คำมั่นสัญญาแก้โลกร้อน
ถ้าไม่ Action ย่อมไม่เห็นผลการปฏิบัติจริง

by IGreen Editor

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา สหประชาชาติเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด Climate Action Summit เป็นการชุมนุมของผู้นำโลกที่ควรจะมอบความหวังให้กับชาวโลกว่าเราจะมี “แอคชั่น” ในการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างไรบ้าง

แต่แล้วมันแทบจะไม่แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อนๆ เนื่องจาก Climate Action Summit มีเพียงคำมั่นสัญญา และประเทศมหาอำนาจต่างตั้งแง่ต่อกันว่าใครควรจะแก้ปัญหานี้ก่อน

เรามาสำรวจคำมั่นสัญญาที่ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ไว้ในการประชุมครั้งนี้กันก่อน

ระดับระหว่างประเทศ

  1. มีการก่อตั้งพันธมิตรความมุ่งมั่นปัญหาสภาพอากาศโลก (The Climate Ambition Alliance) นำโดย ชิลี มี 59 ประเทศแสดงความตั้งใจที่จะยกระดับแผนรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศภายในสิ้นปี 2563

พร้อมกับตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือศูนย์ภายในปี 2593 ในส่วนของเป้าหมายหลังไม่ได้มีแค่ 59 ประเทศ แต่ยังมีประเทศอื่น ๆ รวม 65 ประเทศบวกกับสหภาพยุโรปตั้งใจที่จะทำตามเป้านี้ด้วย (1)

  1. พันธมิตรลดการใช้ถ่านหิน หรือ The Powering Past Coal Alliance มีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 30 ประเทศ 22 รัฐหรือภูมิภาค และบริษัท 31 แห่งมุ่งมั่นที่จะหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในปี 2562 และเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว (1)
  2. แพลตฟอร์มการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศ (The Climate Investment Platform) จะพยายามระดมเงินเพื่อนำมาลงทุนพลังงานสะอาดโดยตรง เป็นเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 สำหรับ 20 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (1)

ระดับภูมิภาค

  1. มีความริเริ่มใหม่โดยประเทศอเมริกากลาง ซึ่งตั้งเป้าหมายในปี 2573 ที่จะจัดพื้นที่ 10 ล้านเฮกตาร์ให้เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตที่ยั่งยืน มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยมลพิษไม่น้อยกว่า 40% จากอัตราของปี 2553 (1)
  2. สหภาพยุโรป กล่าวว่า งบประมาณของปีถัดไปอย่างน้อย 25% จะนำไปใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ส่วนฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องให้สหภาพยุโรปลดการปล่อยก๊าซลง 55% ภายในปี 2573 จากอัตราเมื่อปี 2533 หรือเพิ่มขึ้น 40% จากเป้าปัจจุบัน (2)
  3. นอร์เวย์เปิดตัวคณะกรรมการระหว่างประเทศสำหรับเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืนโดยมี 14 ประเทศซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลของโลกประมาณ 30%, ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษของโลก 30% เป็นประเทศที่จับปลาได้ 20% ของโลกและมีการขนส่งทางเรือ 20% ของโลก (2)

ระดับประเทศ

  1. รัสเซียให้สัตยาบันความตกลงปารีส (Paris Agreement) ส่วนฝรั่งเศสสัญญาว่าจะไม่เข้าทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่มีนโยบายต่อต้านความตกลงปารีส
  2. ฟินแลนด์มุ่งมั่นที่จะปล่อยคาร์บอนให้เท่ากับศูนย์ภายในปี 2578 ส่วนเยอรมนี อิตาลี และสโลวาเกีย ตั้งเป้าไว้ในปี 2593 (2)
  3. นิวซีแลนด์มุ่งมั่นที่จะปลูกต้นไม้ 1,000 ล้านต้น ภายในปี 2571 และจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่ยั่งยืนที่สุดในโลก (2)
  4. สวีเดน เกาหลีใต้ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ ประกาศเพิ่มเงินสมทบกองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) เป็นสองเท่า (2)
  5. สหราชอาณาจักรให้คำมั่นที่จะเพิ่มเงินทุนเป็นสองเท่าเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในต่างประเทศมูลค่า 11.6 หมื่นล้านปอนด์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2)
  6. มี 102 เมือง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และมี 2,000 เมือง มุ่งมั่นที่พิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพอากาศให้เป็นแกนหลักในนโยบาย การวางแผน และการลงทุน (2)

ภาคเอกชน

  1. มีภาคธุรกิจ 87 องค์กร มุ่งมั่นที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งในด้านการปฏิบัติงานและห่วงโซ่คุณค่า บริษัทและองค์กรเหล่านี้เช่น Danone, Engie, Ikea, L’Oréal, Nestle และ Sodexo เป็นต้น (2)
  2. บริษัท 19 แห่ง ที่ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ One Planet Business for Biodiversity ให้คำมั่นว่าจะพัฒนาทางออกเพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบปฏิรูป ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและอาหาร และลดการทำลายป่า (2)
  3. ชมรมการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา (IDFC) ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับชาติและระดับภูมิภาค 24 แห่ง ให้คำมั่นที่จะอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สู่โครงการภูมิอากาศภายในปี 2568 (2)

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาระหว่างการประชุมเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้เวทีนี้เป็นที่ตั้งเป้าหมายและคำสัญญาใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกันเวที Climate Action ก็มีเรื่องขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่รุนแรงขึ้นหลังจากที่สหรัฐถอนตัวจากความตกลงปารีส นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งกันเรื่องการลดใช้ถ่านหิน

เริ่มจากจีน ซึ่งแบกรับหน้าที่ผู้นำการปฏิบัติตามความตกลงปารีสหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวไป ในเวลานี้จีนต้องการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำบ้าง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการปล่อยมลพิษมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา จึงมีพันธะที่ต้องรับผิดชอบมากกว่านี้

ในการประชุมครั้งนี้ จีนยังปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเว้นแต่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะลงมือทำด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐไม่ยินยอม (3)

สหภาพยุโรปกล่าวตำหนิโปแลนด์เรื่องการไม่ยอมลงนามลดการใช้ถ่านหิน ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชี้ว่าโปแลนด์คือตัวขัดขวางประเทศเดียว นอกจากนี้ แผนของรัฐบาลในการยกเลิกการทำเหมืองถ่านหินนั้นช้าเกินไป คือตั้งเป้าไว้ในปี 2593 แม้จะช้าขนาดนี้

แต่ที่ปรึกษาด้านพลังงานของโปแลนด์ยืนยันว่าจะเลือกความมั่นคงด้านพลังงาน มากกว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนและการทำตามเป้าของสหภาพยุโรปที่ลงนามลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 (4)

ขณะที่หลายประเทศตั้งเป้าที่จะการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 หรืออย่างเร็วที่สุดคือ 2578 รวมแล้วมี 80  ประเทศ แต่ประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่ปล่อยก๊าซอันดับต้นๆ คือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกาไม่ยอมตั้งเป้า ขณะที่สหภาพยุโรปไม่มีเอกภาพ เพราะแยกกันทำในเรื่องนี้ (3)

ท่ามกลางคำสัญญาที่ไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และความขัดแย้งของนานาประเทศ ความล้มเหลวของการประชุมถูกแย่งความสนใจไปโดย เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาพอากาศโลก ซึ่งกล่าวตำหนิผู้นำโลกอย่างรุนแรงในแถลงการณ์ถึงสมัชชาที่ประชุม Climate Action

เธอกล่าวตอนหนึ่งด้วยอารมณ์อันดุเดือดว่า “ผู้คนกำลังทุกข์ทรมาน ผู้คนกำลังจะตาย ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลายลง เราอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และคุณเอาแต่พูดเรื่องเงินและเทพนิยายของการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่นั่นแหละคุณกล้าดียังไง!” (5)

แต่หลังจากนั้นเกรต้า ธันเบิร์ก ก็ถูกโจมตีจากผู้นำโลกทั้งทางการเมืองและภาคธุรกิจอย่างหนัก รวมถึงประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่บอกว่า “ไม่มีใครอธิบายกับเกรต้าว่าโลกสมัยใหม่นั้นซับซ้อนและแตกต่าง” (6)

ในส่วนของประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศสมาชิกอาเซียน ประกาศเป้าหมายที่สำคัญของอาเซียนในด้านสภาพภูมิอากาศ 2 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านพลังงาน อาเซียนจะลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 23% ภายในปี 2568 และ (2) ด้านการขนส่งทางบก อาเซียนจะลดการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ยของยานพาหนะขนาดเล็กที่จำหน่ายในอาเซียน 26% ระหว่างปี 2558-2568 (7)

อ้างอิง

  1. “In the face of worsening climate crisis, UN Summit delivers new pathways and practical actions to shift global response into higher gear”. (September 23, 2019). United Nations. https://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2019/09/in-the-face-of-worsening-climate-crisis-un-summit-delivers-new-pathways-and-practical-actions-to-shift-global-response-into-higher-gear/
  2. “This is what the world promised at the UN climate action summit”. (October 2, 2019). Climate Home News. https://www.climatechangenews.com/2019/10/02/world-promised-un-climate-action-summit/
  3. Khan, Arshad M. “The Climate Action Summit Fiasco”. (September 30, 2019). Modern Diplomacy. https://moderndiplomacy.eu/2019/09/30/the-climate-action-summit-fiasco/
  4. “Poland defies Brussels by vowing to stick to coal”. (October 2, 2019). Financial Times. https://www.ft.com/content/4578b326-e38f-11e9-9743-db5a370481bc
  5. Thunberg, Greta (September 23, 2019). “If world leaders choose to fail us, my generation will never forgive them | Greta Thunberg”. The Guardian. Retrieved September 30, 2019. https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/sep/23/world-leaders-generation-climate-breakdown-greta-thunberg
  6. “Putin Slams Climate Activist Greta Thunberg’s UN Speech” (October 2, 2019). Reuters via The Moscow Times. https://www.themoscowtimes.com/2019/10/02/putin-slams-greta-thunbergs-un-speech-a67562
  7. “นายกฯ ประยุทธ์ แถลงเป้าอาเซียนบนเวที UN ชู 2 นโยบายหลัก”. (September 24, 2019). ประชาชาติธุรกิจ. https://www.prachachat.net/world-news/news-374356

Copyright @2021 – All Right Reserved.