เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา สหประชาชาติเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด Climate Action Summit เป็นการชุมนุมของผู้นำโลกที่ควรจะมอบความหวังให้กับชาวโลกว่าเราจะมี “แอคชั่น” ในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างไรบ้าง
แต่แล้วมันแทบจะไม่แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อนๆ เนื่องจาก Climate Action Summit มีเพียงคำมั่นสัญญา และประเทศมหาอำนาจต่างตั้งแง่ต่อกันว่าใครควรจะแก้ปัญหานี้ก่อน
เรามาสำรวจคำมั่นสัญญาที่ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ไว้ในการประชุมครั้งนี้กันก่อน
ระดับระหว่างประเทศ
- มีการก่อตั้งพันธมิตรความมุ่งมั่นปัญหาสภาพอากาศโลก (The Climate Ambition Alliance) นำโดย ชิลี มี 59 ประเทศแสดงความตั้งใจที่จะยกระดับแผนรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศภายในสิ้นปี 2563
พร้อมกับตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือศูนย์ภายในปี 2593 ในส่วนของเป้าหมายหลังไม่ได้มีแค่ 59 ประเทศ แต่ยังมีประเทศอื่น ๆ รวม 65 ประเทศบวกกับสหภาพยุโรปตั้งใจที่จะทำตามเป้านี้ด้วย (1)
- พันธมิตรลดการใช้ถ่านหิน หรือ The Powering Past Coal Alliance มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 30 ประเทศ 22 รัฐหรือภูมิภาค และบริษัท 31 แห่งมุ่งมั่นที่จะหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในปี 2562 และเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว (1)
- แพลตฟอร์มการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศ (The Climate Investment Platform) จะพยายามระดมเงินเพื่อนำมาลงทุนพลังงานสะอาดโดยตรง เป็นเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 สำหรับ 20 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (1)
ระดับภูมิภาค
- มีความริเริ่มใหม่โดยประเทศอเมริกากลาง ซึ่งตั้งเป้าหมายในปี 2573 ที่จะจัดพื้นที่ 10 ล้านเฮกตาร์ให้เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตที่ยั่งยืน มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยมลพิษไม่น้อยกว่า 40% จากอัตราของปี 2553 (1)
- สหภาพยุโรป กล่าวว่า งบประมาณของปีถัดไปอย่างน้อย 25% จะนำไปใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ส่วนฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องให้สหภาพยุโรปลดการปล่อยก๊าซลง 55% ภายในปี 2573 จากอัตราเมื่อปี 2533 หรือเพิ่มขึ้น 40% จากเป้าปัจจุบัน (2)
- นอร์เวย์เปิดตัวคณะกรรมการระหว่างประเทศสำหรับเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืนโดยมี 14 ประเทศซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลของโลกประมาณ 30%, ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษของโลก 30% เป็นประเทศที่จับปลาได้ 20% ของโลกและมีการขนส่งทางเรือ 20% ของโลก (2)
ระดับประเทศ
- รัสเซียให้สัตยาบันความตกลงปารีส (Paris Agreement) ส่วนฝรั่งเศสสัญญาว่าจะไม่เข้าทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่มีนโยบายต่อต้านความตกลงปารีส
- ฟินแลนด์มุ่งมั่นที่จะปล่อยคาร์บอนให้เท่ากับศูนย์ภายในปี 2578 ส่วนเยอรมนี อิตาลี และสโลวาเกีย ตั้งเป้าไว้ในปี 2593 (2)
- นิวซีแลนด์มุ่งมั่นที่จะปลูกต้นไม้ 1,000 ล้านต้น ภายในปี 2571 และจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่ยั่งยืนที่สุดในโลก (2)
- สวีเดน เกาหลีใต้ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ ประกาศเพิ่มเงินสมทบกองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) เป็นสองเท่า (2)
- สหราชอาณาจักรให้คำมั่นที่จะเพิ่มเงินทุนเป็นสองเท่าเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในต่างประเทศมูลค่า 11.6 หมื่นล้านปอนด์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2)
- มี 102 เมือง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และมี 2,000 เมือง มุ่งมั่นที่พิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพอากาศให้เป็นแกนหลักในนโยบาย การวางแผน และการลงทุน (2)
ภาคเอกชน
- มีภาคธุรกิจ 87 องค์กร มุ่งมั่นที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งในด้านการปฏิบัติงานและห่วงโซ่คุณค่า บริษัทและองค์กรเหล่านี้เช่น Danone, Engie, Ikea, L’Oréal, Nestle และ Sodexo เป็นต้น (2)
- บริษัท 19 แห่ง ที่ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ One Planet Business for Biodiversity ให้คำมั่นว่าจะพัฒนาทางออกเพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบปฏิรูป ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและอาหาร และลดการทำลายป่า (2)
- ชมรมการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (IDFC) ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับชาติและระดับภูมิภาค 24 แห่ง ให้คำมั่นที่จะอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สู่โครงการภูมิอากาศภายในปี 2568 (2)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาระหว่างการประชุมเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้เวทีนี้เป็นที่ตั้งเป้าหมายและคำสัญญาใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกันเวที Climate Action ก็มีเรื่องขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่รุนแรงขึ้นหลังจากที่สหรัฐถอนตัวจากความตกลงปารีส นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งกันเรื่องการลดใช้ถ่านหิน
เริ่มจากจีน ซึ่งแบกรับหน้าที่ผู้นำการปฏิบัติตามความตกลงปารีสหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวไป ในเวลานี้จีนต้องการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำบ้าง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการปล่อยมลพิษมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา จึงมีพันธะที่ต้องรับผิดชอบมากกว่านี้
ในการประชุมครั้งนี้ จีนยังปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเว้นแต่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะลงมือทำด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐไม่ยินยอม (3)
สหภาพยุโรปกล่าวตำหนิโปแลนด์เรื่องการไม่ยอมลงนามลดการใช้ถ่านหิน ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชี้ว่าโปแลนด์คือตัวขัดขวางประเทศเดียว นอกจากนี้ แผนของรัฐบาลในการยกเลิกการทำเหมืองถ่านหินนั้นช้าเกินไป คือตั้งเป้าไว้ในปี 2593 แม้จะช้าขนาดนี้
แต่ที่ปรึกษาด้านพลังงานของโปแลนด์ยืนยันว่าจะเลือกความมั่นคงด้านพลังงาน มากกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนและการทำตามเป้าของสหภาพยุโรปที่ลงนามลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 (4)
ขณะที่หลายประเทศตั้งเป้าที่จะการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 หรืออย่างเร็วที่สุดคือ 2578 รวมแล้วมี 80 ประเทศ แต่ประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่ปล่อยก๊าซอันดับต้นๆ คือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกาไม่ยอมตั้งเป้า ขณะที่สหภาพยุโรปไม่มีเอกภาพ เพราะแยกกันทำในเรื่องนี้ (3)
ท่ามกลางคำสัญญาที่ไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และความขัดแย้งของนานาประเทศ ความล้มเหลวของการประชุมถูกแย่งความสนใจไปโดย เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาพอากาศโลก ซึ่งกล่าวตำหนิผู้นำโลกอย่างรุนแรงในแถลงการณ์ถึงสมัชชาที่ประชุม Climate Action
เธอกล่าวตอนหนึ่งด้วยอารมณ์อันดุเดือดว่า “ผู้คนกำลังทุกข์ทรมาน ผู้คนกำลังจะตาย ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลายลง เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และคุณเอาแต่พูดเรื่องเงินและเทพนิยายของการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่นั่นแหละคุณกล้าดียังไง!” (5)
แต่หลังจากนั้นเกรต้า ธันเบิร์ก ก็ถูกโจมตีจากผู้นำโลกทั้งทางการเมืองและภาคธุรกิจอย่างหนัก รวมถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่บอกว่า “ไม่มีใครอธิบายกับเกรต้าว่าโลกสมัยใหม่นั้นซับซ้อนและแตกต่าง” (6)
ในส่วนของประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียน ประกาศเป้าหมายที่สำคัญของอาเซียนในด้านสภาพภูมิอากาศ 2 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านพลังงาน อาเซียนจะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 23% ภายในปี 2568 และ (2) ด้านการขนส่งทางบก อาเซียนจะลดการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียน 26% ระหว่างปี 2558-2568 (7)
อ้างอิง
- “In the face of worsening climate crisis, UN Summit delivers new pathways and practical actions to shift global response into higher gear”. (September 23, 2019). United Nations. https://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2019/09/in-the-face-of-worsening-climate-crisis-un-summit-delivers-new-pathways-and-practical-actions-to-shift-global-response-into-higher-gear/
- “This is what the world promised at the UN climate action summit”. (October 2, 2019). Climate Home News. https://www.climatechangenews.com/2019/10/02/world-promised-un-climate-action-summit/
- Khan, Arshad M. “The Climate Action Summit Fiasco”. (September 30, 2019). Modern Diplomacy. https://moderndiplomacy.eu/2019/09/30/the-climate-action-summit-fiasco/
- “Poland defies Brussels by vowing to stick to coal”. (October 2, 2019). Financial Times. https://www.ft.com/content/4578b326-e38f-11e9-9743-db5a370481bc
- Thunberg, Greta (September 23, 2019). “If world leaders choose to fail us, my generation will never forgive them | Greta Thunberg”. The Guardian. Retrieved September 30, 2019. https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/sep/23/world-leaders-generation-climate-breakdown-greta-thunberg
- “Putin Slams Climate Activist Greta Thunberg’s UN Speech” (October 2, 2019). Reuters via The Moscow Times. https://www.themoscowtimes.com/2019/10/02/putin-slams-greta-thunbergs-un-speech-a67562
- “นายกฯ ประยุทธ์ แถลงเป้าอาเซียนบนเวที UN ชู 2 นโยบายหลัก”. (September 24, 2019). ประชาชาติธุรกิจ. https://www.prachachat.net/world-news/news-374356