หนาว ยังไม่หมด 13 ม.ค. เตรียมตัว หนาวสุดขั้ว หนาวที่สุด และหนาวสุดท้าย ของปี 2568 จากปรากฎการณ์ “ลานีญา” เป็นส่วนสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ สภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งลมแรง และหนาวแรงจะมาเป็นรอบที่ 2 ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคม 2568 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง ได้ปกคลุมประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 5-7 ℃ นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนให้พร้อมรับมือกับอากาศหนาว
สอดรับกับที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ทั้งลมแรง และหนาวแรง จะมาเป็นรอบที่ 2 ระหว่าง 11-14 มกราคม (วันที่ 13 มกราคม จะหนาวที่สุด) และจะเป็นหนาวที่สุด และหนาวสุดท้ายของปีนี้ อุณหภูมิจะลดลง 2-3 ℃ ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน (อุณหภูมิต่ำสุดในพื้นราบต่ำกว่า 12 ℃ พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำปางจะหนาวสุดๆ) ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล (อุณหภูมิต่ำสุดในพื้นราบต่ำกว่า 16 ℃)
ความหนาวเย็นเกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี ปรากฏการณ์ La Nina (ลานีญา) มีระดับรุนแรงสุดเดือนมกราคม 2568 เป็นส่วนสำคัญ ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนจากความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่แผ่ลงมาเป็นช่วงๆ (จากโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นช่วงๆ เช่นกัน หลังจากนั้น อุณหภูมิจะค่อยๆอุ่นขึ้น ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมนี้ เนื่องจากช่วงวันดังกล่าว ความหนาวเย็นจะมาพร้อมลมในระดับรุนแรงมากกว่า 70%
อากาศหนาวนาน ปี 2568: จากปรากฏการณ์ลานีญา
ในปี 2568 ประเทศไทยได้เผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นและยาวนานกว่าปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่ได้มีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลานีญา คืออะไร
ลานีญาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่เรียกว่า ENSO (El Niño-Southern Oscillation) ตรงข้ามกับเอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น ลานีญาจะทำให้น้ำทะเลเย็นลงในบริเวณแปซิฟิกตะวันออกและกลาง ซึ่งมีผลต่อการกระจายตัวของสภาพอากาศทั่วโลก ลักษณะสำคัญของลานีญา คือ:
- อุณหภูมิน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ
น้ำทะเลในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและกลางจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ทำให้ส่วนนี้ของมหาสมุทรเย็นลง
- การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ลานีญามักจะทำให้เกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ เช่น ออสเตรเลีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงประเทศไทย), อินโดนีเซีย, และส่วนหนึ่งของอเมริกากลางและใต้ นำไปสู่ความเสี่ยงน้ำท่วม ดินถล่ม และพายุฝนฟ้าคะนอง ในขณะที่บางพื้นที่อาจประสบกับภาวะแห้งแล้ง เช่น ตะวันตกของสหรัฐอเมริกา, ภาคใต้ของอเมริกาใต้, และบางส่วนของแอฟริกาตะวันออก
- พายุเฮอร์ริเคน
มีแนวโน้มที่จะมีพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกมากขึ้น แต่ลดลงในแปซิฟิกตะวันออก
ลานีญาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่ส่งผลต่อสภาพอากาศทั่วโลก โดยรอบการเกิดมักจะเป็นทุกๆ 2-7 ปี แต่ไม่มีความแน่นอนในการเกิดและความรุนแรงของแต่ละครั้ง ลานีญามักจะเกิดขึ้นหลังจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และสามารถส่งผลต่อการเกษตร, ระบบนิเวศ, การประมง, และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ผลกระทบของลานีญาต่อประเทศไทย
ในปี 2568 ปรากฏการณ์ลานีญาได้ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นยาวนานกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นปี ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลาง ได้ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดในเวลากลางคืนและตอนเช้า ส่วนภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานคร ก็มีอากาศเย็นลงเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ลานีญาจะทำให้ปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้อุณหภูมิโดยรวมลดลงอีก แต่ทว่าจะมีช่วงเวลาที่อากาศอบอุ่นขึ้นในระหว่างเดือนด้วย
รศ.ดร.เสรี เตือนให้เกษตรกรรับมือ เนื่องจากช่วงวันดังกล่าว ความหนาวเย็นจะมาพร้อมลมในระดับรุนแรงมากกว่า 70% เกษตรกรไม้ผล จึงควรเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบด้วย ส่วนภาพรวมปริมาณฝนในปี 2568 คาดการณ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ฝนจะมาเร็วในช่วงต้นฝน (พฤษภาคม) และมีแนวโน้มจะทิ้งช่วงกลางฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม) สภาพอากาศจะร้อนผิดปกติ และจะมีบางพื้นที่ที่ฝนจะน้อย (ภาคเหนือ และภาคอีสานบน) สำหรับปลายฝน (กันยายน-พฤศจิกายน) ภาคใต้จะมีฝนมากกว่าปกติ พายุจรต้องจับตาเส้นทางที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดน้ำไหลหลากซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ระยะยาวได้
สถานการณ์จากนี้ต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้า สภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากผลพวงของการใช้พลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นต่อเนื่อง การคาดการณ์โดย IPCC (Intergovermental Panel on Climate Change) พบว่า โลกจะเจอกับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถาวร 1.5 ℃ ก่อนปี 2576 ประกอบกับการคาดการณ์โดย AI มีแนวโน้มสภาพอากาศแปรปรวนสูง การประเมินความเสี่ยงในรายละเอียดเฉพาะพื้นที่จากสภาพอากาศรุนแรงในประเทศไทยจึงมีความจำเป็น เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายทางธุรกิจ และชุมชนได้
อ้างอิง :