที่บันทึกไว้ในภูมิภาคนี้คิดเป็น 60% ของ 34,854 ชีวิตที่สูญเสียไป 38% ของการสูญเสียทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 39.2 พันล้านดอลลาร์
  • อุทกภัยคิดเป็น 90% ของเหตุการณ์ใน 10 อันดับแรกของภัยพิบัติตามจำนวนผู้เสียชีวิต และ 41% ของเหตุการณ์ 10 อันดับแรกมาจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
  • อุทกภัยมีส่วนให้เกิดภัยพิบัติ 59% ผู้เสียชีวิต 77% และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 58% ในภูมิภาค

#อเมริกาเหนือ_อเมริกากลาง_และแคริบเบียน

  • ภูมิภาคนี้มีผู้เสียชีวิต 74,839 คน และสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
  • ภูมิภาคนี้เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำ 18% ของภัยพิบัติจากทั่วโลก และมีอัตราผู้เสียชีวิตคิดเป็น 4% ตลอดจน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 45% เทียบกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก
  • พายุมีอัตราส่วน 54% และน้ำท่วม 31% ของภัยพิบัติที่บันทึกไว้ โดยพายุเชื่อมโยงกับการเสียชีวิต 71% และน้ำท่วมคิดเป็น 78% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
  • สหรัฐอเมริกาคิดเป็น 38% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และอันตรายจากน้ำ

#แปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้

  • ภูมิภาคนี้บันทึกภัยพิบัติ 1,407 กรณี ผู้เสียชีวิต 65,391 คน และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 163.7 พันล้านดอลลาร์
  • ภัยพิบัติเหล่านี้ 45% เกี่ยวข้องกับพายุและ 39% เกิดจากน้ำท่วม
  • พายุคิดเป็น 71% ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ
  • ภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และอันตรายจากน้ำในออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วน 54% หรือ 88.2 พันล้านดอลลาร์ในความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค

#ยุโรป

  • มีสถิติภัยพิบัติ 1,672 ครั้ง คร่าชีวิต 159,438 คน และความเสียหายทางเศรษฐกิจ 476.5 พันล้านดอลลาร์
  • แม้ว่า 38% เกิดจากน้ำท่วมและ 32% เกิดจากพายุ แต่อุณหภูมิสุดขั้วทำให้มีผู้เสียชีวิต 93% โดยมีผู้เสียชีวิต 148,109 คน
  • คลื่นความร้อนที่รุนแรงในปี 2546 และ 2553 มีส่วนทำให้เสียชีวิต 80% โดยมีผู้เสียชีวิต 127,946 คนในเหตุการณ์คลื่นความร้อน 2 ครั้ง

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นพบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นและคลื่นความร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนทำงานในสหรัฐประมาณ 32 ล้านคนที่ทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากการทำงาน และสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 55.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา ทวีปอเมริกาเหนือเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ที่แคนาดาเมืองต่าง ๆ เปิดศูนย์ฉุกเฉินติดเครื่องปรับอากาศให้ประชาชนมาหลบร้อน เจ้าหน้าที่ออกแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดและหมวก ขณะที่ชุมชนท้องถิ่นมากกว่า 160 แห่งมีอุณหภูมิสูงเป็นสถิติใหม่ คลินิกฉีดวัคซีน COVID-19 หลายแห่งและโรงเรียนประกาศปิดชั่วคราวเพราะอากาศร้อนจัด

กระทั่งถึงเดือนสิงหาคม 2564 คลื่นความร้อนก็ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในสหรัฐ ตั้งแต่เขตมิดเวสต์ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐเปิดเผยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 อุณหภูมิโลกในเดือนนี้สูงสุดในรอบ 142 ปี ตั้งแต่ NOAA เริ่มเก็บบันทึกสถิติ

เช่นเดียวกับที่ยุโรปก็เกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเฉพาะในเยอรมนี รวมทั้งเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักแซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์นั่นเอง โดย ฮานา โคลก ศาสตราจารย์ด้านอุทกวิทยาจากมหาวิทยาลัยรีดดิง กล่าวว่า ฝนที่ตกอย่างกะทันหันและปริมาณสูงครั้งนี้เป็นเป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากซีกโลกเหนือกำลังประสบกับคลื่นความร้อนและเกิดไฟป่า

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โลกโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นมหันตภัยใกล้ตัวที่มีแนวโน้มจะเกิดภัยพิบัติมากขึ้น ถี่ขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหากประเทศใดก็ตามไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและขาดแผนรับมือที่ดีพอ มีความเป็นไปได้สูงที่ประชากรในประเทศนั้นจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและเกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง

อ้างอิง:

  • Paul Rincon. (November 14, 2021). “COP26: New global climate deal struck in Glasgow”. BBC.
  • Sam Meredith. (November 14, 2021). Countries strike deal at COP26 climate summit after last-minute compromise on coal CNBC.
  • Fiona Harvey, Damian Carrington and Libby Brooks (Nov 14 2021) “Cop26 ends in climate agreement despite India watering down coal resolution” . The Guardian
  • (Nov13, 2021) “What is COP26 and what is being agreed at Glasgow climate conference?” . BBC
  • (1 September 2021) “Climate and weather related disasters surge five-fold over 50 years, but early warnings save lives – WMO report” . UN
  • Kristina Dahl and Rachel Licker, Union of Concerned Scientists, (Aug 17,2021) “Too Hot to Work Climate change, extreme heat, and the health and financial risks to outdoor workers”
  • Brandon Miller, (Aug 13, 2021) “July was the hottest month on record, amid extreme weather around the globe” . CNN
  • Jon Henley (Jul 18, 2021) “Death toll exceeds 180 as Germany and Belgium hit by devastating floods” . The Guardian

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน